หลังจากที่เมื่อวานนี้ (27 ก.ย. 66) ไทยประกาศเตรียมส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite 2) ขึ้นสู่วงโคจร ในวันที่ 7 ต.ค. 66 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับ AIRBUS เพื่อบันทึกภาพพื้นผิวโลก ซึ่งถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของไทย Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำ ประโยชน์ 6 ด้าน ของดาวเทียม “ธีออส-2” ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศอย่างไรมาให้ได้ทราบกัน แล้วคุณจะรู้ว่าเรื่อง “อวกาศ” เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด
1. การจัดทำแผนที่
เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1 : 1000
2. การจัดการเกษตรและอาหาร
ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร
3. การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม
ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 นั้นสามารถใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน และด้วยที่ THEOS-2 เป็นดาวเทียมที่มีความละเอียด 50 เซนติเมตร จึงทำให้สามารถตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น การบริหารจัดการน้ำทุ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวเกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ
4. การจัดการภัยธรรมชาติ
ข้อมูลดาวเทียม THEOS-2 ที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที หรือเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการฟื้นฟูความเสียหายในเชิงพื้นที่ และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยที่สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
5. การจัดการเมืองโดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน
ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การเดินทาง และแหล่งทรัพยากรน้ำ
6. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ทำให้เรามองเห็นสภาพของปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกป่าและการบริหารจัดการป่าชุมชนบนฐานความสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างป่า ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และชุมชน ให้สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ในติดตามการดูดซับและปลดปล่อยคาร์บอน (Carbon) โดยจะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการ ตรวจวัด และประเมินคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใส ตามมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ THEOS-2 เป็นดาวเทียมระดับปฏิบัติการในรอบ 15 ปี หลังจากประเทศไทยส่ง “ไทยโชต” หรือ THEOS-1 ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 51 จากฐานปล่อยจรวดเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย โดยจรวดนำส่ง "เนปเปอร์" นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยส่งดาวเทียมชนิดนี้
โดย THEOS-2 จัดเป็น “ดาวเทียมรายละเอียดสูงมาก” ถูกออกแบบให้สามารถใช้งานได้เป็นเวลา 10 ปี (ปี 2576) แต่ด้วยเทคโนโลยีการออกแบบการใช้งานจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างและพัฒนาดาวเทียมจากบริษัทแอร์บัสฯ ประเทศฝรั่งเศส ทางทีมผู้สร้างดาวเทียมมีความมั่นใจว่า THEOS-2 จะใช้งานได้นานเท่ากับหรือมากกว่า “ไทยโชต”
ทิ้งท้าย..หลายคนอาจอาจสงสัยว่าเมื่อ THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะสามารถทำงานได้เลยหรือไม่ ? คำตอบคือ “ยัง” เนื่องจากยังต้องทดสอบการทำงานบนอวกาศร่วมกับสถานีภาคพื้นดินก่อน ซึ่งจะเป็นการทดสอบกับสถานการณ์จริง โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือน จึงจะเริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลังจาก “ดาวเทียมธีออส-2” ขึ้นไปสู่อวกาศประมาณ 8-10 วัน หากเกิดภัยพิบัติเร่งด่วน (Disaster) ก็สามารถสั่งถ่ายภาพได้เลย แต่คุณภาพอาจยังไม่แม่นยำเท่าที่ควร (“ไทยโชต” ขึ้นสู่อวกาศ 1 ต.ค. 51 เริ่มให้บริการ 1 มิ.ย. 52)
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิงและรูปภาพ : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน), AIRBUS