ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เพลงเพื่อชีวิต” เปลี่ยนแปลง แต่ไม่เปลี่ยนไป


Lifestyle

11 พ.ค. 68

อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

Logo Thai PBS
แชร์

“เพลงเพื่อชีวิต” เปลี่ยนแปลง แต่ไม่เปลี่ยนไป

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2662

“เพลงเพื่อชีวิต” เปลี่ยนแปลง แต่ไม่เปลี่ยนไป
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

“เพลงเพื่อชีวิต” คำนี้สำหรับคุณคือเพลงแบบไหน พูดถึงเรื่องอะไร แล้วเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เมื่อเพลงเพื่อชีวิต ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ทุกคนคิดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดไหนบ้าง ?

บทความตอนนี้ขอชวนทุกคนไปติดตามแนวคิด รวมไปถึงมุมมองจากศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกอย่าง “หงา คาราวาน” ตามด้วย “สีเผือก คนด่านเกวียน” และศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่อย่าง “หมู ไววิทย์” 

ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต 2 รุ่น 3 ชีวิตนี้ ได้มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยกับเพลงเพื่อชีวิตเอาไว้ในรายการนักผจญเพลง Replay ได้อย่างน่าสนใจ

เพลงเพื่อชีวิต ถือเป็นอีกหนึ่งแนวดนตรีในบ้านเรา ที่ได้ยินได้ฟังกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งการเดินทางของเพลงเพื่อชีวิต มีการเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของเนื้อเพลง การสื่อสารความหมาย หรือแม้แต่เมโลดี ท่วงทำนอง 

ซึ่งในยุคแรก ๆ ของเพลงเพื่อชีวิต ตัวแทนศิลปินอย่าง “หงา คาราวาน” คนเพื่อชีวิตยุคบุกเบิกได้แชร์มุมมองเอาไว้ว่า ในยุคของตนนั้น เพลงเพื่อชีวิต เป็นการบอกเล่าเรื่องราวในยุคของเกษตรกรรม ชาวนา กรรมกร อาศัยเรื่องราวของผู้คนชนชั้นรากหญ้า เพื่อปฏิวัติสังคม โดยถูกบอกเล่าผ่านเสียงเพลง ซึ่งคำว่า เพลงเพื่อชีวิต คือศิลปะเพื่อชีวิตและประชาชนโดยแท้จริงตั้งแต่เริ่มต้น เพลงเพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ ต้องมีเนื้อหาสาระเพื่อดำรงสังคมไม่มากก็น้อย สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง 

ต่อกันที่มุมมองของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอย่าง “สีเผือก คนด่านเกวียน” ได้แชร์มุมมองเพลงเพื่อชีวิตในยุคไล่เลี่ยกันกับ หงา คาราวาน เอาไว้ว่า ในยุคของตนนั้น เพลงเพื่อชีวิต เริ่มเป็นยุคของอุตสาหกรรม ยุคของโรงงาน แต่เรื่องราวยังคงถูกบอกเล่าถึงการต่อสู้ของชีวิต แต่ท่วงทำนองจะมีความสนุกสนานมากขึ้น มีความเป็นดนตรีแนวสามช่า แต่การสื่อสารเรื่องราวผ่านบทเพลง ยังคงเป็นการสะท้อนบริบทสังคมโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ เพื่อพัฒนาให้สังคมดียิ่งขึ้น

ต่อกันที่มุมมองจากศิลปินเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่อย่าง “หมู ไววิทย์” ได้แชร์มุมมองที่มีต่อเพลงเพื่อชีวิตเอาไว้ว่า คำว่าเพื่อชีวิต คือการรับผิดชอบชีวิตของเรา ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม นอกจากจะรักษาตัวเองให้ดี เรายังสามารถรักษาผู้อื่นได้อีกด้วย และสังคมยังได้รับการรักษาด้วยเช่นกัน 

ซึ่งสิ่งนั้นจะถูกส่งต่อผ่านบทเพลง ที่ถูกสร้างขึ้นมา เนื้อหาของเพลงจะยังคงพูดถึงเรื่องปากท้อง เรื่องของความยากจน ความลำบาก เรื่องราวของชีวิตที่ยังคงต้องต่อสู้และดิ้นรน เนื่องจากคนเรามีความหวัง ความฝัน และสิ่งเหล่านั้นทำให้เกิดความทะเยอทะยาน สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของบทเพลง เป็นภาษา เป็นท่วงทำนองออกมาได้



แม้ว่าจะมาจากต่างยุคสมัย แต่สิ่งที่ศิลปินเพื่อชีวิตทั้ง 3 คน มีเหมือนกัน นั่นคือ ใจที่รักในเพลงเพื่อชีวิต ซึ่ง หงา คาราวาน ให้มุมมองเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่เอาไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นมีตามยุคสมัย ซึ่งงานเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่ จะมีเสียงดนตรีที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น มีเสียงดนตรีใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา อาจไปทางร็อกหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น ดนตรีแนวหวานซึ้ง ความนุ่มนวลจะลดน้อยลง แต่เนื้อเพลงก็ยังคงความเป็นเพื่อชีวิตอยู่ ไม่ได้จำกัดแนวดนตรี แม้จะเป็นสามช่า หมอลำ รำวง ก็นับว่าเป็นเพื่อชีวิตได้ทั้งสิ้น

สีเผือก คนด่านเกวียนก็ไดให้มุมมองความเปลี่ยนแปลงของเพลงเพื่อชีวิตเช่นกันว่า ในยุคสมัยนี้เพลงเพื่อชีวิตเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ดนตรีมีความรุนแรงขึ้น หนักแน่นมากขึ้น ใช้ Sound Effect มากยิ่งขึ้น ทำนองเพลงจะออกไปทางแนวดนตรีร็อก 

ซึ่ง หมู ไววิทย์ ก็มาตอกย้ำแนวคิดนั้นว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่ได้ยึดติดในแนวดนตรีใดแนวดนตรีหนึ่ง เพราะในผลงานเพลงเพื่อชีวิตของเขานั้น ได้นำเอาดนตรีร่วมสมัยเข้ามาใช้กับงานเพลงของตัวเองเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่แนวดนตรี Blues เรียกได้ว่ามีการใช้แนวดนตรีที่หลากหลาย 

ทุกวันนี้ แนวดนตรีเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ทางเลือกในการเสพเพลงของคนฟัง รวมไปถึงทางเลือกของคนทำเพลง มีมากขึ้นเช่นกัน ทำให้เพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบัน มีการผสมผสานแนวดนตรีที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นจุดเชื่อมโยงของเพลงเพื่อชีวิตในแต่ละยุคสมัย ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไป นั่นก็คือ ภาษา และการสื่อสารความหมายของเนื้อเพลง ที่ยังคงเป็นเรื่องราวที่สะท้อนสังคมอยู่ เพราะความหมายของคำว่าเพื่อชีวิต ก็คือ “ชีวิต” นั่นเอง

การรวมตัวเพื่อมาถ่ายทอดเรื่องราวของเพลงเพื่อชีวิตในแต่ละยุคสมัยของศิลปินทั้ง 3 ชีวิตอย่าง “หงา คาราวาน”, “สีเผือก คนด่านเกวียน” และ “หมู ไววิทย์” นับว่าเป็นเรื่องราวที่น่าติดตามสำหรับสาวกเพลงเพื่อชีวิต ที่จะได้ฟังมุมมองอีกมากมายของการเดินทางในเพลงเพื่อชีวิตแต่ละยุคสมัย 

สามารถติดตามได้ในรายการนักผจญเพลง Replay ผ่านทางเว็บไซต์ กับตอนที่มีชื่อว่า “เพื่อชีวิต จากรุ่นสู่รุ่น”

ติดตามชมรายการ "นักผจญเพลง Replay" ได้ทุกวันเสาร์ 21.30 น. ทาง #ThaiPBS #ช่องหมายเลข3 หรือชมสดทาง https://www.thaipbs.or.th/live 
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพลงเพื่อชีวิตศิลปินเพลงเพื่อชีวิตหงา คาราวานสีเผือก คนด่านเกวียนหมู ไววิทย์รายการนักผจญเพลง Replayคอลัมน์ เพลงหน้า A by นักผจญเพลง
อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์
ผู้เขียน: อนุรักษ์ ภูมิทรัพย์

ผู้ดำเนินรายการ นักผจญเพลง REPLAY รายการเพลงที่มากกว่าเรื่องราวของเพลง แต่บอกเล่าเรื่องราวของดนตรีในมุมที่แตกต่าง สร้างแรงบันดาลใจในชีวิตประจำวันได้

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด