ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนถูกยกให้เป็นนายธนาคารผู้จัดหาเงินทุนให้กับโลกกำลังพัฒนา แต่ตอนนี้ สถานะนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไป และจีนอาจจะได้ชื่อว่า เป็นหัวหน้าผู้เรียกเก็บหนี้ก้อนโตแทน
Lowy Institute ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายการเมือง ยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของออสเตรเลีย เผยแพร่รายงานวิจัยเกี่ยวกับการปล่อยกู้และเรียกเก็บหนี้ของจีน โดยระบุว่า ตอนนี้ ประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับระลอกคลื่นของการชำระหนี้และดอกเบี้ยที่กู้ยืมมาจากจีน
หนี้ที่ประเทศเหล่านี้จะต้องจ่ายให้กับจีนในปี 2568 นี้ ทั้งหมดจะอยู่ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และคาดว่า ตัวเลขจะสูงเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตลอดช่วงทศวรรษนี้ หลังจากจีนเป็นประเทศแหล่งเงินทุนรายใหญ่ที่สุดของประเทศกำลังพัฒนา กินสัดส่วนหนี้ที่ต้องจ่ายในปีนี้มากกว่าร้อยละ 30
โดย 54 ประเทศ จากทั้งหมด 120 ประเทศกำลังพัฒนา ต้องจ่ายหนี้ให้จีนในตัวเลขที่สูงกว่าที่ต้องจ่ายให้กลุ่มประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ หรือที่เรียกว่า Paris Club รวมกันทั้งหมดเสียอีก
จุดที่น่ากังวล คือ กลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและเปราะบาง 75 ประเทศ โดยในปีนี้ จะต้องจ่ายหนี้และดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับจีนสูงกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงทำสถิตินับตั้งแต่จีนเริ่มผันตัวเป็นเจ้าหนี้ในช่วงหลังปี 2543 เป็นต้นมา ก่อนที่ตัวเลขนี้จะลดลงเรื่อย ๆ มาอยู่ที่หลัก 9,000 ล้านกว่าๆ ในปี 2573

ขณะที่ถ้าดูตัวเลขการชำระคืนหนี้ ย้อนขึ้นไป จะเห็นว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 8,000 ล้าน ขึ้นเป็น 12,000 ล้าน ก่อนที่จะกระโดดขึ้นไปเป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2563 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่จีนเก็บหนี้และดอกเบี้ยเป็นมูลค่าสูงกว่าตัวเลขปล่อยกู้ให้กับประเทศยากจน และเป็นที่น่าสังเกตว่า ปีนั้นคือปีที่โควิด-19 เริ่มระบาดหนัก
จีนปล่อยเงินกู้ให้กับประเทศรายได้น้อยและเปราะบาง เพิ่มแตะระดับสูงสุดอยู่ที่มากกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่ สี จิ้นผิง ปธน.จีน เปิดตัวข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง หรือ BRI ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าด้วยกัน

แต่ว่านับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ตัวเลขการปล่อยกู้ของจีนก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ และต่ำที่สุดในปี 2565 ซึ่งจุดนี้สวนทางกับการเก็บหนี้และดอกเบี้ย
โดยรายงานของสถาบันวิจัยในออสเตรเลียชิ้นนี้ ระบุว่า แรงกดดันจากเจ้าหนี้จีนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนากำลังลำบาก เพราะต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ก้อนโต ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก จากความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลทรัมป์ 2.0 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระงับเงินช่วยเหลือต่างชาติที่สหรัฐฯ มอบให้กับทั่วโลก
สถานการณ์เช่นนี้บีบให้ประเทศที่มีรายได้น้อยจำเป็นต้องตัดลดรายจ่ายสำคัญ ๆ หลายก้อน เช่น สาธารณสุข การศึกษา การลดความยากจนและการปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกร้อน
แม้ว่าจีนจะปล่อยกู้น้อยลงจากหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งรวมถึงสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่อู้ฟู่เหมือนในอดีต แต่มีอยู่ไม่กี่กลุ่มที่ยังสามารถกู้เงินจากจีนได้ กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ยอมตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันและหันมาซบอกจีน เช่น ฮอนดูรัสและหมู่เกาะโซโลมอน

ขณะที่ประเทศที่มีผลประโยชน์ที่จีนต้องการก็มักจะได้รับสิทธิพิเศษเช่นกัน เช่น ประเทศผู้ส่งออกแร่ที่ใช้สำหรับผลิตแบตเตอรีและแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย บราซิลและอาร์เจนตินา นอกจากนี้ก็ยังมีประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดจีน อย่างปากีสถาน คาซัคสถานและมองโกเลีย ก็ได้กู้เงินก้อนใหญ่เพราะถือเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์
เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ออกมาโต้ หลังถูกถามเรื่องรายงานวิจัยออสเตรเลีย โดยย้ำว่า การลงทุนและความร่วมมือทางการเงินของจีนกับประเทศกำลังพัฒนา เป็นไปตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ระเบียบปฏิบัติของตลาด และหลักการความยั่งยืนของหนี้
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า บางประเทศตั้งป้อมโจมตีจีนเรื่องหนี้ แต่กลับเลี่ยงไม่พูดถึงสถาบันทางการเงินและประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่และเรียกเก็บหนี้จากประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน
ที่น่าสนใจ คือ รายงานฉบับนี้ ระบุว่า ตอนนี้ จีนกำลังเผชิญกับทางสองแพร่ง โดยด้านหนึ่ง จีนถูกกดดันทางการทูตเพื่อให้ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยประเทศที่กำลังลำบาก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีแรงกดดันภายในประเทศในการเรียกเก็บหนี้คืน เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่กำลังมีปัญหา แต่จีนจะเลือกทางไหนต้องรอดู เพราะการยื่นมือช่วยประเทศยากจน เท่ากับว่า จีนได้ซื้อใจและได้อิทธิพลในประเทศนั้น ๆ ไปพร้อมกันด้วย
วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวอื่น :