"ผมถูกจ้างมาให้กังวล" ตัวตนผู้ว่าแบงก์ชาติ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ"

เศรษฐกิจ
5 พ.ค. 67
14:14
30,271
Logo Thai PBS
"ผมถูกจ้างมาให้กังวล" ตัวตนผู้ว่าแบงก์ชาติ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้อยู่ในทุกยุควิกฤตเศรษฐกิจไทย ก้าวเท้าจาก "ธนาคารโลก" สู่ผู้ขับเคลื่อน "วังบางขุนพรหม" หรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 21 ลำดับที่ 24 "นักเศรษฐศาสตร์" ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ

10 นาทีสุดท้ายของการสมัคร "ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รอบ 2" นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ถึงได้ข้อสรุปให้ตัวเอง ยื่นชื่อสมัครตำแหน่ง ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ต่อมามติ ครม.วันที่ 29 ก.ค.2563 แต่งตั้ง นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่

ไม่มีเพื่อนสนิทแต่มีเพื่อนที่หลากหลาย

ด้วยความเป็นลูกชายนักการทูต ชีวิตของ นก-เศรษฐพุฒิ จึงเติบโตมาท่ามกลาง "การเดินทาง" เขาบอกตัวเขาเองไม่ค่อยมีเพื่อนสนิทเพราะต้องย้ายประเทศทุกครั้งตามภารกิจของครอบครัว แต่จุดแข็งที่เขามองเห็นจากวิกฤตการไม่มีเพื่อนแท้คือ "เขามีเพื่อนที่หลากหลาย" 

หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ และ ปริญญาโท-ปริญญาเอกในสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล "ดร.นก" เริ่มงานที่แรกในบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ชื่อดัง "แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี" ที่นิวยอร์ก เขาเล่าว่าที่นี่ให้โอกาสคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กใหม่หรือคนที่อยู่มานาน คอนเซปต์ของบริษัทคือต้องส่งมอบของที่ดีที่สุดให้ลูกค้า นั่นหมายถึงพนักงานทุกคนต้องกล้าเถียง กล้าเรียกร้อง เพื่อให้ได้ "สิ่งที่ดีที่สุด" ส่งให้ผู้รับบริการ  

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

อ่านข่าว : นายกฯ ปฏิเสธกดดัน "ผู้ว่าแบงก์ชาติ" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

Export to World Bank - Import to BOT

จากนั้นเขาเข้าทำงานที่ธนาคารโลก (World Bank) กว่า 10 ปี ประสบการณ์การทำงานระดับโลกทำให้ นายเศรษฐพุฒิจึงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มองความมีเสถียรภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจระดับมหภาคเป็นสำคัญ 

การมองภาพระยะยาวมากพอ จะทำให้การประเมินความเสี่ยงต่ำลง 

ในสมัยวิกฤติเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง 2540" นายเศรษฐพุฒิถูกรัฐบาลสมัย นายกฯ ชวน หลีกภัย เรียกตัวมาช่วยงานในตำแหน่งผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง กระทรวงการคลัง ร่วมกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนก่อนหน้าเขา นายเศรษฐพุฒิมองว่าตัวเขาเองก็เจอวิกฤตทางการทำงานเช่นกัน จากคนที่โตในเมืองนอก ทำงานบริษัทต่างชาติ การกลับมาทำงานร่วมกับคนไทยที่ค่อนข้างมีพิธีรีตอง ลำดับชั้นยศ จึงเป็นความท้าทายแรกๆ หรือ Culture shock สำหรับเขา 

แต่มุมมองของคนที่ทำงานธนาคารโลก เมื่อวันที่ต้องมานั่งอยู่อีกฝั่งในฐานะตัวแทนประเทศไทยเจรจากับ IMF และธนาคารโลก จึงทำให้นายเศรษฐพุฒิมองขาดว่า ธนาคารโลกมองประเทศไทยอย่างไร การเจรจาจึงง่ายขึ้น 2 ปีต่อมา ทีมเศรษฐกิจที่นำโดยผู้ว่าการแบงก์ชาติ 2 คน (ดร.วิรไท และ ดร.เศรษฐพุฒิ) ก็สามารถพาเศรษฐกิจไทยก้าวพ้นวิกฤติต้มยำกุ้งได้ นายเศรษฐพุฒิจึงตัดสินใจลาออกกลับไปทำงานที่ธนาคารโลกอีกครั้ง 

จนในปี 2548 ในยุคนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เชิญนายเศรษฐพุฒิ กลับสู่เส้นทางการเงินการคลังของประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยการดำรงตำแหน่ง "ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่" ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และจากนั้นเขาก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในสถาบันการเงินระดับประเทศอีกมากมาย จนก้าวขึ้นสู่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

อ่านข่าว : หลายฝ่ายโต้กลับ "อุ๊งอิ๊ง" วิจารณ์ "ธปท."อุปสรรคพัฒนาประเทศ? 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

หน้าที่ของคนแบงก์ชาติ "ถูกจ้างมาเพื่อกังวลแทนคนอื่น"

บนหอคอยงาช้างหลังกำแพงบางขุนพรหม ที่รายล้อมด้วยวิกฤตโควิด-19 ขณะที่นายเศรษฐพุฒิเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เมื่อปี 2563 เขามีหน้าที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจให้กลับมา  

เขาจ้างมาให้เรากังวล เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะโดยหน้าที่ เรากังวลและระแวงแทนคนอื่นไปแล้ว

เขาปลอบใจตัวเองบนความกังวลแรกที่ต้องรับแก้ในวิกฤตขณะนั้น การทำให้ "การท่องเที่ยว" กลับมาด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) การท่องเที่ยวจะกลับมาได้ขึ้นอยู่กับวัคซีน สิ่งที่น่ากังวล คือ เราจะมีวัคซีนพอฉีดไหม การหยุดวิกฤตโควิดต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ไม่เช่นนั้น เราก็จะติดกับดักวงจรอุบาทว์ ระบาดระลอกใหม่-ล็อกดาวน์-รัฐเยียวยา-เริ่มมาตรการฟื้นฟู-การ์ดตก-ระบาดใหม่ วนไปไม่มีวันหลุดพ้น

"ประเทศไทยไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนทางเศรษฐกิจมานาน เราซื้อเวลาด้วยการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ให้ตัวเลขออกมาดูดี สนับสนุนให้คนเป็นหนี้กู้ง่าย การบริโภคก็เลยดูดี เศรษฐกิจก็โตขึ้นมาได้ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว"

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อกังวลต่อมาคือเรื่อง "หนี้" ที่หลังโควิดคลี่คลายจะเกิดการทำธุรกิจยุค New Normal ผู้ประกอบการควรปรับรูปแบบ โครงสร้างทางธุรกิจรองรับ 

และสุดท้ายคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยผลพวงจากวิกฤตโควิด-19 จะขยายแผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งรุนแรงขึ้น ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมากจะเป็น "ตัวฉุด" การฟื้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน ซึ่งจะซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา 

เศรษฐา - เศรษฐพุฒิ - เศรษฐกิจ

จนถึงปี 2567 ที่ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลเศรษฐาที่ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกนโยบาย "ลดดอกเบี้ย" เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้ว่าฯ ปฏิเสธและยืนยังยังคงใช้นโยบายดอกเบี้ยเดิม โดยเขาระบุว่า ดอกเบี้ยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การตัดสินใจทำอะไร ต้องมีการอิงกับข้อมูล ภาพรวม และต้องดูผลเกี่ยวเนื่องระยะยาว ไม่ใช่แค่ผลระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของระบบการเงิน

การแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุดคือ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ ธปท.ได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยการบังคับผ่านธนาคารทุกแห่ง

ก่อนหน้านี้ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเองก็เคยส่งหนังสือทักท้วงขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากที่นายกฯ ประกาศว่า มติ ครม.เห็นชอบเดินหน้าแจกเงินหมื่นให้ประชาชน 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา 

อ่านข่าว : 

"แบงก์ชาติ" ส่งหนังสือด่วนถึง ครม. แนะทบทวน "ดิจิทัล วอลเล็ต"

"เศรษฐา" เคาะไตรมาส 4 แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ครม.ใหม่เศรษฐา1/1 เข้าทำเนียบวันแรก-ถ่ายภาพหมู่

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย, บทสัมภาษณ์ Banking on the Future นิตยสาร Optimise 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง