ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พุทธไทยมี “เข้าพรรษา” แล้วศาสนาอื่นมีอะไร ?


Lifestyle

พุฒิเมธ เกียรติมณีศรี

แชร์

พุทธไทยมี “เข้าพรรษา” แล้วศาสนาอื่นมีอะไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2896

พุทธไทยมี “เข้าพรรษา” แล้วศาสนาอื่นมีอะไร ?

เข้าพรรษา คือช่วงเวลาที่ชาวพุทธตั้งใจรักษาศีลและปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด แต่รู้หรือไม่ว่า ศาสนาอื่นก็มีช่วงเวลาแห่งการถือศีล ภาวนา หรือฝึกฝนจิตใจไม่ต่างกัน ชวนสำรวจพิธีกรรมและเทศกาลสำคัญในหลากหลายศาสนา ที่ต่างก็มี “ช่วงเวลาแห่งศรัทธา”

การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลมีความสำคัญและส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์เราตั้งแต่อดีต ทั้งด้านการเพาะปลูก การเดินทาง หรือแม้แต่ในความเชื่อความศรัทธา ผลกระทบของภูมิศาสตร์และฤดูกาลต่อศาสนาปรากฎให้เห็นชัดผ่านช่วงถือศีลภาวนาในแต่ละศาสนาซึ่งถือเป็นช่วงสำคัญในทุกศาสนาที่จะเปิดโอกาสให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติตนตามหลักคำสอนหรือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อเพื่อนมนุษย์ ห่วงเวลาของการถือศีลของแต่ละศาสนาล้วนมีเหตุเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผันของฤดูการทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พุทธไทย ฮินดู คริสต์ หรืออิสลาม บทความนี้จึงจะพาไปสำรวจช่วงเวลา ต้นกำเนิด หลักปฏิบัติ และเหตุผลทางภูมิศาสตร์ของพิธีถือศีลภาวนาในแต่ละศาสนา

พุทธ : “เข้าพรรษา - ออกพรรษา”

เข้าพรรษา - ออกพรรษา

มักตรงกับช่วง กรกฎาคม – ตุลาคม (ปีนี้ตรงกับ 11 กรกฎาคม – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2568) วันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์จะต้องจำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือนตลอดฤดูฝน โดยไม่ไปพักแรมที่สภานที่อื่น การเข้าพรรษาถูกกำหนดไว้ในพระวินัย พระสงฆ์ทุกรูปต้องปฏิบัติตาม โดยปกติการเข้าพรรษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

“เข้าพรรษา” ตามพุทธประวัติและเหตุผลทางภูมิศาสตร์

คำว่า “พรรษา” มาจากคำภาษาสันสกฤต “วรฺษ” (วัสสะ) ที่แปลว่า ฝน หรือ ปี ในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษาเป็นระยะเวลา 3 เดือนในช่วงฤดูฝน เนื่องจากทรงเล็งเห็นถึงอันตรายและความยากลำบากจากการจาริกหรือเดินทางเผยแผ่ธรรมในสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงที่ฝนตก อีกเหตุผลหนึ่งนั้นก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในช่วงเวลานี้ของพระสงฆ์

กิจกรรมและหลักปฏิบัติ

ช่วงเข้าพรรษาถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคนในการร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ พร้อมทั้งถวายสิ่งของจำเป็นในช่วงที่พระสงฆ์จำพรรษา เช่น หลอดไฟ เทียนพรรษา หรือผ้าอาบน้ำฝน นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ชาวพุทธชายนิยมอุปสมบทเพื่อ “บวชเอาพรรษา” โดยหวังสร้างบุญกุศลและการศึกษาธรรมะอย่างเป็นระบบจากการที่ได้จำวัดตลอดเวลา 3 เดือน

ฮินดู : “จตุรมาสยะ”

ฮินดู “จตุรมาสยะ”

มักตรงกับช่วง กรกฎาคม - พฤศจิกายน (ปีนี้ตรงกับ 6 กรกฎาคม - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2568 ) จตุรมาสยะ (Chatur Masya) หมายถึง "สี่เดือน" หรือ "คำปฏิญาณ 4 เดือน" เป็นช่วงเวลาสี่เดือนในฤดูฝนที่ผู้ศรัทธาในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะกลุ่มผู้นับถือนิกายไวษณพซึ่งเป็นนิกายที่นับถือพระวิษณุเป็นเทพสูงสุด จะถือศีลและข้อจำกัดต่าง ๆ โดยทั่วไปจะเริ่มในวันที่ 11 ของเดือนอาสาฬหะ และสิ้นสุดในวันที่ 11 ของเดือนคาร์ติกะ ซึ่งอยู่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ถึงตุลาคมหรือพฤศจิกายน มักตรงกับช่วงเข้าพรรษาของศาสนาพุทธ

ความเชื่อและหลักปฏิบัติเกี่ยวกับวัน “จตุรมาสยะ”

ผู้นับถือนิกายไวษณพเชื่อกันว่าตลอดช่วง 4 เดือนของฤดูฝน พระวิษณุอยู่ในสภาวะหลับใหล มนุษย์จึงไม่ควรรบกวน พวกเขาจึงจะหลีกเลี่ยงพิธีมงคลที่อาจสร้างเสียงอึกทึก เช่น งานแต่งงาน และช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสดีในการไตร่ตรองทางจิตวิญญาณ ถือศีล บำเพ็ญสมาธิ นักบวชฮินดูก็จะยุติการธุดงค์และพำนักอยู่ ณ ที่แห่งเดียว โดยฝึกฝนการไม่เบียดเบียน (อหิงสา) เพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายสัตว์เล็ก ๆ การหลับใหลของพระวิษณุถูกนำไปเปรียบกับกับการที่เมล็ดพืชได้รับการบำรุงจากโลกในช่วงฤดูฝนก่อนที่จะงอกงาม ชาวฮินดูนิกายไวษณพเลยมักละเว้นจากธัญพืชบางชนิด

เหตุผลทางภูมิศาสตร์

หากอธิบายตามเหตุผลทางภูมิศาตร์และฤดูกาลเหตุผลของหลักปฏิบัติในวัน “จตุรมาสยะ” นั้นคล้ายกับศาสนาพุทธ นั่นคือความเกรงกลัวอันตรายจากการเดินทางหรือการจัดกิจกรรมในช่วงฤดูฝน ที่ทุกอย่างจะถูกดำเนินไปอย่างยากลำบาก และเหตุผลของการไม่ทานเม็ดธัญพืชบางชนิด ก็เพื่อจะต้องสะสมเมล็ดธัญพืชเหล่านั้นมาปลูกไว้ในฤดูกาลนี้

คริสต์ : “เทศกาลมหาพรต/เทศกาลเข้าสู่ธรรม”

เทศกาลมหาพรต - เทศกาลเข้าสู่ธรรม

มักตรงกับช่วง กุมภาพันธ์ - เมษายน (ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ - 2 เมษายน พ.ศ. 2568) “เทศกาลมหาพรต / เทศกาลเข้าสู่ธรรม” หรือ เล็นท์ (Lent) เป็นหนึ่งในวันสำคัญในศาสนาคริสต์ เริ่มขึ้นใน “วันพุธรับเถ้า” และสิ้นสุดใน “วันอีสเตอร์” รวมเป็นระยะเวลา 40 วัน ความสำคัญของห้วงเวลานี้คือการรำลึกถึงความทรมานและการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ กิจกรรมหลัก ๆ ที่คริสตชนจะปฏิบัติคือการภาวนาอธิษฐาน บริจาคทานหรือสิ่งของ อดอาหาร และละจากความฟุ่มเฟือย

ความสำคัญของ “40 วัน” ในคริสต์ศาสนา

เลข 40 หรือ 40 วัน ถูกกล่าวไว้ในพระคัมภีร์หลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการอดอาหารในทะเลทรายของพระเยซูคริสต์เป็นเวลา 40 วัน (Temptation of Christ) น้ำท่วมโลกเป็นเวลา 40 วันในเหตุการณ์เรือโนอาห์ โมเสสรับบัญญัติและอยู่บนภูเขาเป็นเวลา 40 วัน หรือการอพยพของกลุ่มชนชาติยิวสู่ดินแดนแห่งพันธสัญญาที่ใช้เวลาถึง 40 ปี

หลักปฏิบัติในวัน “เทศกาลมหาพรต / เทศกาลเข้าสู่ธรรม”

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการถ่อมตนหรือละจากความฟุ่มเฟือย ตามโบสถ์ต่าง ๆ จะลดสิ่งของประดับตกแต่งเหลือเพียงเชิงเทียนแบบเรียบง่าย นักบวชจะสวมชุดพิธีสีม่วงซึ่งแสดงถึงความถ่อมตนและการสำนึกผิด มีการช่วยกันรวบรวมเงินใน “กระปุกมหาพรต” เพื่อนำไปบริจาคให้กับผู้ยากไร้ และมีการภาวนาเป็นพิเศษทั้งตามโบสถ์และตามบ้านเรือน

เหตุผลทางภูมิศาสตร์

“เล็นท์” (Lent) มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณ “Lencten” ซึ่งแปลว่าฤดูใบไม้ผลิ พิธีมหาพรตที่ปฏิบัติในซีกโลกเหนือจะตรงกับฤดูใบไม้ผลิที่ธรรมชาติกำลังฟื้นฟูจากฤดูหนาวอันยาวนาน สะท้อนถึงความแห้งแล้งและความทุกข์ทรมานที่ผ่านพ้นไป โลกกำลังเข้าสู่สภาวะสงบสุขสมบูรณ์อีกครั้ง เปรียบได้กับการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์

การอดอาหารในอดีตที่ยังคงปฏิบัติในบางกลุ่มนั้น อาจมีความเชื่อมโยงกับสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้งและขาดแคลนอาหารในช่วงเวลาหนึ่ง หรือเป็นสัญลักษณ์ของการเตรียมตัวและทดสอบความศรัทธาในดินแดนที่พระเยซูทรงใช้เวลา 40 วันในถิ่นทุรกันดาร

อิสลาม : “รอมฎอน”

อิสลาม : รอมฎอน

ตรงกับเป็นเดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม (ฮิจเราะห์) ซึ่งเป็นปฏิทินแบบจันทรคติ ชาวมุสลิมทั่วโลกจะถือศีลอดตลอดทั้งเดือนนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาที่เชื่อกันว่า พระคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ถูกประทานลงมายังท่านศาสดามุฮัมมัดเป็นครั้งแรกในเดือนนี้  โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 2 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2568 

ความเชื่อและหลักปฏิบัติใน  “รอมฎอน”

ความเชื่อหลักของชาวมุสลิมในช่วงรอมฎอนคือการเพิ่มพูน ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และการฝึกฝนตนเองให้มีวินัย ความอดทน และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่ด้อยกว่า การถือศีลอดไม่ใช่เพียงแค่การงดเว้นอาหารและน้ำ แต่ยังรวมถึงการงดเว้นจากสิ่งไร้สาระ การพูดโกหก นินทา และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมทุกชนิด

นอกจากนั้นยังมีหลักปฏิบัติอื่น ๆ เช่น การละหมาดตะรอวีหฺ: เป็นการละหมาดพิเศษเพิ่มเติมที่ปฏิบัติกันในเวลากลางคืนหลังละหมาดอิชาอ์ (ละหมาดช่วงค่ำ) ตลอดเดือนรอมฎอน การอ่านอัลกุรอานให้มากยิ่งขึ้น การบริจาคทานและการทำความดีทุกรูปแบบ

เหตุผลทางภูมิศาสตร์

รอมฎอน (Ramadan) มาจากรากศัพท์ภาษาอาหรับ "ar-ramad" ซึ่งมีความหมายว่า "ความร้อนที่แผดเผา" หรือ "ความแห้งแล้ง" ก่อนมีการทำปฏิทินจันทรคติแบบตายตัวของอิสลาม เดือนต่าง ๆ ในคาบสมุทรอาหรับอาจถูกตั้งชื่อตามสภาพอากาศ การที่เดือนนี้ถูกเรียกว่ารอมฎอน อาจเป็นเพราะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี

การใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งและขาดแคลนน้ำและอาหารอาจส่งเสริมแนวคิดเรื่องความอดทน การจำกัดตนเอง และการพึ่งพาพระเจ้า ซึ่งเป็นคุณค่าหลักของการถือศีลอด สภาพภูมิประเทศที่ท้าทายนี้ทำให้การฝึกฝนจิตวิญญาณผ่านการอดอาหารและน้ำมีความหมาย หรือเป็นสิ่งจำเป็นในการฝึกฝนตนให้สามารถอยู่รอดในสภาพอันแห้งแล้งนั้นได้

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น “เข้าพรรษา" ของพุทธ “จตุรมาสยะ" ของฮินดู “เทศกาลมหาพรต" ของคริสต์ หรือ “รอมฎอน" ของอิสลาม พิธีถือศีลภาวนาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักปฏิบัติทางศาสนา แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และศรัทธา การเชื่อมโยงกับฤดูกาลและสภาพภูมิศาสตร์ในอดีตได้หล่อหลอมให้เกิดวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมา แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าศาสนาใด การแสวงหาความสงบและคุณงามความดีล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์เรายึดโยงกับโลกรอบตัวเสมอมา

อ้างอิง

  • คมกรช อุ่ยเต็กเค่ง. ภารตะ-สยาม ผี พราหมณ์ พุทธ?. มติชน, 2560.
     
  • ริชาร์ด ฮอลโลเวย์. ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์. แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์, Bookscape, 2562.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันเข้าพรรษาวันพระ
พุฒิเมธ เกียรติมณีศรี

ผู้เขียน: พุฒิเมธ เกียรติมณีศรี

เด็กวรรณกรรมที่สนใจทาโรต์ หนังสือ และหมาแมว นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด