บรรดาย่านเก่าแก่ในกรุงเทพมหานคร “เขตพระนคร” ถือเป็นย่านเก่าอายุราว 200 ปีที่ยังคงกลิ่นอายความคลาสสิกของเมืองเก่า และเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่รอให้คุณได้สัมผัสและเรียนรู้ Thai PBS จึงรวบรวม แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ในย่านนี้ที่ไม่ควรพลาด จะมีที่ใดบ้าง ติดตามไปพร้อมกันเลย
แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งอยู่บนถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และยังนับเป็น “พิพิธภัณฑ์สำหรับประชาชนแห่งแรกของประเทศไทย” อีกด้วย
ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์เหมือนทุกวันนี้ ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของ “พระราชวังบวรสถานมงคล” หรือ “วังหน้า” สถานที่ประทับของผู้มีตำแหน่งองค์รัชทายาทและผู้ที่มีสิทธิขึ้นครองราชสมบัติ ก่อนจะปรับปรุงและเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ในฐานะพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทย
ด้วยความหลังที่เชื่อมโยงกับราชสำนักมาอย่างยาวนาน ทำให้จุดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่หาชมได้ยากไว้มากมาย อาทิ
• พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปโบราณ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
• พระพิฆเนศปางชนะมารประทับหัวกะโหลก พระพิฆเนศรูปแบบศิลปะชวาตะวันออก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16
• ปลาหลี่กระโดดข้ามประตูมังกร ภาพจิตรกรรมศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3
แหล่งเรียนรู้ มิวเซียมสยาม
มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ตั้งอยู่บนถนนสนามไชย เขตพระนคร พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดดเด่นด้วยอาคารสีเหลืองสดใสและ สถาปัตยกรรมสไตล์อิตาเลียน-เรอเนซองส์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทยที่มีแนวคิดการจัดแสดง ที่เน้นปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม (Interactive) และการเล่าเรื่อง (Narrative) ผ่านเทคโนโลยีและสื่อดิจิทัล เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ที่มากกว่าแค่การจัดแสดงวัตถุโบราณเพียงอย่างเดียว
มิวเซียมสยาม แหล่งเรียนรู้ ยังขึ้นชื่อเรื่องความโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมตะวันตก ออกแบบโดย มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ออกแบบอาคารสำคัญหลายแห่งในไทย ซึ่งแต่เดิมอาคารแห่งนี้เคยถูกใช้เป็น “กระทรวงพาณิชย์” ก่อนจะได้รับการปรับปรุงและเปิดให้ผู้คนเข้าชมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550
จุดเด่นที่ห้ามพลาดสำหรับแหล่งเรียนรู้ มิวเซียมสยาม คือนิทรรศการถาวร ภายใต้ชื่อ “เรียงความประเทศไทย” ที่จัดแสดงเกี่ยวกับพัฒนาการความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรม ประเพณี เครื่องแต่งกาย อาหาร ฯลฯ
แหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์เจ้าฟ้า
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ หอศิลป์เจ้าฟ้า (The National Gallery) ตั้งอยู่ข้างสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนเจ้าฟ้า เป็นแหล่งเรียนรู้ที่รวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย และศิลปะสมัยสุโขทัยซึ่งคนรักศิลปะไม่ควรพลาด
ภายในจัดแสดงงานศิลปะไว้หลากหลายแขนง ทั้งงานจิตรกรรมและประติมากรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เพราะในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของ “โรงกษาปณ์สิทธิการ” ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหรียญกษาปณ์แห่งแรกของไทย ความพิเศษอยู่ที่ตัวอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก (Neo-classicism) ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโรงงานเครื่องจักรในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
แหล่งเรียนรู้ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์
อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์
ความแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์แห่งอื่น ๆ อยู่ที่การจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นสื่อดิจิทัล หุ่นจำลอง หรือสื่อเสมือนจริง
ภายในแบ่งออกเป็น 9 ห้อง นำเสนอตั้งแต่ เริ่มก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ สถาปัตยกรรม ประเพณี หรือพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ซึ่งหาชมได้ยาก
แหล่งเรียนรู้ พิพิธบางลำพู
พิพิธบางลำพู อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูมากนัก แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้โดดเด่นในการนำเสนอเรื่องราวและวิถีชีวิตของชุมชนบางลำพู ย่านเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์
อาคารที่ตั้งของแหล่งเรียนรู้ พิพิธบางลำพู มีอายุยาวนานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมเคยเป็นที่ตั้งของ “โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช” ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาเป็น “โรงพิมพ์คุรุสภา” หน่วยงานของรัฐที่ดูแลและจัดพิมพ์แบบเรียน
เมื่อหมดสัญญาเช่า ในปี พ.ศ. 2555 โรงพิมพ์แห่งนี้จึงได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของชุมชนในย่านนี้
ภายในจะได้เรียนรู้เรื่องราวของย่านบางลำพูตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบันในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม ที่หล่อหลอมให้กลายมาเป็นย่านบางลำพูแห่งนี้
แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในย่านพระนคร ที่กล่าวมานี้ ทุกที่ล้วนมีเสน่ห์และเรื่องราวที่น่าสนใจ ลองออกไปสัมผัสและเรียนรู้จากประสบการณ์จริงด้วยตัวเองดูสิ ประสบการณ์เหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความเข้าใจและมุมมองใหม่ที่กว้างกว่าบนหน้าจอ
หากคุณต้องการเรียนรู้เรื่องราวของผู้คน, วิถีชีวิตตามแม่น้ำลำคลอง, ถนน, ย่าน และชุมชนต่าง ๆ จากอดีตสู่ปัจจุบัน ติดตามได้ในสารคดี “จากรากสู่เรา”
รับชมทาง www.thaipbs.or.th/JakRakSuRao และ VIPA.me
อ้างอิง
คอลัมน์ต่อยอด l เสริมความคิด ต่อยอดความรู้ สื่อสารความเข้าใจ โดย ศูนย์สื่อสารและส่งเสริมการตลาดเพื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส (CCM)