พาไปรู้จัก “ยีน ARHGAP36” คำตอบของคำถามอะไรที่ทำให้การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมของ “แมว” กลายเป็นแมวที่มีสีส้มได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดน่าสนใจอย่างไร “ทาสแมว” ไม่ควรพลาด !
งานวิจัย 2 ชิ้น เผยแพร่พร้อม ๆ กันบนวารสาร Current Biology โดย Hiroyuki Sasaki ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคิวชู (Kyushu University) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ร่วมศึกษาทั้งคู่ (อีกงานวิจัยศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด : Stanford University) เผยว่า สามารถระบุได้แล้วว่า ยีนและการกลายพันธุ์อย่างไรที่ทำให้เกิด “แมวสีส้ม”
โดยงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นวิเคราะห์ดีเอ็นเอของแมวสีส้มและแมวที่ไม่ใช่สีส้ม เพื่อค้นหาการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม (สายพันธุ์) ที่แมวสีส้มเท่านั้นที่มีร่วมกัน หลังจากคัดแยกสายพันธุ์อื่น ๆ ออกไปแล้ว ในที่สุดทีมวิจัยก็พบคำตอบ นั่นก็คือ การลบโครโมโซม X ของแมวแม้เพียงเล็กน้อยจะทำให้ยีน ARHGAP36 ทำงานเปลี่ยนไป-เพิ่มขึ้นจนสร้างขน “แมวส้ม” ที่เราเห็น ๆ กัน
Christopher Kaelin นักวิทยาศาสตร์อาวุโสด้านพันธุศาสตร์ Stanford Medicine กล่าวว่า การค้นพบว่า ยีนARHGAP36 มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำให้บรรดานักวิจัยประหลาดใจมาก เนื่องจากเซลล์เม็ดสีของหนู เซลล์เม็ดสีของมนุษย์ หรือเซลล์เม็ดสีของแมว ที่ไม่ใช่สีส้มจะไม่มีการแสดงออก (การกลายพันธุ์ใน “แมวส้ม” เหมือนจะไปกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกของยีน ARHGAP36 ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดสีชนิดหนึ่ง ที่ปกติแล้วจะไม่แสดงออก) ทำให้เราถึงบางอ้อว่า แมวเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมไปมีขนสีส้มได้อย่างไร
ขั้นตอนต่อไปสำหรับ Sasaki และทีมวิจัย ก็คือการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟังก์ชันของยีน ARHGAP36 ในระดับโมเลกุล ซึ่งจะมีประโยชน์ไม่เพียงแต่สำหรับการทำความเข้าใจ “แมว” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงมนุษย์ด้วย เนื่องจากเราก็มียีนนี้อยู่ด้วยเช่นกัน
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech