Secret Story | Great Art : Van Gogh & Japan อิทธิพลสุดล้ำลึกของญี่ปุ่นต่อศิลปะตะวันตก


Lifestyle

29 มี.ค. 67

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

Logo Thai PBS
Secret Story | Great Art : Van Gogh & Japan อิทธิพลสุดล้ำลึกของญี่ปุ่นต่อศิลปะตะวันตก

ในแวดวงผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ เรื่องราวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลต่อ วินเซนต์ แวนโก๊ะ หรือ ฟินเซนต์ ฟัน โคค อาจเป็นที่รับรู้กันดี แต่สำหรับเราทั่ว ๆ ไป อาจแค่เคยผ่านหูไม่บ่อยนัก การที่สารคดี Great Art : Van Gogh & Japan พาเราไปรับรู้ความรักอันยิ่งใหญ่ที่แวนโก๊ะมีต่อญี่ปุ่นจึงชวนให้ตื่นเต้นได้ไม่น้อย

และยิ่งน่าทึ่งเข้าไปใหญ่เมื่อเราได้รู้ด้วยว่า ไม่เฉพาะแวนโก๊ะ แต่ศิลปินตะวันตกยุคศตวรรษที่ 19 จำนวนมากต่างได้รับแรงบันดาลใจจากญี่ปุ่น อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งระดับ “คลั่งไคล้” จนถึงกับต้องบัญญัติคำว่า Japonism (ภาษาไทยใช้ว่า “คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น” หรือแปลง่าย ๆ ได้ว่าความนิยมอย่างสูงที่มีต่อศิลปะญี่ปุ่น) ขึ้นในปี ค.ศ. 1872 เลยทีเดียว

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ? และเกิดได้อย่างไร ? เราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อย้อนเวลากลับไปสู่บริบททางสังคมการเมืองช่วงกลางศตวรรษที่ 19 กันก่อน

ในเวลานั้น ญี่ปุ่นดำเนินนโยบายปิดประเทศมายาวนานกว่าสองศตวรรษ ด้วยการไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าสู่ดินแดนเพื่อป้องกันการรุกล้ำของอิทธิพลตะวันตก แต่แล้วสภาวะนี้ต้องสิ้นสุดลงอย่างกะทันหันในปี ค.ศ. 1853 เมื่อสหรัฐฯ นำกองเรือแล่นเข้าสู่อ่าวเอโดะ และบีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประตูสู่การค้าขายสากล นับจากนั้นเอง สินค้าญี่ปุ่นรวมถึงศิลปวัตถุอันหลากหลายก็หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป จุดประกายให้ชาวตะวันตกเกิดความตื่นตะลึงในวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างรวดเร็ว

“ภาพพิมพ์อุกิโยเอะ” หรือภาพพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ในยุคเอโดะ กลายเป็นงานศิลปะที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับต้น ๆ ทั้งเพราะการจัดวางองค์ประกอบละเอียดบรรจง การใช้สีสันสะดุดตา และการบอกเล่าเนื้อหาวิถีชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศิลปินตะวันตกผู้กำลังพยายามแสวงหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อจะหลุดพ้นจากขนบทางศิลปะอันเคร่งครัด เพราะอย่างนี้เองจึงไม่แปลกที่ศิลปินแนวอิมเพรสชันนิสม์ดูจะเปิดรับอิทธิพลใหม่นี้มากกว่าใคร ตัวอย่างเช่น ภาพ “Water Lilies and Japanese Bridge by” (ค.ศ. 1899) ของ โคลด โมเนต์ ที่ใช้เส้นสายภาพภูมิประเทศลักษณะเดียวกัน รวมถึงการสร้างมิติของภาพให้แบน เน้นแสงเงา จัดองค์ประกอบแบบไม่สมมาตร จัดวางตำแหน่งของศิลปะในฐานะส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และเน้นการเก็บเกี่ยว “ความรู้สึกแห่งห้วงเวลารื่นรมย์” มากกว่ารายละเอียด

Under Mannen Bridge at Fukagawa (ปี ค.ศ. 1830-1831) โดย คัตสึชิกะ โฮกุซาอิ
Water Lilies and Japanese Bridge by (ปี ค.ศ. 1899) โดย โคลด โมเนต์

แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าศิลปินตะวันตกตั้งหน้าตั้งตาลอกสไตล์ญี่ปุ่น ความจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นต้องเรียกว่าเป็นการผสมผสานงานศิลปะสองสายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ศิลปินยุโรป (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) ยังคงได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวทางสัจนิยมแบบนีโอคลาสสิก ทว่าได้นำเอาความเรียบง่ายของศิลปะภาพพิมพ์อุกิโยเอะและเรื่องราวของผู้คนธรรมดา เข้ามาใช้แทนที่รายละเอียดหรูหราและเรื่องราวชีวิตบุคคลชั้นสอง เป็นการปลดปล่อยศิลปินสู่อิสรภาพแบบใหม่

Woman Bathing Under Flower (ปี ค.ศ. 1800) โดย อุทางาวะ โตโยคุนิ
Olympia (ปี ค.ศ. 1863) โดย เอดัวร์ มาแน

ผลงานปี ค.ศ. 1863 ของ เอดัวร์ มาแน เป็นภาพผู้หญิงเปลือยกายที่ท้าทายมุมมองดั้งเดิมต่อภาพวาดสตรีในศิลปะตะวันตก องค์ประกอบแบนราบและสายตาเฉียบคมของนางแบบเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากภาพพิมพ์อุกิโยเอะอย่างชัดเจน
 

Bamboo Yards, Kyobashi Bridge (ปี ค.ศ. 1857) โดย อุทางาวะ ฮิโรชิเงะ
Nocturne: Blue and Gold – Old Battersea Bridge (ปี ค.ศ. 1872-1875) โดย เจมส์ แม็กนีล วิสต์เลอร์

ในภาพปี ค.ศ. 1872–1875 นี้ เจมส์ แม็กนีล วิสต์เลอร์ ศิลปินชาวอเมริกันก็ยังแสดงความหลงใหลต่อภาพพิมพ์อุกิโยเอะ ด้วยการนำสีและองค์ประกอบมาประยุกต์ใช้ บรรยากาศยามราตDe_pruimenboomgaard_te_Kameido-Rijksmuseum_RP-P-1956-743.jpegรีถูกเน้นด้วยโทนสีน้ำเงินและทอง

Plum Garden at Kameido (ปี ค.ศ. 1857) โดย อันโดะ ฮิโรชิเงะ
Flowering Plum Orchard (after Hiroshige ปี ค.ศ. 1887) โดย วินเซนต์ แวนโก๊ะ

ในผลงานปี ค.ศ. 1887 แวนโก๊ะวาดภาพต้นพลัมดอกบาน อุทิศให้แก่ภาพ "Plum Garden at Kameido" (ค.ศ. 1857) ของศิลปิน อันโดะ ฮิโรชิเงะ การใช้สีสันสดใสและกิ่งก้านสไตล์ญี่ปุ่น บ่งบอกความชื่นชมอย่างลึกซึ้งที่แวนโก๊ะมีต่อศิลปะแดนอาทิตย์อุทัย

เมื่อศตวรรษที่ 19 ล่วงเลยไป อิทธิพลของศิลปะญี่ปุ่นก็ผันแปรไปสู่ขบวนการศิลปะใหม่ ๆ อาทิ อาร์ตนูโว ซึ่งโดดเด่นด้วยรูปทรงจากธรรมชาติ และรายละเอียดอ่อนช้อยงดงาม ตัวอย่างชิ้นสำคัญก็เช่น "Portrait of Adele Bloch-Bauer I" (ค.ศ. 1907) ของ กุสทัฟ คลิมท์ ศิลปินชาวออสเตรีย ซึ่งใช้พื้นหลังเป็นทองคำอร่ามและมีองค์ประกอบที่เห็นได้ชัดถึงความรักที่เขามีต่อภาพพิมพ์อุกิโยเอะและศิลปะแบบริมปะ (Rinpa) จากเกียวโต หรือภาพ "Divan Japonais" (ค.ศ. 1892-3) ที่ อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก นำสไตล์ภาพพิมพ์ภาพนักแสดงคาบุกิมาประยุกต์ใช้ ทั้งด้วยการใช้สี การเน้นเส้นเข้ม และมุมมองแบนราบ
Wind God and Thunder God (ศตวรรษที่ 17) โดย ทาวารายะ โซทัตสึ

Portrait of Adele Bloch-Bauer I (ปี ค.ศ. 1907) โดย กุสทัฟ คลิมท์

 

โอทานิ โอนิจิ นักแสดงคาบุกิ (ปี ค.ศ. 1794) โดย โทชูไซ ชารากุ
Divan Japonais (ปี ค.ศ. 1892-1893) โดย อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก

กระเถิบเข้าสู่ยุคสมัยใกล้ตัวอีกสักนิด ในผลงาน “Echo: Number 25" (ค.ศ. 1951) แจ็กสัน พอลล็อก ก็แสดงความหลงใหลต่อศิลปะการเขียนตัวอักษรของญี่ปุ่นให้เราได้เห็น ขณะที่ "Mahoning" (ค.ศ. 1956) ของ ฟรานซ์ ไคลน์ เลือกใช้สไตล์รอยแปรงกวาดกว้างซึ่งสะท้อนถึงอิสรภาพของการเขียนตัวอักษรแบบญี่ปุ่น (และจีน) เช่นกัน

Echo Number 25 (ปี ค.ศ. 1951) โดย แจ็กสัน พอลล็อก
Mahoning (ปี ค.ศ. 1956) โดย ฟรานซ์ ไคลน์

ทั้งหมดนี้ทำให้เรากล่าวได้ว่า "Japonism" ต่อศิลปะตะวันตกในศตวรรษที่ 19 นั้นไม่ใช่แค่กระแสแฟชั่นทางศิลปะ แต่มันคือผลแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และอิทธิพลนี้ก็ยังคงทอดยาวมาถึงศิลปะสมัยใหม่ สานต่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกอย่างงดงาม

VIPA ชวนรับชม สารคดี Great Art: Van Gogh & Japan แวนโก๊ะกับศิลปะญี่ปุ่น หนึ่งในนิทรรศการที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก “นิทรรศการแวนโก๊ะกับญี่ปุ่น” นอกจากเป็นการแสดงผลงานของศิลปินชื่อดัง “วินเซนต์ แวนโก๊ะ” แล้ว สารคดีนี้จะพาไปรู้จักเบื้องลึกเบื้องหลังของผลงานภาพวาดของแวนโก๊ะที่มีความสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่น รับชมทาง www.VIPA.me

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Secret StoryVIPAdotMeสารคดี VIPAVincent Van Goghวินเซนต์ แวน โก๊ะงานศิลปะสารคดี Great Art : Van Gogh & Japan แวนโก๊ะกับศิลปะญี่ปุ่นศิลปะญี่ปุ่นศิลปะตะวันตกศิลปะ Japonismแวนโก๊ะ
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้เขียน: ธิดา ผลิตผลการพิมพ์

ผู้ก่อตั้ง Documentary Club คลับของคนรักสารคดี และหนังนอกกระแส