ย้อนกลับไปเมื่อ 21 ปีที่ผ่านมา 3 กรกฎาคม 2547 เป็นวันที่รถไฟฟ้ามหานคร หรือที่เรามักเรียกกันอย่างติดปากว่ารถไฟฟ้าใต้ดินเปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการ ต่อยอดการเดินในเมืองหลวงจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เปิดให้บริการในปี 2542 ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นโครงการรถไฟฟ้าหลากสีสันก็ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามแผนนโยบายสร้างความเจริญของภาครัฐในแต่ละยุคสมัย แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ความสะดวกสบายจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับรถไฟฟ้าที่ประชาชนยังคงต้องการคำตอบ เพื่อให้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง
รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ อีก 5 ปี จะเป็นเช่นไร
อันดับแรกเราลองมาอัปเดตภาพรวมของรถไฟฟ้า ณ เวลานี้ที่โครงข่ายรถไฟฟ้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมืองไปแล้ว มาดูกันว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี พ.ศ. 2573 กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกำลังจะมีรถไฟฟ้าสายใดสีไหนเพิ่มเติมขึ้นมาบ้างและส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันจะขยายไปในทิศทางไหน ภาพรวมของรถไฟฟ้าในอนาคตมีดังต่อไปนี้
1. รถไฟฟ้าสายสีส้ม เชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตก
รถไฟฟ้าสายสีส้มถือได้ว่าเป็นสายน้องใหม่ ยังไม่เคยเปิดให้บริการมาก่อน แต่ถ้าแล้วเสร็จ 100% เปิดให้บริการขึ้นมาเมื่อใด ก็อาจเรียกได้ว่าเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางไปเลยก็ว่าได้ เพราะนี่จะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งในแนวตะวันออก-ตะวันตก ผ่านพื้นที่สำคัญใจกลางเมืองตั้งแต่ มีนบุรี - บางขุนนนท์ โดยมีสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในฝั่งตะวันออกระหว่างสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ - สถานีมีนบุรี ก่อนฝั่งตะวันออก เพราะงานก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องการประมูลหาผู้เดินรถจึงทำให้เกิดความล่าช้า (ปัจจุบันได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว)
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ เชื่อมโยงกรุงเทพฯ ฝั่งเหนือและฝั่งใต้
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้คือรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายจากสายสีม่วงปกติที่วิ่งระหว่างสถานีคลองบางไผ่ - สถานีเตาปูน เป็นการต่อขยายลงมาทางตอนใต้วิ่งต่อเนื่องจากสถานีเตาปูนไปสุดที่สถานีครุใน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางข้ามจากฝั่งพระนครไปสู่ฝั่งธนบุรีตอนใต้ ช่วยบรรเทาการจราจรที่หนาแน่นเพราะยังไม่มีรถไฟฟ้าเข้าถึงในย่าน สำเหร่ ดาวคะนอง สุขสวัสดิ์ ราษฎร์บูรณะ เป็นอีกหนึ่งโปรเจคที่มีความคาดหวังสูงไม่แพ้โปรเจครถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งหมดนี้คาดการณ์จะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในปี 2571
3.รถไฟฟ้าสายสีแดง เชื่อมโยงกรุงเทพฯ และชานเมือง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการในปี 2564 ที่ผ่านมา เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างสถานีบางซื่อ - สถานีรังสิต สานฝันโครงการโฮปเวลล์ให้เกิดขึ้นได้จริงหลังจากปิดโครงการด้วยการถูกฟ้องร้องจากภาคเอกชน ซึ่งในอนาคตสายสีแดงจะมีส่วนต่อขยายออกไปอีกหลายทิศทางเชื่อมโยงกรุงเทพฯ และชานเมืองเข้ากัน เช่น ทางทิศเหนือจากรังสิต ไปยัง ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และทอดยาวต่อไปยัง อ. ภาชี จ. พระนครศรีอยุธยา ส่วนทางทิศใต้จากสถานีกลางบางซื่อ ไปยัง หัวลำโพง และต่อขยายไปถึงมหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นบางส่วนภายในปี 2572
อนาคตของค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะยืนระยะได้นานแค่ไหน
แม้ความสะดวกในการเดินทางจะมีเพิ่มมากขึ้นจากแผนการเดินรถไฟฟ้าในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้บริการตั้งคำถามเสมอมาก็คือ ราคาค่าเดินทางที่ค่อนข้างสูงกว่าค่าครองชีพ ระบบขนส่งสารณะไม่ควรจะแพงขนาดนี้ ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(รถไฟฟ้าใต้ดิน) อัตราค่าโดยสารปกติเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 45 บาท, รถไฟฟ้าสายสีเขียว(รถไฟฟ้าบีทีเอส) อัตราค่าโดยสารปกติเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 62 บาท เมื่อลองนำตัวเลขนี้ไปเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน หรืออัตราเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 13,000/เดือน จะเห็นได้ว่าการเดินทางไปกลับด้วยรถไฟฟ้าทุกวันจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นอย่างมาก การเดินทางไป-กลับในแต่ละวันสำหรับบางคนอาจสูงถึง 100-150 บาท ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้ง ยิ่งถ้าต้องเดินทางหลายต่อ ผ่านผู้ให้บริการหลายเจ้า ค่าเดินทางก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เพราะเหตุนี้เองทำให้จำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบางสายไปไม่ถึงตามเป้าตามที่ได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในแถบชานเมืองที่มีผู้โดยสารยอมนั่งเมล์ รถตู้ เข้ามาในตัวเมืองมากกว่าใช้บริการรถไฟฟ้าที่มีราคาสูงกว่า
ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นที่มาส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โครงการลดค่าโดยสารที่กำลังจะเริ่มต้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยค่าโดยสารที่หายให้กับภาคเอกชน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเงินชดเชยดังกล่าวมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,000 - 10,000 ล้านบาท/ปี เลยทีเดียว
โดยคำถามถัดมาก็คือรัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรกับเงินชดเชยตรงนี้ ซึ่งทางออกที่ได้รับการเปิดเผยมาในก็คือ การจัดตั้งกองทุนภายใต้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม และนำเงินรายได้จากกำไรของ รฟม.จำนวน 1.6 หมื่นล้าน เข้ามายังกองทุนตั๋วร่วม เพื่อชดเชยรายได้เอกชนในช่วง 2 ปีแรก โดยเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้นโครงรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเป็นแค่โครงการชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว ตัวแปรน่าจะอยู่ที่การจัดการกับเงินชดเชย ในจุดนี้ขอให้ติดตามกันให้ดี ว่าจะจัดการในรูปแบบใด
ส่วนต่อขยาย ห่างไกลชุมชน
จากแผนการส่วนต่อขยายในอนาคตเราจะเห็นได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าจะกระจายตัวสู่ชานเมืองรอบกรุงเทพมากขึ้นไม่ว่าจะเป็น เขตมีนบุรี เขตราษฎร์บูรณะ อำเภอภาชี ตำบลมหาชัย เรียกได้ว่าไปทั่วครบทุกทิศทางเหนือใต้ออกตก แต่ข้อกังวลที่ตามมาก็คือบริเวณที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้านั้นอาจไม่ตอบโจทย์การเดินทางของคนในชุมชน เพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลชุมชนมากเกินไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ให้บริการระหว่างสถานีบางชื่อ - รังสิต มีผู้ใช้บริการบางตามากกว่าที่คาดการณ์ กรณีนี้ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ให้เหตุผลไว้อย่างน่าสนใจว่า
รถไฟฟ้าสายสีแดง สร้างบนเขตหรือทางรถไฟเก่าระดับเป็นร้อยปี และในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา บริการรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ชานเมืองขาดการสนับสนุน ทั้งการเดินรถก็จำกัด รถไฟก็เก่า การพัฒนาเมืองจึงหนีออกห่างจากทางรถไฟไปใกล้ถนนใหญ่ เพราะถนนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายกว่า เรียกได้ว่า สถานีไม่ได้หนีชุมชน แต่ชุมชนหนีทางรถไฟ นี่คือเหตุผลที่รถไฟสายสีแดงคนใช้น้อย
จากคำกล่าวของอาจารย์จะเห็นได้ว่าความเป็นชุมชนรอบสถานีมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากต่อการใช้บริการ ถ้าพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าถึงก็เป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะยังคงมีตัวเลือกการให้บริการในรูปแบบอื่น ๆ ที่ผู้ใช้บริการเลือกได้ ดังนั้นส่วนต่อขยายในอนาคตจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงจุดนี้เป็นพิเศษ ไม่งั้นอาจจะกลายเป็นสถานีร้างผู้คน มีรถไฟฟ้าวิ่งน้อยเที่ยว ไม่เกิดประโยชน์ได้เท่าที่ตั้งใจไว้
ความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ และปัญหาของการเดินรถ
แม้ว่ารถไฟฟ้าสายชานเมืองบางสายมีผู้ใช้บริการไม่มากนัก แต่รถไฟฟ้าในตัวเมืองคือด้านตรงข้ามมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนก่อนเวลาเข้าทำงานและหลังเลิกงาน จนเกิดกรณีล้นชานชาลาก็มีให้เห็นมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณรถยังคงมีไม่เพียงพอ แม้ว่าความถี่ในช่วงเร่งด่วนรถไฟฟ้าจะมาทุก 2-3 นาทีก็ตาม ทางออกจึงน่าจะอยู่ที่แนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มตู้โดยสารจาก 4 ตู้โดยสาร เป็น 6 ตู้โดยสาร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กำลังอยู่ในระหว่างหารือ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนของระบบการเดินรถที่อาจขัดข้องขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ใช้บริการทำให้ไม่สามารถไปถึงจุดหมายตามเวลาที่ได้คาดการณ์ไว้ จุดนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งจุดที่ผู้ใช้บริการอยากให้แก้ไขมากที่สุด เพื่อให้การเดินทางไม่ติดขัด โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนที่สร้างผลกระทบมากกว่าแค่การเดินทางไปถึงจุดหมายไม่ตรงเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราสามารถคิดและตั้งคำถามต่อไปได้ว่าในยามที่โครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการ จะมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน การเพิ่มตู้โดยสารจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และรถไฟฟ้าได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ความแออัดที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงนี้ไว้แล้วหรือยัง
จากข้อมูลที่เรารับทราบในเบื้องต้นทั้งหมดนี้ น่าจะพอทำให้เราเห็นภาพว่าในอนาคตรถไฟฟ้าจะกระจายตัวออกไปจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ชานเมืองอย่างเต็มตัว และเชื่อมต่อไปยังจังหวัดต่าง ๆ รอบกรุงเทพฯ แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาที่รอให้ได้รับการแก้ไขอยู่อีกมากมายตามที่ได้ยกตัวอย่างไป ไม่ได้จบแค่การก่อสร้างจัดทำโครงการให้แล้วเสร็จแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข รถไฟฟ้าเอื้ออำนวยต่อผู้ใช้บริการมากขึ้นกว่าที่เป็นมา ก็น่าจะเป็นการยกระดับการคมนาคมได้อย่างแท้จริง
ติดตามเนื้อหาที่สนใจเกี่ยวกับรถไฟฟ้าเพิ่มเติม