เปิดคุณสมบัติ "กัญชา" กับการรักษาโรคทางจิตเวช


Thai PBS Care

25 เม.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
เปิดคุณสมบัติ "กัญชา" กับการรักษาโรคทางจิตเวช

เป็นข่าวที่ผู้คนสนใจ กรณีดาราหนุ่ม  โพสต์ประกาศ “เลิกกัญชาถาวร” โดยเนื้อหาสำคัญ บอกถึงการใช้กัญชา (ที่มากเกิน) จนมีผลให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติ และกระทบไปยังอาการของโรคซึมเศร้า 

ที่ผ่านมา กัญชา ถูกนำไปใช้บำบัดอาการป่วยหลายประการ รวมถึงโรคทางจิตเวช แต่แท้จริงแล้ว กัญชา สามารถบำบัดอาการทางจิตเวชได้จริงหรือไม่ มากไปกว่านั้น ยังมีผลทำให้อาการทางจิตเวชแย่ลงหรือเปล่า Thai PBS รวบรวมหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับ “กัญชา” มาบอกกัน

คุณสมบัติของ “กัญชา” 

กัญชา เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า และมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. แพทย์ไทยและแพทย์ฝั่งตะวันตก พบคุณสมบัติที่สอดคล้องกันของกัญชา กล่าวคือ มีฤทธิ์แก้คลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นความอยากอาหาร นอนไม่หลับ ลดความวิตกกังวล ลดอาการปวดเรื้อรัง และกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก

พืชกัญชา

ทั้งนี้ กัญชามีสารสกัดที่สำคัญ และมักนำมาใช้ทางการแพทย์อยู่ 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่งคือ Delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) มีฤทธิ์สำคัญคือ ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม ผ่อนคลายความวิตกกังวล รู้สึกเป็นสุข ส่วนชนิดที่สองคือ Cannabidiol (CBD) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่าชนิดแรก ใช้ลดอาการอักเสบบริเวณปลายประสาท และลดปวดในระบบประสาท รักษาโรคเจ็บปวดเรื้อรัง โรคปวดเส้นประสาท กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และโรคลมชักในเด็ก

“กัญชา” ช่วยลดอาการซึมเศร้า ได้หรือไม่ ?

สารสกัดกัญชา มักถูกใช้ในกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเครียด โรควิตกกังวล เนื่องจากพบว่า กัญชามีกลไกเข้าไปลดการกระตุ้นในสมอง ทำให้อาการดีขึ้นร่วมกับการนอนหลับ ส่วนการใช้กับโรคซึมเศร้า ยังไม่มีผลการวิจัยที่ชัดเจน 

ในทางตรงข้าม พบว่า การใช้กัญชา เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า เนื่องจากสาร THC ในกัญชา ทำให้สารสื่อประสาทในสมองมีการเปลี่ยนแปลง มีผลเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความคิดที่มีปัญหาขึ้นได้ สุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตาย

“กัญชา” มีประโยชน์กับอาการจิตเวชอื่น ๆ หรือไม่ ?

แม้กัญชาจะมีผลทำให้ ลดความวิตกกังวล ผ่อนคลาย ช่วยให้นอนกลับ แต่ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่า กัญชาไม่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค และอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงได้ 

เช่น กลุ่มโรควิตกกังวล ผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวล มีแนวโน้มที่จะใช้กัญชาเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา และเมื่อใช้บ่อย ๆ อาการโรควิตกกังวล ยังมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย 

มีรายงานว่า ผู้ที่ใช้กัญชามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตเวช มากกว่าคนที่ไม่ได้ใช้กัญชา 1.4 - 2 เท่า ขณะที่ผู้ป่วยที่มีโรคจิตเวชอยู่เดิม หากใช้ยากัญชา โรคจิตเวชที่เป็นอยู่อาจจะกำเริบขึ้นได้เช่นกัน

“กัญชา” ยังมีเรื่องที่ต้องพึงระวังอะไรบ้าง ?

แม้จะถูกนำมาใช้ร่วมทางการแพทย์ แต่กัญชายังเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม โดยเฉพาะกับ “ปริมาณการใช้” และความเหมาะสมในการรักษา ทั้งนี้มีสิ่งที่ต้องพึงระวังจากการใช้กัญชา เช่น… 

  • ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยอายุน้อย (ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป) เพราะกัญชามีผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง
  • ไม่ควรใช้กัญชา ในกรณีผู้ป่วยมีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางจิตเวช ผู้ติดยา 
  • ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์
  • ไม่ควรให้ผู้ป่วยใช้กัญชาที่ได้จากการสังเคราะห์
  • ไม่ควรใช้กัญชาในความถี่สูง หรือมีความเข้มข้นสูง เสี่ยงเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

แม้จะได้รับการนำมาใช้ทางการแพทย์ แต่ “กัญชา” ยังคงต้องได้รับการศึกษาที่มีความชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากยังปรากฏ “ผลข้างเคียง” ที่เป็นอันตราย สุดท้ายควรใช้ตามดุลพินิจของแพทย์ และเลือกใช้ตามความเหมาะสม อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยเสมอ

แหล่งข้อมูล
-กัญชาในตำรับยาไทย 
-ตอบข้อสงสัย “สารสกัดกัญชา” ผลกระทบต่อจิตเวช 

-การใช้สารสกัดกัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต

อ่านข่าวอื่น ๆ
-"หมอชลน่าน" ลงนาม "ร่าง พ.ร.บ.กัญชาใหม่" ห้ามสันทนาการ 
-เตรียมถก "กัญชา" คืนบัญชียาเสพติด 
-โฆษณาขายผลิตภัณฑ์ที่มี "กัญชา-กัญชง" เกินจริง โทษถึงจำคุก 
-"เยอรมนี" ประเทศที่ 9 ของโลกไฟเขียว "กัญชา" เพื่อสันทนาการ 
 

ดูวิดีโออื่น ๆ

-แนวทางการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย | รู้สู้โรค | คนสู้โรค

-กัญชากับการกลับมาเป็นยาเสพติด | Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กัญชาโรคซึมเศร้าโรคจิตเวช
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ