Thai PBS Verify พบบัญชี TikTok โพสต์คลิปวิดีโออ้าง จังหวัดที่ปลอดภัยที่สุดจากเหตุแผ่นดินไหวมี 22 จังหวัด แต่จากการตรวจสอบทั้งจากหน่วยงานรัฐและนักวิชาการ ล้วนระบุว่า พื้นที่ทั้งหมดที่อ้างไม่มีที่ใดปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์
แหล่งที่มา TikTok
Thai PBS Verify ตรวจสอบโพสต์ของบัญชี TikTok ชื่อ parn_praditsomabut โพสต์คลิปวิดีโอ ซึ่งมีข้อความระบุว่า “จังหวัดที่ปลอดภัยที่สุดจากแผ่นดินไหวมีประมาณ 22 จังหวัด ได้แก่ 1. จันทบุรี 2. ตราด 3. ระยอง 4. ชลบุรี 5. ฉะเชิงเทรา 6. ปราจีนบุรี 7. สระบุรี 8. สมุทรปราการ 9. สมุทรสาคร 10. สมุทรสงคราม 11. นครปฐม 12. สุพรรณบุรี 13. ราชบุรี 14. เพชรบุรี 15. ประจวบคีรีขันธ์ 16. สุราษฎร์ธานี 17. นครศรีธรรมราช 18. พัทลุง 19. สงขลา 20. ปัตตานี 21. ยะลา และ 22. นราธิวาส ดูกันเองนะจ๊ะ”
แต่เมื่อทำการตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวพบว่า ไม่ได้มีการแนบรายละเอียดอื่น ๆ แต่อย่างใด รวมถึงไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลดังกล่าวอีกด้วย
กรมทรัพยากรธรณี ยันแม้ไม่อยู่บนรอยเลื่อนก็ไม่ได้ปลอดภัย
เราตรวจสอบไปยัง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง (active faults) กระจายตัวอยู่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวน 16 กลุ่มรอยเลื่อน ที่พาดผ่านพื้นที่ต่าง ๆ ใน 23 จังหวัด 124 อำเภอ 421 ตำบล 1,520 หมู่บ้าน (ลิงก์บันทึก)
แต่ไม่ใช่ว่า ทุกจังหวัดหรือพื้นที่ที่รอยเลื่อนพาดผ่านจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแผ่นดินไหวเสมอไป ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แผ่นดินไหว ส่งผลกระทบแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ การเกิดและความรุนแรงของแผ่นดินไหว ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดของแผ่นดินไหว หรือตัวเลขที่วัดพลังงานที่ปลดปล่อยจากจุดศูนย์กลาง ความลึกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นระดับตื้นจะส่งผลแรงกว่าที่ลึก ระยะห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว พื้นที่ที่อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ก็จะรับรู้แรงสั่นสะเทือนเบากว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้ สภาพดินและโครงสร้างใต้ดินของพื้นที่นั้น ในพื้นที่ที่มีดินอ่อนจะรับรู้สั่นสะเทือนมากกว่าพื้นที่ที่เป็นหินแข็ง
ทั้งนี้ รายชื่อ 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ดังนี้
ภาคเหนือ
กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน – พาดผ่านจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่
กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง – พาดผ่านเชียงราย
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว – พาดผ่านจังหวัดเชียงราย
กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง – พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา – พาดผ่านจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย
กลุ่มรอยเลื่อนเถิน – พาดผ่านจังหวัดลำปาง แพร่
กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา – พาดผ่านจังหวัดพะเยา เชียงราย ลำปาง
กลุ่มรอยเลื่อนปัว – พาดผ่านจังหวัดน่าน
กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ – พาดผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์
ภาคกลางและตะวันตก
กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ – พาดผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย
กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน – พาดผ่านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก
กลุ่มรอยเลื่อนเมย – พาดผ่านจังหวัดตาก กำแพงเพชร
กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ – พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี
กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ – พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร
ภาคใต้
กลุ่มรอยเลื่อนระนอง – พาดผ่านจังหวัดระนอง ชุมพร พังงา ประจวบคีรีขันธ์
กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย – พาดผ่านจังหวัดกระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต
ภาพรอยเลื่อนมีพลัง 16 จุดในไทย
ความปลอดภัยจาก “แผ่นดินไหว” ขึ้นอยู่ที่การก่อสร้าง
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นถึงคลิปดังกล่าว โดยระบุว่า จังหวัดที่กล่าวมาแม้จะไม่ได้อยู่ในรอยเลื่อนที่สำคัญของประเทศไทยก็ตาม แต่หากเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าทั้ง 22 จังหวัดที่กล่าวมาจะปลอดภัย เพราะแรงสั่นสะเทือนสามารถส่งไปถึงทั้ง 22 จังหวัดได้อยู่ดี และจังหวัดที่มีการกล่าวอ้าง เช่น พัทลุง, สงขลา หรือ นครศรีธรรมราช ก็ยังถือว่าอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาจริง ๆ ก็สามารถสร้างผลกระทบอย่างหนักได้เช่นกัน (ลิงก์บันทึก)
อย่างไรก็ตามหากจะกล่าวว่า จังหวัดใดปลอดภัยที่สุด ก็สามารถตอบได้ว่าทุกจังหวัดถือว่าปลอดภัย หากมีการสร้างโครงสร้างให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือน ตามที่ระบุไว้ตามหลักเกณฑ์การก่อสร้างเพียงเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวทุกตารางนิ้ว แต่ด้วยการก่อสร้างที่มีมาตรฐานในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด
ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้หากจะกล่าวว่า 22 จังหวัดที่ระบุไว้ ถือเป็นจังหวัดที่ไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่าน ซึ่งในความเป็นจริง ถือว่ายังมีจำนวนจังหวัดที่ไม่มีรอยเลื่อนพาดผ่านมากกว่า 22 จังหวัดที่ระบุไว้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า แรงของการสั่นสะเทือนจะส่งไม่ถึง ยกตัวอย่างเหตุการณ์วันที่ 28 มี.ค. 68 ที่แม้แต่จังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวก็ยังรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนอยู่ดี จึงถือได้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวปลอม