บทวิเคราะห์ : 18 ปี ตากใบ กับเสียงคนปักษ์ใต้

การเมือง
27 ต.ค. 65
14:32
799
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : 18 ปี ตากใบ กับเสียงคนปักษ์ใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เป็นเรื่องร้อนฉ่า รับครบรอบ 18 ปี กรณีตากใบ ซึ่งเป็นเหตุการณ์เลวร้ายคร่าชีวิตผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ประมาณ 80 คน

ทั้งจากความพยายามสลายกลุ่มผู้ชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจและช็อก ระหว่างถูกลำเลียงบนรถบรรทุกของทหาร จาก อ.ตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี

เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ค่ายปิเหล็ง” 4 มกราคม ปีเดียวกัน เพียงประมาณ 10 เดือน

และก่อนหน้านั้น วันที่ 28 เมษายน 2547 ก็เกิดโศกนาฎกรรมหมู่ หลังเจ้าหน้าที่ล้อมปราบชาวมุสลิม ที่โจมตีจุดตรวจหน้ามัสยิสกรือเซะ ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี

ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต่อเนื่องอีกหลายครั้ง หลังคำพูดของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลานั้น ที่ออกปากว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้เป็นฝีมือพวก “โจรกระจอก”

สร้างความเจ็บช้ำเจ็บปวดให้กับครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ในพื้นที่ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ชายแดน รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ ปฏิเสธพรรคการเมืองใหญ่ที่เป็นแกนนำรัฐบาล อย่างไทยรักไทย ต่อเนื่องถึงพรรคพลังประชาชน กระทั่งพรรคเพื่อไทย

แม้ในจังหวัดอื่น ภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย จะปรากฏพรรคการเมืองตระกูลดังกล่าว ปักธงยึดเก้าอี้ ส.ส.ทั้งยกจังหวัด หรือครองเสียงส่วนใหญ่ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว แต่ไม่เคยปักธง ส.ส.เขต ได้เลยแม้แต่คนเดียวในภาคใต้ จึงถือเป็น “จุดบอด” ใหญ่ที่สุดมาแต่ไหนแต่ไร

และคนภาคใต้ยังถือเป็นขุมกำลังหลัก สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาลตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรขับไล่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร กระทั่งถึงกลุ่ม กปปส.ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การออกโรงขอโทษผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ผ่านทาง CareTalk x Care Club House เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้สั่งการใด ๆสำหรับการสลายการชุมนุมเมื่อ 18 ปีก่อน และโบ้ยว่า เป็นฝีมือของกลุ่มทหารที่ไม่เอาตน ที่เคลื่อนไหวต่อเนื่อง จนถึงวันรัฐประหารปี 2549

นอกจากจะมีนัยยะขออภัย อย่างเป็นกิจจะลักษณะ จากเหตุการณ์ครั้งนั้นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังแอบหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่กำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งหน้า ที่จะมีขึ้นในอีกไม่นานข้างหน้านี้ สำหรับเสียงสนับสนุนเลือกพรรคเพื่อไทยด้วย

หลังจากผลสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล ครั้งหลังสุด ปรากฏว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวนายทักษิณ มีคะแนนนิยม 13 % อยู่อันดับ 2 รองจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้คะแนนนิยม 24 % สำหรับบุคคลที่มีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ในส่วนคะแนนนิยมเลือก ส.ส.เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยก็อยู่อันดับ 2 ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ รองจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์

แต่ความหวังจะบรรลุเป้าหรือไม่ อยู่ที่คนภาคใต้จะให้คำตอบ


วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง