Secret Story | พัทยาซอยสุดท้าย...อยากให้เธอเป็นคนสุดท้าย


Lifestyle

8 ม.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
Secret Story | พัทยาซอยสุดท้าย...อยากให้เธอเป็นคนสุดท้าย

“รัน” เป็นยูทูบเบอร์รายการนำเที่ยว อีพีล่าสุดของเธอคือการแนะนำให้รู้จักพัทยาในมุมใหม่ ไม่ใช่เมืองหลวงแห่งการค้าบริการทางเพศอย่างที่คนส่วนใหญ่รับรู้กัน รันตระเวนถ่ายทำตามลำพังด้วยความหวังสดใส แต่แค่ไม่ช้าเธอก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้แอบซ่อนความเลวร้ายในแบบที่เธอเองไม่เคยรู้

...มันเป็นความรู้ใหม่ที่เธอไม่อยากรู้ แต่ถูกยัดเยียดให้ต้องรู้ และที่น่าเจ็บปวดกว่านั้นคือ แม่ของเธอก็เคยรู้ ผู้คนรอบตัวมากมายเคยรู้ ทว่าด้วยความหวาดกลัวและความเชื่อว่าตัวเองไร้อำนาจ ทุกคนจึงเลือกทางออกด้วยการนิ่งเงียบ

“พัทยาซอยสุดท้าย” เล่าเรื่องของเด็กสาวผู้ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้ชายที่มีทั้งอำนาจ อิทธิพล และฐานะ ผู้หญิงทุกคนในภาพยนตร์เรื่องนี้ รับมือกับความเจ็บปวดด้วยการหลบเลี่ยงที่จะพูดถึงมัน บ้างเลือกหนทางจบชีวิตตนเอง มีเพียงรันคนเดียวที่ตัดสินใจลุกขึ้นเผชิญหน้ากับผู้กระทำ แต่สิ่งที่เธอพบก็คือการต้องเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อคนรอบตัวและคนที่เกี่ยวข้อง -ทั้งแม่ของเธอเอง ป้าเพื่อนร่วมงานของแม่ ครอบครัวเพื่อนสนิท ไปจนถึงครอบครัวของผู้กระทำ และที่สำคัญที่สุดคือตำรวจ- ล้วนมีปฏิกิริยาเริ่มแรกในลักษณะซ้ำเติมความเป็น “เหยื่อ” ให้หนักขึ้น แม้ว่าพวกเขาบางคนอาจทำลงไปในนามของความรัก ความเป็นห่วง และความหวังดีก็ตาม

...ซึ่งมันไม่ต่างเลยจากสิ่งที่ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็มักได้พบเจอในโลกแห่งความเป็นจริง

7 ข้อพื้นฐานควรรู้สำหรับ “ผู้เป็นแรงสนับสนุน”

ลองจินตนาการดูว่า ถ้ามีใครสักคนที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับเรามาเปิดเผยให้เรารู้ว่าเขาหรือเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ เราจะมีปฏิกิริยาอย่างไร แน่นอนว่าไม่ง่ายเลยที่เราจะแสดงออกได้อย่างทั้งสุขุม จริงใจ ใช้คำพูดที่เหมาะสม ไม่มีท่าทีซ้ำเติม ฯลฯ ไม่ใช่เพราะเราแล้งน้ำใจ แต่เพราะการแสดงออกเหล่านี้ ไม่อาจจะเป็นไปอย่างถูกต้องสมควรได้ ตราบใดที่เรายังไม่มีทัศนคติและความรู้ต่อประเด็นนี้มากพอ

ในบทความ How to Support a Victim of Sexual Assault และ Supporting a Sexual Assault Survivor ให้คำแนะนำสำหรับการเป็น “ผู้สนับสนุนที่ดี” ของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศไว้หลายข้อ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปมาเบื้องต้นดังนี้

1) สร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย

ใน “พัทยาซอยสุดท้าย” เราได้เห็นรันในสถานการณ์ที่น่าเห็นใจอย่างที่สุด เมื่อเธอผ่านการถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้ว เดินขึ้นโรงพักตามลำพังเพียงเพื่อจะได้พบท่าทีนิ่งเฉยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ซึ่งเป็นผู้หญิงเสียด้วย) และเมื่อเธอเปิดเผยเรื่องนี้ให้แม่รู้ แม่ก็กลับแสดงเพียงความตกใจ เสียใจ ซ้ำยังบอกให้รันลืมเรื่องทั้งหมดแล้วหนีไปหลังจากผู้กระทำเริ่มมีพฤติกรรมคุกคามมากขึ้น

คงจะดีมาก ๆ หากแม่ของรันได้รู้ว่า การตอบสนองครั้งแรกของผู้สนับสนุนต่อเหยื่อ/ผู้รอดชีวิตนั้นถือเป็นจุดสำคัญที่สุดจุดหนึ่งในการจะช่วยฟื้นฟูจิตใจของเขาหรือเธอกลับมาได้ และสิ่งที่รันน่าจะหวังอยากได้รับจากแม่ ก็คือพื้นที่ที่ทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและอารมณ์ พร้อม ๆ กับการได้รับรู้ว่าอย่างน้อยก็มีแม่อยู่เคียงข้างและแม่จะคำนึงถึงความปลอดภัยของเธอเสมอ

2) ตอบรับด้วยทัศนคติเสริมสร้างพลังใจ

การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการกระทำที่ปล้นชิงความรู้สึกของการมีพลังและอำนาจจากเหยื่อ/ผู้รอดชีวิตไปอย่างโหดร้าย จึงสำคัญมากที่ผู้สนับสนุนต้องช่วยคืนความรู้สึกนี้ ด้วยการเปิดให้เขาหรือเธอมีอำนาจควบคุมชีวิตตนเอง โดยตัดสินใจเองว่าอยากจะพูดคุยถึงเรื่องราวนี้อย่างไร เมื่อไหร่ มากแค่ไหน และผู้สนับสนุนแค่คอยรับฟังอย่างสงบ มีสติ ให้ความเคารพต่อทุกความรู้สึกและความคิดเห็นของพวกเขา ไม่ยัดเยียดคำแนะนำหรือสร้างแรงกดดันใด ๆ ซ้ำเติม

3) เห็นอกเห็นใจและเชื่อมั่น

ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มักหวาดกลัวว่า หากเล่าสิ่งที่เจอมาให้ใครฟังแล้วคนเหล่านั้นจะไม่เชื่อ ผู้สนับสนุนจึงควรรับฟังอย่างตั้งใจ เชื่อมั่น ไม่ตัดสิน แสดงออกทั้งด้วยภาษากายและคำพูดว่าเห็นอกเห็นใจในความเจ็บปวดที่เขาหรือเธอกำลังเผชิญ

4) เก็บความลับให้เป็น

ไม่ว่าจะฟังเรื่องราวแล้วเจ็บแค้นแทนขนาดไหน ผู้สนับสนุนก็ต้องจำไว้เสมอว่ามันเป็นเรื่องราวของเขาหรือเธอ และผู้ที่เป็นเจ้าของเรื่องเท่านั้น ที่มีอำนาจตัดสินใจว่าอยากจะเปิดเผยมันแก่ใครและเมื่อไหร่ หน้าที่ของเราไม่ใช่ช่วยป่าวประกาศ แต่คือการยืนเคียงข้างแล้วประคองเขาให้ผ่านกระบวนการเยียวยาฟื้นฟูไปด้วยกัน

5) มีความรู้และการเตรียมพร้อม

การหมั่นเรียนรู้ชุดความคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศจะช่วยให้เรามีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเด็นนี้ และการหาข้อมูลเรื่องศูนย์ช่วยเหลือ การเข้าพบผู้เชี่ยวชาญ วิธีแจ้งเหตุ วิธีดำเนินการทางกฎหมาย ฯลฯ ก็สำคัญมาก ๆ สำหรับการรับมือและจัดการปัญหาขั้นต่อไปอย่างถูกวิธี

6) คอยจับตาสัญญาณอันตราย

ผู้สนับสนุนต้องคอยเฝ้าระวังว่าเหยื่อ/ผู้รอดชีวิตมีพฤติกรรมอะไรที่สื่อถึงภาวะวิกฤติหรือเปล่า เช่น มีอาการฝันร้าย มีความคิดฆ่าตัวตาย ฯลฯ เพื่อจะได้พาเขาเข้ารับความช่วยเหลือจากมืออาชีพอย่างทันท่วงที

7) ชื่นชมยกย่องเมื่อเขาหรือเธอฟื้นคืนดี

การฟื้นคืนของเหยื่อ/ผู้รอดชีวิต แต่ละคนนั้นต้องการวิธีการและระยะเวลาแตกต่างกัน โดยระหว่างทางก็อาจเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามมากน้อยไม่เท่ากันด้วย การตระหนักถึงความจริงข้อนี้จะทำให้ผู้สนับสนุนมีความเข้าใจ อดทน และพร้อมจะแสดงความชื่นชมเป็นกำลังใจในทุกก้าวที่เขาหรือเธอค่อย ๆ ฟื้นฟูจิตใจและกายกลับคืนมา

การสนับสนุนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งความเข้าใจ ความรู้ และทัศนคติที่ถูกต้อง จึงต้องพึ่งพาพลังอย่างมหาศาล และอาจถึงขั้นชวนเหนื่อยล้า แต่พึงระลึกไว้ตลอดเวลาว่า บทบาทและการแสดงออกของผู้สนับสนุนในช่วงเวลาอันยากลำบากนี่เอง คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขเปิดประตูบานต่อไปให้ผู้ที่รอดชีวิตจากประสบการณ์แสนเลวร้ายมาแล้วนั้น ได้ก้าวเดินต่อไปอย่างเข้มแข็ง

โปสเตอร์ภาพยนตร์ "พัทยาซอยสุดท้าย"

▶ มาร่วมหาทางออกของภัยร้ายในสังคมนี้ไปกับรัน รับชมภาพยนตร์ “พัทยาซอยสุดท้าย” ได้ทาง www.VIPA.me และ VIPA Application

“ Secret Story ” คอลัมน์น้องใหม่จาก VIPA ที่มาพร้อมเรื่องราวเจาะลึก มุมมองในมิติที่คุณอาจไม่เคยรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังของผลงานสารคดีคุณภาพ ที่เราไม่อยากให้คุณพลาดใน www.VIPA.me 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

VIPAdotMeSecret StoryVIPAปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศการล่วงละเมิดทางเพศภาพยนตร์สะท้อนสังคมหนังไทยเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศวิธีพูดคุยเพื่อสนับสนุนผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส

บทความ NOW แนะนำ