แม้นักวิทยาศาสตร์จะทราบอยู่แล้วว่า “ไวรัส” ต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอื่น แต่เพื่อความอยู่รอด ! ทำให้นักวิจัยค้นพบครั้งแรกว่า “ไวรัส” สามารถเกาะกับไวรัสตัวอื่น เพื่อแทรกยีนเข้าไปในเซลล์ทำให้ตัวมันมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ด้วย
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ บัลติมอร์เคาน์ตี หรือ UMBC (University of Maryland, Baltimore County) และมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ (Washington University in St. Louis) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร International Society of Microbial Ecology เผยว่า เป็นการค้นพบครั้งแรกว่า ไวรัสสามารถเกาะติดกับไวรัสอื่น ๆ ทางกายภาพ แล้วแทรกยีนเข้าไปในเซลล์เพื่อความอยู่รอดได้ โดยปกติจะพบในไวรัสกับสัตว์ พืช หรือแบคทีเรีย เท่านั้น สำหรับการค้นพบนี้เกิดจากการศึกษาแบคทีริโอฟาจ (Bacteriophage) ซึ่งเป็นไวรัสที่ติดเชื้อแบคทีเรีย แล้วพบความผิดปกติในตัวอย่างของ DNA ไวรัสที่เรียกว่า “MindFlayer”
เพื่อหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสดังกล่าว จึงมีการใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน ( Transmission electron microscope: TEM) ก่อนพบว่า ไวรัส MindFlayer ซึ่งมีไวรัสขนาดเล็ก (MiniFlayer) ติดอยู่ที่ส่วน “คอ” โดยไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวแต่เกิดขึ้นประมาณ 80% ของแบคทีริโอฟาจที่ตรวจพบเลยทีเดียว
Tagide deCarvalho หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า เมื่อฉันเห็นมัน ฉันไม่อยากจะเชื่อเลยว่าจะมีแบคทีริโอฟาจหรือไวรัสอื่นใดที่เกาะติดกับไวรัสตัวอื่น
หลังจากการค้นดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นโดยการวิเคราะห์จีโนมของไวรัสทั้ง 2 ก่อนพบว่า MiniFlayer แตกต่างจากไวรัสอื่น ตรงที่รู้จักจุดที่สามารถนำยีนไปแทรกในเซลล์ของไวรัสอื่น ทำให้มันเข้าไปเกาะติดและอาศัยไวรัสชนิดอื่นเพื่อความอยู่รอดได้
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : umbc.edu
เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (เซบา บาสตี้)