ขั้วโลกใต้ของเราก็มีภูเขาไฟ ยืนยันด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-9 (OLI-2) ถ่ายภาพปล่องภูเขาไฟที่ปรากฏขึ้นเหนือเมฆนี้ไว้ได้เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 66 ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟในขั้วโลกใต้ มีชื่อว่าภูเขาไฟเอเรบัส (Erebus) เป็นภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่น ตั้งอยู่บนเกาะรอสส์ ในทวีปแอนตาร์กติกา ขั้วโลกใต้ มีความสูงประมาณ 3,794 เมตร นับว่าสูงเป็นอันดับ 2 ในทวีปแอนตาร์กติการองจากภูเขาไฟซีย์เล
ภูเขาไฟเอเรบัสเป็นหนึ่งใน 4 ของภูเขาไฟที่รวมกันเป็นกลายเป็นเกาะรอสส์ ในทะเลรอสส์ อ่าวแมคเมอร์โดนอกชายฝั่งวิกตอเรียแลนด์ ภูเขาไฟเหล่านี้เกิดขึ้นในบริเวณรอยแยก ซึ่งการขยายตัวทำให้เปลือกโลกบางลงและทำให้แมกมาเคลื่อนตัวผ่านรอยเลื่อนขึ้นสู่พื้นผิวโลก ด้วยความสูงของภูเขาไฟเอเรบัส 3,794 เมตรเหนือระดับทะเลปานกลาง จึงจัดว่าเป็นภูเขาไฟบนเกาะที่สูงที่สุดอันดับ 6 ของโลก
ภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-9 แสดงให้เห็นรายละเอียดจากมุมมองด้านบนของภูเขาไฟเอเรบัส ด้วยการอาศัยช่วงคลื่นอินฟราเรดคลื่นสั้น ทำให้เห็นความร้อนจาก “ทะเลสาบลาวา” บริเวณกลางปล่องภูเขาไฟบนยอดเขา ทะเลสาบลาวาแห่งนี้ยังคงปะทุมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 หรือประมาณ 50 ปีมาแล้วและเป็นหนึ่งในทะเลสาบลาวาที่เก่าแก่ไม่กี่แห่งบนโลก
“ทะเลสาบลาวา” แห่งนี้มีความร้อนระอุตลอดเวลาและพ่นหินหลอมเหลวบ้างเป็นครั้งคราว เป็นการปะทุแบบ Strombolian คือการปะทุของลาวาจะเกิดในช่วงเวลาสั้น ๆ มักมีลาวาพุ่งสูงขึ้นไปในอากาศ กลุ่มควันอาจจะสูงได้หลายร้อยเมตร ด้วยอายุของ “ทะเลสาบลาวา” ทำให้นักธรณีวิทยาต้องการทราบถึงสาเหตุที่ทำให้ “ทะเลสาบลาวา” แห่งนี้ยังคุกรุ่นอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งงานวิจัยล่าสุดชี้ให้เห็นว่าอาจมีหลายปัจจัยเช่น อาจเป็นเพราะปริมาณน้ำของแมกมาต่ำ ทำให้มีความผันผวนน้อยเมื่อเข้าใกล้พื้นผิว
ภูเขาไฟเอเรบัสถูกค้นพบเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1841 (พ.ศ. 2384) เมื่อเจ้าหน้าที่กองทัพเรืออังกฤษ James Clark Ross มองเห็นมันเป็นครั้งแรกระหว่างการสำรวจแอนตาร์กติก ซึ่งมันกำลังเกิดการปะทุอยู่พอดี ก่อนที่จะมีการเกิดขึ้นของทะเลสาบลาวาแห่งนี้ ภูเขาเอเรบัสและภูเขาเทเรอะที่อยู่ใกล้เคียง ได้รับการตั้งชื่อตามเรือรบที่ได้รับการดัดแปลงเพื่อใช้ในการสำรวจขั้วโลกใต้ในครั้งนั้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)