ทำอะไรก็ธรรม
“นวัตกรรมสื่อธรรมสร้างสรรค์สำหรับชีวิต”
สังคมเอี่ยมดี และอาบป่า ฟื้นชีวิต
เอี่ยมดี รีไซเคิล บริการจัดการขยะ บ้าน สำนักงาน และรับซื้อขยะรีไซเคิล ได้สร้างระบบการแบ่งปันอย่างยั่งยืน พวกเขาตั้งใจเปลี่ยนขยะและของเหลือใช้ เป็นโอกาสและคุณค่าใหม่ เพื่อมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน และเรื่องราวของ“การอาบป่า" หรือ ชินรินโยคุ (Shinrin-yoku) คือการให้คนได้ลองสัมผัสป่า ต้นไม้ ผืนดิน ผืนหญ้า ผ่านทุกประสาทสัมผัส
“อาเฌอ” ในนามของสัตว์ป่า และ “ศิราพร แก้วสมบัติ” ความเมตตาไร้พรมแดน
“ประสิทธิ์ คำอุด” มีอีกชื่อว่า อาเฌอ เกิดจากการวมกันของภาษาถิ่น ‘อา’ คำเรียกคนสนิท ‘เณอ’ หมายถึงต้นไม้ รวมมีความหมายถึง คนที่คุ้นเคยกับธรรมชาติ และคือความหมายของชีวิตเขาที่หลงใหลในต้นไม้จนทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่การอนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และได้สื่อสารความหลงใหลอันมากล้นเหล่านี้ผ่านการเล่าเรื่องและภาพถ่ายที่เต็มไปด้วยความหมายของชีวิต “ศิราพร แก้วสมบัติ” มนุษยธรรมและการศึกษาเป็นสิ่งไม่มีสัญชาติ ไม่มีพรมแดน การให้เด็กไม่ว่าสัญชาติใดได้เข้าถึงการศึกษาเพื่อติดอาวุธทางปัญญา หว่างเมล็ดพันธุ์แห่งสันติลงในใจ คือเส้นทางชีวิตที่เธอเลือก เพื่อโลกที่ดีขึ้นในฐานะผู้อำนวยการและเลขาธิการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อย่างที่ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า ศีลธรรมของยุวชนคือสันติภาพของโลก”
“forOldy” สุขสันต์วันสูงวัย และ “โอภาส ดวงจิตร” ธรรมะ ศิลปะ และสเก็ตบอร์ด
“forOldy” กลุ่มอาสาสมัครเพื่อผู้สูงอายุ ที่ใช้รอยยิ้ม การพูดคุยและการร่วมมือกันค่อย ๆ เจือความต่างของผู้คนในสังคม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้สูงวัยอย่างสง่างาม เจ็บป่วยอย่างสุขสบายและจากไปอย่างสงบสุข “โอภาส ดวงจิตร” ศิลปินผู้ใช้การ์ตูนสื่อสารธรรมะ แบ่งปันประสบการณ์ช่วงโควิด-19 ที่เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้เด็ก ๆ มาร่วมสร้างสรรค์ศิลปะที่สื่อสารเรื่องดี ๆ เพื่อสังคมผ่านสเก็ตบอร์ด สร้างทั้งความสุขและความดีไปพร้อมกัน
“หอจดหมายเหตุพุทธทาส” สื่อสารปณิธานพุทธทาสภิกขุ และ “ทูนหัวของบ่าว” ธรรมะ ธรรมแมว
“หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ)” ได้สืบสานงานพุทธทาสมาเป็นเวลา 12 ปี ทั้งเสียงบรรยาย ภาพถ่าย วีดิทัศน์ หนังสือ และวัตถุจดหมายเหตุของพุทธทาสภิกขุ “นัชญ์ ประสพสิน” เจ้าของเพจ “ทูนหัวของบ่าว” และบ้านพักพิงของเหล่าแมวจร “Catster by Kingdom of Tigers” เป็นผู้ที่รับแมวจรมาเลี้ยง ดูแล รักษาทั้งอาการทางกายและอาการทางใจ
“โรงเล่น เรียนรู้” พิพิธภัณฑ์เล่นได้ และ “แป้ง ปล้ำแรง” เสียงของผู้ก่อการดีย์
“โรงเล่น” พื้นที่เล่นสำหรับคนทุกวัย ชวนค้นพบสัจธรรมผ่านการเล่น บ่มเพาะกล้าที่จะเติบโตเป็นคนที่มีความมั่นคงทางจิตใจ “ณรัชต์หทัย เหมือนประสิทธิเวช” เจ้าของเพจ Pang Plumrang - แป้ง ปล้ำแรง วงดนตรีที่ใช้เสียงเพลงสร้างความสุขที่แตกต่างและผู้คนอาจหลงลืม
“ลมใต้ปีก” ของนกแก้วโม่ง และ “กรกนก” แสงที่ยังมองเห็นของคนตาบอด
“นกแก้วโม่ง” ในพื้นที่นนทบุรีลดลงจนอยู่ในภาวะวิกฤต ทว่าที่วัดสวนใหญ่ยังคงมีนกฝูงสุดท้ายอาศัยอยู่และได้รับการดูแลเพื่ออนุรักษ์ไว้โดยกลุ่มชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่ง “กรกนก ศิริวงษ์” ต้องสูญเสียการมองเห็นในวัยเพียง 23 ปี สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งพร้อมอุดมการณ์ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่มองไม่เห็น ส่งต่อโอกาสและความฝันช่วยเหลือผู้พิการทางการมองเห็นต่อไป
“เอ็มโซเฟียน” มาจากดิน อยู่กับดิน กลับสู่ดิน และ “สุดารัตน์” สาวน้อยวีลแชร์นักสร้างแรงบันดาลใจ
“เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา” ศิลปินเซรามิกที่หวนกลับสู่บ้านเกิดจังหวัดปัตตานี เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ที่ถูกตีตราว่าเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ผ่านงานศิลปะและแรงศรัทธา “สุดารัตน์ เทียรจักร” สาวน้อยวีลแชร์นักสร้างแรงบันดาลใจ จากคำถามที่ว่าทำไมเราถึงต้องเลือกมองที่ความทุกข์ และมองข้ามความสุขของชีวิต
“Trash Hero Pattani” ความสุขที่คุณเก็บได้ และ “ครูตุ๋ย” ในนามแห่งความรัก
“ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย” ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Trash Hero Pattani กลุ่มผู้พิชิตขยะแห่งปัตตานี ชุบชีวิตขยะให้กลายเป็นรองเท้าคู่ใหม่ แล้วใส่เรื่องราวปัญหาขยะส่งไปถึงผู้คนกว่า 10 ประเทศทั่วโลก "ครูตุ๋ย - อรัญญา นิติวัฒนานนท์” อดีตครูสอนภาษาอังกฤษโรงเรียนชื่อดัง ยอมทิ้งชีวิตสุขสบาย เปิดบ้านเพื่อดูแลเด็กด้อยโอกาส หวังเพียงอยากเห็นเด็ก ๆ มีอนาคตที่ดีขึ้น แม้บางครั้งขัดสนก็พยายามสู้ทุกวิถีทาง
“Buddha Last Man” พระอดีตสถาปนิก ผู้หาคำตอบชีวิต และ “เฮ็ดสกล” คนรุ่นใหม่ก้าวหน้ากลับบ้าน
“พระเอกลักษณ์ ณฎฐลกฺขโณ” พระเจ้าของเพจ Buddha Last Man อดีตสถาปนิกผู้แสวงหาคำตอบว่า เรามาจากไหน เรามาทำไม เราอยู่เพื่ออะไรแล้วเราจะไปไหน หลังจากใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความสุขทางโลกก็พบความสุขที่เติมเต็มจากการปฏิบัติธรรม เกิดเป็นเพจ Buddha Last Man เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น “เฮ็ดสกล” กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จังหวัดสกลนคร สวนกระแสจากเมืองกรุงมุ่งกลับบ้าน มองเห็นเอกลักษณ์งดงามเสน่ห์ของบ้านเกิด ริเริ่มสร้างเป็นแรงบันดาลใจส่งต่อกัน โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คิดตรงกัน รวมตัวผู้คนในชุมชนทุกวัย ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อให้บ้านเกิด เป็นบ้านของใจ มองสิ่งเก่าคิดด้วยมุมใหม่ มุ่งสู่ความสำเร็จที่เป้าหมายไม่ได้อยู่ไกล แต่กลับใกล้เพียงหาให้พบหัวใจดวงเดิม
เด็กบ้านเรียน (ไม่เหมือนกับ) เด็กเรียนที่บ้าน และ “จั๊ม ณัฐชยา” นักกฎหมายหัวใจเนิร์ด
“เด็กบ้านเรียน” หรือที่เรียกว่า โฮมสคูล หลายคนอาจเข้าใจว่าคือการเรียนที่บ้าน แต่จริง ๆ แล้วบ้านเรียนคือการที่พ่อแม่และครอบครัว จัดการเรียนรู้ร่วมกันกับลูก ฉะนั้นกระบวนการในการเรียนจะไม่เหมือนกับที่โรงเรียน ชีวิตอิสระของการเรียนรู้แบบนี้ต้องเจอกับความท้าทายอย่างไรบ้าง “จั๊ม ณัฐชยา” คนรุ่นใหม่ผู้มีเป้าหมายชัดเจนบนเส้นทางงานกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อม อะไรคือแรงขับเคลื่อนให้เด็กเนิร์ดอย่างเธอทิ้งงานเงินเดือนสูงมาจับงานด้านสิ่งแวดล้อม ซ้ำคดีแรกที่เธอได้ทำ ยังเป็นคดีที่ใช้เวลาต่อสู้มายาวนานเป็นสิบปี มาสำรวจสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการทำงานเพื่อความเป็นธรรมของเธอกัน
“วิชัย” นัก(ไม่)เรียนแห่งท่ามะไฟหวาน และ “คิลานธรรม” อาสาสมัครรักษาใจ
“วิชัย” ผู้รักศิลปะและงานอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นคนเรียนหนังสือน้อยแต่รู้เยอะ เรียนจากชีวิต เรียนจากประสบการณ์ เรียนจากธรรมชาติ และเรียนจากผู้รู้ เขานำทักษะของตนมาสร้างประโยชน์ต่อชุมชน วัดและคืนสู่หัวใจของตัวเอง “คิลานธรรม” มีหมายความถึงธรรมะสำหรับผู้เจ็บไข้ กลุ่มอาสาคิลานธรรมเป็นกลุ่มที่บำบัดทุกข์ทางใจให้กับผู้คนในสังคม เอาหลักพุทธศาสนาไปรวมกับจิตวิทยา ใช้หลักอริยสัจ 4 พาคนให้พ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏ