เผลอแวบเดียว เวลาผ่านไปครึ่งปี ใครที่เคยตั้งเป้าหมายสิ่งใดในช่วงต้นปี ถึงเวลานี้ “เป้าหมาย” ที่ว่า เดินหน้าไปถึงไหน ? บางคนส่ายหน้าระอาใจ “เป้าหมายที่วางไว้ยังอีกไกลกว่าจะไปถึง” หลายคนท้อแท้ อย่าว่าแต่เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย แค่พาตัวเองให้รอดในแต่ละวัน ยังเหนื่อยหน่ายรุนแรง แล้วอย่างนี้เมื่อไรจะไปถึงยังเป้าหมาย ?
ในโลกที่หมุนเร็วรี่ ผู้คนต่างไล่ล่าเป้าหมายที่ชื่อว่า “ความสำเร็จ” ทว่าความสำเร็จไม่ได้มาโดยง่าย แถมยังต้องไขว่คว้า รบรากับผู้คนอีกมากมายที่ต้องการความสำเร็จในแบบเดียวกัน จากที่หวังจะเป็นความสุข กลับกลายเป็นเรื่องทุกข์ กดดันตัวเอง กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไป (หาความสำเร็จ) ก็ไปไม่ถึง…
Thai PBS ชวน “อุ๋ย - นที เอกวิจิตร” พิธีกรคนดังจากรายการ “คุยกับอุ๋ย” มาร่วมพูดคุย ผ่านมาครึ่งปีแล้ว ทำอย่างไรให้ไปสู่ “ความสำเร็จ” อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ และที่สำคัญ ความสำเร็จที่เป็นสุขใจ ทำได้ไหม ? ไปร่วมหาคำตอบจากการสนทนาครั้งนี้…
“ตั้งเป้าหมายใหญ่” ทำอย่างไรไปให้ถึง ?
กลายเป็นธรรมเนียมในทุกต้นปี กับการตั้งเป้าหมายใหม่ ๆ ในช่วงปีใหม่ หรือที่เรียกว่า New Year’s Resolutions แต่ครั้นเมื่อเวลาเดินหน้าไป การคิดใหม่ทำใหม่ในช่วงต้นปี กลับกลายเป็นความกดดัน เมื่อสิ่งที่คิด ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราเริ่มต้นถามกับอุ๋ยว่า ปัญหาทำนองนี้ควรจัดการอย่างไร
“ผมเห็นตั้งกันทุกปี New year’s Resolutions แต่เท่าที่สัมผัส กว่า 90% มักไม่เกิดขึ้น คำถามคือ ทำไมถึงไม่เกิดขึ้น เราควรกลับมาเช็กดู ว่าเป้าที่เราตั้งไว้ มันสูงเกินไปหรือเปล่า ลองตั้งเป้าหมายที่สั้นกว่านั้นไหม”
“เคยมีคนบอกว่า ถ้ามีเป้าหมายใหญ่ ให้ลองซอยเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ เพราะก่อนจะถึงเป้าหมายใหญ่ ควรจะมีเป้าหมายเล็ก ๆ ระหว่างทาง เราลองเริ่มจากสิ่งนั้นดูก่อน เช่น วันนี้เราทำอะไรได้บ้าง แล้วทำสำเร็จไหม เอาแค่นี้ก่อนเลย แล้วลงมือทำ”
อุ๋ยบอกต่อว่า การลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็ก หรือเรื่องใหญ่ อย่างน้อยเพื่อให้ตัวเองขยับไปหาเป้าหมาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือต้องรู้ว่าจะเดินหน้าไปเพื่ออะไร
“ถ้ารู้ว่าจะเดินไปทางไหน ก็เดินไปเลย ถึงไม่ถึง ว่ากันอีกที สำคัญตรงที่ เป้าหมายที่เดินไป มันเป็นเป้าหมายของเราหรือเปล่า หรือเป็นเป้าหมายที่สังคมกำหนดว่าต้องไปอย่างนั้น”
เพราะจริง ๆ แล้ว เป้าหมายของเรากับสังคม อาจจะไม่ตรงกันก็ได้ อยากให้ลองเช็กให้ดี ๆ ว่า ที่สังคมเขาบอกว่า ทางนั้นน่าไป เราอยากเหมือนสังคมหรือเปล่า เราไปเหมือนชาวบ้านเขา เราอาจจะไม่มีความสุขก็ได้
แบบไหนที่เรียกว่าเป้าหมาย “ความสำเร็จ” ที่แท้จริง ?
ขึ้นชื่อว่า “ความสำเร็จ” ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้คนใฝ่หา ทว่าความสำเร็จของแต่ละคน ต่างก็มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป สำหรับอุ๋ย เขาบอกว่า ความสำเร็จของเขา คือการที่ตัวเองมีคุณค่ากับสิ่งที่ทำ
“ถ้าเราทำแล้วรู้สึกว่ามีคุณค่ากับชีวิต หรือทำแล้วชีวิตเรารู้สึกมีความหมาย และไม่ได้รู้สึกทุกข์จนเกินไป อันนั้นถือเป็นความสำเร็จของผม แต่เรื่องความสำเร็จ ถามร้อยคน ก็คงตอบไม่เหมือนกัน บางคนอยากให้พ่อแม่สบาย บางคนอยากมีเงินร้อยล้าน บางคนอยากมีลูก ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมายความสำเร็จไม่เหมือนกัน”
ถามกับอุ๋ยต่อว่า หลายคนรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ เพราะ “มีไม่เท่าคนอื่น” ปัญหาแบบนี้ควรทำอย่างไร
“เรามักวัดความสำเร็จจากสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา เช่น วัดกันที่ตัวเลข วัดที่ยอดฟอลโลเวอร์ หรือวัดที่จำนวนเงินในบัญชี เพราะว่ามันวัดค่าได้ง่าย แต่อย่าลืมสิ่งที่ไม่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลข เช่น ความรู้สึกที่อยู่ในใจ”
“ผมเคยเจอหลายคน มียอดฟอลโลเวอร์ หรือยอดตัวเลขเงินในบัญชีสูงมาก แต่ความรู้สึกในใจเขากลับเป็นลบ ในใจเขาเป็นทุกข์ บางครั้งสิ่งที่เห็น อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ดังนั้น ต้องถามกลับว่า เราอยากเป็นแบบนั้นหรือเปล่า”
“อย่าไปฝากความสุข ความสำเร็จ ไว้กับตัวเลขอย่างเดียว ซึ่งถ้าไม่เชื่อ ต้องไปลองมีด้วยตัวเอง ไปพยายามทำตัวเลขให้มีตามเป้า ทั้งยอดฟอลโลเวอร์ หรือเงินในบัญชี แล้วดูสิว่า สุขที่มี มันยั่งยืนจริง ๆ หรือเปล่า”
ก่อนจะ “สุข” ต้องจัดการ “ทุกข์” ให้น้อยลง
ไม่ว่าใครก็อยากใฝ่คว้าหาความสุข แต่หลายคนกลับประสบกับภาวะที่เรียกว่า “สุขยาก ทุกข์ง่าย” กับประเด็นนี้ อุ๋ยมีมุมมองว่า เกิดจากความคิดของตัวเองเป็นตัวตั้งต้นทั้งสิ้น
“ลองสังเกตว่าคุณทุกข์เพราะความคิดคุณหรือเปล่า ถ้าใช่ ลองออกจากความคิด มาอยู่กับความรู้สึกตัวดูบ้าง กลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวจริง ๆ หรืออยู่กับคนตรงหน้า ไม่อย่างนั้นคุณก็จะกลับไปอยู่ในความคิด แล้วก็ทุกข์เหมือนเดิม”
อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ทำให้ผู้คนติดกับกับดักความเครียด และรู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จเสียที เพราะมัวแต่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้คนในสื่อโซเชียลมีเดีย
“ถ้าเป็นคนยุคก่อน เวลาที่เราจะเปรียบเทียบอะไรกับใคร เรามักจะเปรียบเทียบกับคนใกล้ตัว เช่น คนในหมู่บ้าน เพื่อนในโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีไลฟ์สไตล์ไม่ต่างกันมาก แต่สำหรับคนยุคนี้ ที่ใช้โซเซียลมีเดีย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น และตลอดเวลา”
หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก็เปรียบเทียบแล้ว เขามีนั่น เขามีนี่ เขาไปถึงไหนแล้ว ทำไมเรามีแค่นี้ แล้วที่สำคัญ คนที่โพสต์เรื่องราวลงโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงด้านแย่ของตัวเอง ทุกคนมักจะลงแต่ด้านพิเศษ มันจึงกลายเป็นการเอาความพิเศษของคนอื่น มาเปรียบเทียบกับความธรรมดาของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
“ถ้าผมจะแนะนำ คงบอกว่า ลองใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลงไหม ถามว่ามันมีประโยชน์ไหม ใช่ ประโยชน์มันเยอะมากเลย แต่เวลาคุณกดเข้าไปดู คุณต้องรู้ตัวเองก่อนว่า คุณได้กดเข้าไปฟังอะไรดี ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจหรือไม่ หรือไปไถฟีดดูอะไรที่มันทำให้คุณจิตตกในภายหลังหรือเปล่า”
“ถ้าคุณรู้ตัวว่า เราเป็นพวกชอบไปเลือกแบบหลัง แนะนำให้หยุดใช้เถอะ นั่นแปลว่าคุณห้ามตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าคุณรู้ตัวว่า อ๋อ เข้าไปแล้วเราเลือกได้ สามารถไปหาแรงบันดาลใจดี ๆ หรือเรื่องที่ทำให้เรามีสติมากขึ้น สามารถมองเห็นตามความเป็นจริง อย่างนั้นใช้ไปเลยครับ แปลว่าสิ่งนั้นมันให้ประโยชน์กับคุณมากกว่า”
“แต่ถ้าใช้แล้วทำให้เราจิตตก ลองใช้ให้น้อยลง แล้วก็ลองอยู่กับคนจริง ๆ หรืออยู่กับตัวเองให้มากขึ้น ลองหาหนังสือมาอ่าน ลองไปออกกำลังกาย ไปลองใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริง ๆ ที่ไม่ใช่โลกโซเชียล หรือโลกในความคิดของตัวเอง ไปวิ่ง ไปอยู่กับสวนสาธารณะ ไปอยู่กับธรรมชาติบ้าง ธรรมชาติมันช่วยได้ ไปลองดู”
“ตอนเด็ก ๆ ผมก็ไม่ชอบธรรมชาติ ผมชอบความเป็นเมือง แต่อยากให้ไปลองดูครับ ไปอยู่กับธรรมชาติ ไม่เสียหาย ถ้าไม่ชอบคราวหลังก็ไม่ต้องไป แค่ไปลองอยู่กับตัวเอง ไม่ต้องไถคลิป ไม่ต้องถ่ายสตอรี ลองอยู่กับตัวเองจริง ๆ ดู คุณอาจจะเหมือนแตะเบรกกับชีวิต อาจจะทุกข์น้อยลงบ้างก็ได้ ผมไม่ได้ใช้คำว่า มีความสุขมากขึ้นนะ แต่อาจจะทุกข์น้อยลงบ้างก็ได้”
อุ๋ยบอกต่อว่า ความเข้าใจชีวิต ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของวัย เมื่อมีประสบการณ์ ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้น การมองเห็น “ความสุข” ก็เป็นเรื่องง่าย และเรียบง่ายยิ่งขึ้น
“ช่วงวัยรุ่น เราอาจเห็นความตื่นเต้น คือความสุข เพราะฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน อยากรู้ อยากทดลอง ส่วนความสงบ ความนิ่ง ไม่ใช่ความสุข แต่ในวันที่คุณไปทดลองมาหลากหลายแล้ว ฮอร์โมนไม่พลุ่งพล่านหมือนสมัยวัยรุ่นแล้ว อาจมองเห็นว่า ความสุขไม่ได้ติดอยู่กับความตื่นเต้น หรือความสนุกเพียงอย่างเดียว ความสงบ ความนิ่ง มันก็มีความสุขอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน”
“ฟังแบบนี้ ผมไม่ได้ชวนเด็กวัยรุ่นมาสงบนิ่งกันเถอะ นิ่งแล้วจะมีความสุข ไม่เลย คุณก็ไปใช้ชีวิต ตามความเหมาะสม ตามวัยของคุณ เพราะการผิดพลาด มันคือการเรียนรู้ที่ดี แต่ก็อยากเตือนว่า ถ้าผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง คุณอาจจะใช้เวลาฟื้นตัวกลับมาช้า และเหนื่อย จนวันที่คุณลุกกลับมาได้ มันอาจจะไม่เหลือแรงแล้วก็ได้”
ความผิดพลาดเป็นครูที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผมนะ ไปลองใช้ชีวิตครับ ไปลองผิดลองพลาด ในระดับที่ยังรับได้ เพื่อที่ถึงจุด ๆ หนึ่ง ประสบการณ์ตรงนั้น จะทำให้คุณเลือกชีวิตที่เหมาะสมและมีความสุขกับตัวคุณเอง
รู้เท่าทันความคิด ชีวิตเปลี่ยน
ไม่ว่าจะสุข หรือทุกข์ กลไกความคิดเป็นสิ่งสำคัญ อุ๋ยบอกว่า หากฝึกตัวเองเพื่อมองให้เห็น “ความคิด” จะช่วยให้หยุดวังวนแห่งความทุกข์ลงไปได้
“เวลาที่ความทุกข์ก่อตัวขึ้น ถ้าเรารู้ทันมัน มันจะค่อย ๆ สลายตัวหายไป ดังนั้น เวลาที่เห็นมันก่อตัว อย่าไปห้าม หรือพยายามไปหยุด มันจะยิ่งขยายตัว เพราะนอกจากคุณจะทุกข์กับเรื่องที่กำลังคิด กลายเป็นว่าต้องไปทุกข์เพราะอยากให้ความทุกข์นั้นหายไปอีก มันเลยคูณสอง เราเพียงแค่เห็นว่า ความคิดนั้นกำลังก่อตัว แค่รู้ แล้วอย่าไปสนใจ เดี๋ยวมันจะค่อย ๆ สลายไปเอง”
ความคิดฝึกได้ เหมือนกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อยังฝึกให้แข็งแรงขึ้นได้ ความคิด รวมทั้งทัศนคติในการมองโลก การมองตัวเอง สามารถฝึกได้เหมือนกัน
อุ๋ยบอกต่อว่า อย่าไปกลัวความทุกข์ หรือความวิตกกังวล เพราะทุกคนล้วนมี “วันแย่ๆ” เพียงแค่เรียนรู้ที่จะก้าวข้าม และประการที่สำคัญ นั่นคือ การมองหากำลังใจที่ดี เป็นตัวช่วย
“ในวันที่แย่ ผมมักจะขอกำลังใจจากคนรอบตัว หรือคนที่ผมรัก ไม่ว่าจะเป็นการกอด การสัมผัส บางครั้งแค่กอด หรือพูดให้สติ พอเราได้สติเพียงนิดเดียว เราก็คลายความรู้สึกแย่ ๆ ได้แล้วล่ะ”
“ผมว่าสำคัญอยู่ที่ว่า เราต้องกล้าขอกำลังใจ เพราะบางครั้ง เราอาจจะกำลังมีสติไม่มากพอที่จะตื่นรู้ หรือคิดได้ด้วยตัวเอง การขอกำลังใจ ขอข้อคิด หรือขอสติจากคนที่เราไว้ใจ มันคือจุดเริ่มต้นที่ดี สามารถดึงเราจากก้นหลุมขึ้นมาที่ปากหลุม ส่วนที่เหลือจากนั้น เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคลานขึ้นมาเอง”
สุขที่สำเร็จ…คือลงมือทำ อย่างตั้งใจ
ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายใหญ่ หรือเป้าหมายเล็ก หากจะมีคำสักคำที่เชื่อมโยงไปสู่ “ความสำเร็จ” อุ๋ยบอกว่า จงลงมือทำ
“ในชีวิตคนเรา มันมีหลายอย่างที่เรารู้ว่ามันดี แต่เราก็ยังไม่ทำมัน และหลายอย่างที่เรารู้ว่ามันไม่ดี แต่เราก็ยังทำมันอยู่ คำถามคือ อะไรที่ทำให้เราเป็นแบบนั้น สุดท้ายมันเป็นแค่เรื่องที่เราชอบ กับไม่ชอบ แค่นั้นเอง คือพูดง่าย ๆ ถ้าไม่ชอบ ก็เลยไม่ทำ กลับกัน ก็ฉันชอบแบบนี้ ฉันก็เลยทำ”
“เพราะฉะนั้น ถ้ามันเป็นแค่เส้นชอบกับไม่ชอบ เราฝืนได้ไหม เราข้ามมันได้หรือเปล่า ถ้าลองข้ามไอ้เส้นเล็ก ๆ วันละนิดวันละหน่อย อาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณก็ได้”
ลองแค่วันละเรื่องเดียว เล็ก ๆ ก็ได้ครับ ถ้าอะไรที่มันใหญ่ ยังอดไม่ไหว เอาไว้ก่อนก็ได้ แต่ลองจากเรื่องเล็ก ๆ ดูก่อน พอลองได้แล้ว ให้ดูที่ความรู้สึก ดูความสำเร็จที่ข้ามมันไปได้ เรารู้สึกดีแค่ไหน แล้วจำความรู้สึกนั้นไว้ เพื่อเป็นกำลังใจในการไปข้ามเส้นเล็ก ๆ เส้นอื่น ๆ อีกต่อไป
อุ๋ยบอกว่า แม้ต้นทุนชีวิตจะไม่เท่ากัน จนทำให้การไปถึงเป้าหมายแตกต่างกัน แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ขอแค่มีความตั้งใจ และเข้าใจในสิ่งที่กำลังลงมือทำ ความสำเร็จย่อมอยู่แค่เอื้อม
“ตั้งเป้าเล็ก ๆ ก่อน พอไปถึงเป้าเล็ก ๆ ได้ มันจะมีกำลังใจไปยังเป้าที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเราตั้งเป้าหมายไม่สัมพันธ์กับสิ่งที่เรามีอยู่ มันอาจท้อได้ง่าย ๆ แล้วจะกลายเป็นว่า คิดว่าตัวเองดีไม่พอ บ่นก่นด่าโชคชะตา แต่ลืมไปหรือเปล่าว่า เราตั้งเป้าสูงไปไหม”
“บางคนไม่ได้มองเป้าหมายไกล ๆ แต่เขาทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า รู้ว่าวันนี้ควรทำอะไร แล้วทำไปเรื่อย ๆ สุดท้ายผลมันก็สมควรแก่เหตุ เหมือนถ้าเดินถูกทาง แล้วเดินไปทีละก้าว ต่อให้คุณไม่อยากถึงเป้าหมาย มันก็ถึงน่ะ ทำเหตุมายังไง ผลก็ต้องตามมาอย่างนั้นเอง”
ทุกชีวิตย่อมมองหาความสำเร็จ แต่ก่อนจะถึงยังจุดหมายปลายทาง ที่ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล จงภูมิใจที่ตัวเองได้พยายามก้าวเดิน และชื่นชมในความสำเร็จระหว่างทาง…
ภาพถ่ายโดย : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน