แทบกลายเป็นเรื่องปกติของการไถฟีดบนโซเชียลมีเดียในแต่ละวันไปแล้ว ที่เราจะได้พบโพสต์แสดงความท้อแท้เหนื่อยหน่ายหมดกำลังใจของคน Gen Z ลงมา ตามมาติด ๆ ด้วยโพสต์บ่นรำคาญชิงชังสั่งสอนอาการท้อแท้เหล่านั้นจากคน Gen Y ขึ้นไป แน่นอนว่าในแง่หนึ่งมันสะท้อนช่องว่างระหว่างวัยซึ่งเป็นปัญหาของคนต่างยุคในทุกสมัย แต่ในอีกแง่ ปรากฏการณ์นี้ก็สะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัญหาจิตเวชในกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นประเด็นที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ และเป็นเรื่องที่เรา -ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด- จำเป็นต้องใส่ใจอย่างจริงจัง
Like the Others เป็นสารคดีออสเตรียที่ผู้กำกับ คอนสแตนติน วุล์ฟ พยายามบอกเล่าปรากฏการณ์นี้ให้เราเห็น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เขาเลือกเล่าด้วยวิธีแบบ Direct Cinema หรือสารคดีที่ตัวคนทำเฝ้าสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาละเอียดอ่อน แต่ปราศจากการเสริมแต่งอารมณ์แบบเกินจริงและไม่เอาตัวเองเข้าไปแทรกแซงหรือชี้นำ ตลอดทั้งเรื่องไม่


มีการสัมภาษณ์เด็ก ๆ ผู้ป่วย หมอ พยาบาล พ่อแม่ หรือเจ้าหน้าที่คนใด เราเพียงได้เห็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีทั้งการปะทะ แลกเปลี่ยน ขัดแย้ง และสนับสนุนซึ่งกันและกันภายในสถาบันจิตเวชแห่งหนึ่งนอกกรุงเวียนนา ซึ่งในที่สุดแล้วอาจช่วยให้เราเกิดความเข้าใจทุกคนที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้มากขึ้น
แรงบันดาลใจของวุล์ฟมาจากการที่เขาพบว่า สังคมยังมีภาพจำเกี่ยวกับสถาบันจิตเวชคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงมาก คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามันต้องเป็นที่ที่ล้าสมัย กำแพงสูง ๆ ประตูเหล็กหนา ๆ หน้าต่างติดลูกกรง หมอกับพยาบาลในชุดเสื้อกาวน์สีขาวเดินไปเดินมาทำหน้าเคร่งขรึม บรรยากาศเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เขาจึงลงทุนใช้เวลากว่าหนึ่งปีเข้าไปเจรจาและสร้างความไว้วางใจกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้บริหารคลินิก บุคลากรทางการแพทย์ เด็กและเยาวชนที่รับการรักษา รวมถึงผู้ปกครอง โดยจุดยืนหลักของเขาก็คือ จะนำเสนอภาพการทำงานของสถาบันและกระบวนการรักษาโดยไม่ปกปิดความจริง และไม่มุ่งขายความตื่นเต้นเร้าใจผิวเผิน แต่คอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและนำเสนอความเป็นจริงให้มากที่สุด
นอกจากหนังจะทำให้เราได้เห็นสภาพของสถาบันจิตเวชแห่งนี้ซึ่งทั้งเปิดกว้าง สว่าง ดูโปร่งใสน่าเชื่อถือ แต่ในเวลาเดียวกันก็ดูมีความเย็นชาห่างเหินตามสไตล์โรงพยาบาลแล้ว หนังยังเต็มไปด้วยฉากสำคัญ ๆ คือการสนทนาระหว่างผู้ป่วยที่มีทั้งเด็กและวัยรุ่นกับแพทย์ผู้รักษา ซึ่งเราจะสัมผัสได้ว่าทั้งสองฝ่ายต้องใช้ความอดทนพยายามขนาดไหนในการทำความเข้าใจกันและกัน บางครั้งผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในสภาพที่ต้องการให้ความร่วมมือซึ่งก็จะส่งผลให้การรักษาดูเหมือนแทบไม่ก้าวหน้า แต่ในบางเวลาผู้ป่วยก็ปรารถนาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานนี้เสียที และแพทย์ก็พร้อมเต็มที่ที่จะต่อสู้เคียงข้างพวกเขา
ไม่เพียงเท่านั้น หนังยังมีฉากที่หาดูได้ยากอย่างฉากการประชุมงานของบุคลากร ซึ่งเปิดเผยอย่างไม่กลัวกล้องกันเลยว่าพวกเขาก็เหนื่อยล้า และโกรธเคืองได้กับทุกอย่าง ตั้งแต่กับคนไข้ กับความผิดพลาดของเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงกับสถานการณ์ย่ำแย่ทางการเงินซึ่งเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายกำลังใจได้ไม่น้อย


จอร์เจีย เดล ดอน เขียนวิจารณ์ไว้ในเว็บไซต์ Cineuropa.org ว่า มีหนังมากมายชอบนำเสนอภาพเยาวชนผู้ป่วยทางจิตว่าน่ากลัว เป็นอันตราย หรือไม่ก็ชอบบอกเป็นนัยว่าโลกทั้งใบก็เป็นบ้าเหมือนกัน แต่สารคดีเรื่องนี้ไม่มีภาพเหมารวมแบบนั้น ตรงกันข้าม หนังดำเนินเรื่องแบบเรียบ ๆ เงียบ ๆ เพราะความเงียบคือสิ่งที่มีตัวตนอยู่จริงในสถาบันจิตเวช และความเงียบนี้ก็ทั้งสร้างความกดดัน และทั้งทำให้เราเกิดความรู้สึกเข้าถึงจิตใจของเด็ก ๆ “ผู้ซึ่งถูกความเศร้าที่ไม่อาจบรรยายได้บีบบังคับให้ต้องเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เร็วเกินไป"
ภายใต้ท่าทีบอกเล่าแบบนี้ Like the Others เชิญชวนให้เรามองคนตรงหน้าด้วยความเห็นใจ และเคารพในความพยายามของทุกคนที่จะช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ให้ก้าวผ่านความท้าทายทางจิตใจไปให้ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่ "คนอื่น” แต่ล้วนคือมนุษย์ปุถุชนผู้กำลังพยายามค้นหาที่ทางของตนในโลกอันซับซ้อนและบางครั้งก็แสนจะโหดร้ายใบนี้
▶ ติดตามสารคดี Like the Others สารคดีเรื่องนี้พาเราเข้าไปสัมผัสชีวิตประจำวันภายในศูนย์จิตเวชเด็กและวัยรุ่นของประเทศออสเตรียอย่างลึกซึ้ง เราจะได้พบกับนักบำบัดที่ทุ่มเท ผู้ปกครอง และผู้ป่วยที่มีปัญหาหลากหลาย แต่พวกเขาล้วนเชื่อมโยงกันด้วยความปรารถนาที่จะรู้สึก "เหมือนคนอื่น ๆ"
รับชมได้ทาง www.VIPA.me หรือ VIPA Application