คอนเทนต์ไทย-เอเชีย ในตลาดต่างประเทศ

Logo Thai PBS
คอนเทนต์ไทย-เอเชีย ในตลาดต่างประเทศ
หลายปีที่ผ่านมา คอนเทนต์ต่างๆ ในเอเชียถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดมากขึ้น ไม่ใช่แค่เพื่อความแปลกใหม่ในตลาดโลก หากเป็นเพราะอุตสาหกรรมหนังเอเชียกำลังเติบโตจนทำรายได้เป็นที่น่าพอใจ และอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าเอเชียจะก้าวมามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมหนังโลก

 

ความสยองขวัญที่เกิดขึ้นกับคู่รักชาวอเมริกันที่เดินทางมาพักผ่อนในไทย แต่กลับต้องเจอดีเมื่อเดินทางไปพบกับสุสานศาลพระภูมิ เรื่องเล่าแบบไทยๆ ที่ถ่ายทอดในภาพยนตร์เรื่อง Ghost House ผลงาน 2 พี่น้องนักทำหนัง "แร็กส์เดล" ซึ่งเคยฝากหนังสยองขวัญเรื่อง The Curse of El Charro มาแล้ว ใช้เวลาเขียนบทเกือบ 1 ปีเต็ม หลังมาไทยและได้เห็นความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และไสยศาสตร์ ส่งฉายหลายประเทศเอเชียทั้งมาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา รวมถึงรัสเซีย, ตุรกี, แคนาดา, แอฟริกาใต้ และอเมริกา ซึ่งเตรียมเปิดรอบพรีเมียร์หลังจากนี้

ริช แร็กส์เดล เควิน แร็กส์เดล ผู้กำกับ-โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ 2 พี่น้องนักทำหนังบอกว่าเรื่องความเชื่อของคนในเอเชียมีความน่าสนใจ และน่าดึงดูดคนดูมาก เรื่องราวค่อนข้างแข็งแรง จนทำให้ผู้กำกับในอเมริกาหรือหลายประเทศมักหยิบมานำเสนอ ซึ่งเขาทั้ง 2 คนยังทำรีเสิร์ชด้วยการศึกษาหนังผีไทยทั้งนางนาค, The Eyes คนเห็นผี และชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ที่เคยถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคในแบบฉบับของฮอลลีวูดมาแล้ว

นอกจากคอนเทนต์ฝั่งเอเชียจะถูกนำไปสร้างเป็นหนังบ่อยครั้ง หลายปีมานี้ฮอลลีวูดยังดึงนักแสดงดังเอเชียไปร่วมงานด้วย เช่น คริส วู อดีตบอยแบนด์วง EXO ใน XXX : Return of Xander Cage และ Valerian, ฟ่าน ปิงปิง ใน X-MEN : DAY OF FUTURE PAST รวมถึง จา พนม ใน Fast & Furious 7 เพื่อตีตลาดเอเชียได้ง่ายขึ้น จากข้อมูลล่าสุดพบว่าอุตสาหกรรมหนังทั่วโลก รายได้กว่าครึ่งมาจากฝั่งเอเชียทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีนที่มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน และมีโรงหนังทั่วประเทศถึง 7,000 โรง การขยับตัวของยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมหนังเอเชียนี้ จึงอาจช่วยกระตุ้นวงการหนังในภูมิภาคได้มาก

นอกจากนี้ นักแสดงและคอนเทนต์แถบเอเชียยังกลายเป็นจุดขายให้กับผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเช่นเรื่อง OKJA ที่ Netflix ออกทุนสร้างให้ผู้กำกับเกาหลี เล่าความสัมพันธ์ของเด็กหญิงจากครอบครัวเกษตรกรกับเจ้าหมูพิเศษโอคจา โดยมีดาราฮอลลีวูดร่วมแสดง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง