เลือกตั้ง2566 : เปิดประวัติ "จาตุรนต์" ผู้ห้ามทัพ "ก้าวไกล-เพื่อไทย"

การเมือง
26 พ.ค. 66
09:11
9,218
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง2566 : เปิดประวัติ "จาตุรนต์" ผู้ห้ามทัพ "ก้าวไกล-เพื่อไทย"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แกนนำพรรคเพื่อไทย "จาตุรนต์" เตือนสติ พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหนักแน่น ร่วมกันตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ต้องช่วยกันดับไฟที่กำลังไหม้ ตัดไฟแต่ต้นลมไม่ใช่ให้ไฟลามไหม้บ้าน

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่มีคะแนนการเลือกตั้งอันดับ 1 โดยได้มีการ MOU 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาลกันไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางการจับตาของหลายฝ่าย

ซึ่งก่อนหน้านี้การจัดตั้งรัฐบาลมีประเด็นเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการวิวาทะ ระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย 

ล่าสุดวันนี้ (25 พ.ค.) นายจาตุรนต์เองได้ทวีตข้อความ 

"เรื่องระหองระแหงกับเพื่อนเป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่เพื่อนกับเพื่อน ๆ กำลังร่วมกันทำงานใหญ่คือการตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตามที่ประชาชนมอบหมายมา ถ้าไม่สำเร็จ ถ้าตั้งไม่สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพื่อนทำให้ไม่พอใจบ้างก็ต้องอดทน
ถ้าความอดทนมีขีดจำกัดก็ต้องขยายขีดความจำกัดให้ได้"

อ่านข่าว เลือกตั้ง2566: "จาตุรนต์" ดับชนวนร้อนลั่นดับไฟในบ้าน 2 พรรค-เร่งตั้งรัฐบาล

ดูเหมือนว่างานนี้ นายจาตุรนต์จะเป็นคนที่คอยห้ามทัพกระแสที่ร้อนแรง พร้อมออกมาเตือนสติให้แต่ละพรรคหนักแน่น ไม่ควรจะเป็นเรื่องวิวาทะต่อสาธารณะ พรรคการเมืองควรหารือกันให้สำเร็จก่อน ไม่อยากให้ขยายจนกลายเป็นความขัดแย้ง

นายจาตุรนต์ ยังระบุอีกว่า ถ้าเกิดการกระทบกันก็ต้องอดทนไปจนกว่าจะตั้งรัฐบาลสำเร็จ ไม่ใช่ไม่พอใจระหว่างเพื่อนแล้วมาคว่ำไม่ตั้งรัฐบาล และต้องช่วยกันดับไฟที่กำลังไหม้ ตัดไฟแต่ต้นลมไม่ใช่ให้ไฟลามไหม้บ้าน

อ่านข่าว เลือกตั้ง2566 : "ศิริกัญญา" แถลงย้ำก้าวไกลต้องได้ตำแหน่ง "ประธานสภา"

สำหรับนายจาตุรนต์ ฉายแสง นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองชาวไทย ที่วงการการเมืองคุ้นเคยเป็นอย่างดี กับบทบาททางการเมืองอันยาวนาน และโดดเด่น 

นายจาตุรนต์ ชื่อเล่น อ๋อย เกิดเมื่อวันที่ 1 ม.ค.2499 ที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เป็นบุตรคนโตของอนันต์ ฉายแสง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฉะเชิงเทรา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ น.ส.เฉลียว ฉายแสง

นายจาตุรนต์ศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนต์หลุยส์ จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หลังจากนั้น เข้าเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเรียนชั้นปีที่ 4 เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา มีการกวาดล้างผู้นำนักศึกษา ทำให้เขาไปใช้ชีวิตในป่าระยะหนึ่ง โดยใช้ชื่อจัดตั้งว่า "สหายสุภาพ"

ภายหลังสถานการณ์คลี่คลายจึงกลับเข้าเมืองและตัดสินใจไปศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์ก ที่บัฟฟาโล สหรัฐอเมริกา และได้รับทุน Teaching ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐอเมริกา

เรียนต่อระดับปริญญาเอก จนสอบประมวลความรู้ (Comprehensive) แต่ไม่ได้ทำวิทยานิพนธ์

และกลับประเทศไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2529 และได้รับการเลือกตั้ง

ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง

นายจาตุรนต์ ก้าวเข้าสู่การเมืองครั้งแรกจากการชักชวนของผู้เป็นพ่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2529 ในนาม พรรคประชาธิปัตย์และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ฉะเชิงเทราสมัยแรก และสมัยที่ 2 ในปี 2531

และได้ย้ายมาร่วมงานกับพรรคประชาชน ซึ่งนำโดยนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคความหวังใหม่ และได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาโดยตลอด

จนกระทั่งในการเลือกตั้งปี 2544 จาตุรนต์ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อสังกัดพรรคไทยรักไทย จนกระทั่งเกิดรัฐประหารในปี 2549

ภายหลังรัฐประหาร นายทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ได้เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรครักษาการแทน

และตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคไทยรักไทยด้วยมติเอกฉันท์ในวันที่ 30 พ.ค.2550 

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 นายจาตุรนต์ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 39

หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ได้ถูกทหารควบคุมตัวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต ระหว่างการแถลงต่อผู้สื่อข่าว พร้อมถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ขัดคำสั่ง คสช., ยุยงให้เกิดความกระด้างกระเดื่องและให้ทำผิดกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และความผิดต่อความมั่นคงหรือก่อการร้ายตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ รวมมีโทษระวาง 14 ปี โดยถูกจำคุกที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนได้รับการปล่อยตัว ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 นายจาตุรนต์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ ลำดับที่ 2 แต่พรรคไทยรักษาชาติ ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก่อนวันเลือกตั้ง

ต่อมาได้กลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรค ในลำดับที่ 13

ตำแหน่งทางการเมือง

  • ปี พ.ศ. 2535 - 2538 ดำรงตำแหน่ง โฆษกพรรคความหวังใหม่
  • ปี พ.ศ. 2539 - 2540 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยเป็นการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรก ของนายจาตุรนต์ ฉายแสงในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
  • ปี พ.ศ. 2540 - 2542 รองเลขาธิการพรรคความหวังใหม่
  • ปี พ.ศ. 2542 - 2544 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการพรรคความหวังใหม่
  • ปี พ.ศ. 2544 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ปี พ.ศ. 2544 รองหัวหน้าพรรค สังกัดพรรคไทยรักไทย
  • ปี พ.ศ. 2545 เดือน มี.ค.2545 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ เดือน ต.ค.2545 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
  • ปี พ.ศ. 2548 เดือน มี.ค.2548 เป็นรองนายกรัฐมนตรี เดือน ส.ค.2548 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ปี พ.ศ. 2549 รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เปิดประวัติ "หมอชลน่าน" จากดาวสภาสู่ หน.เพื่อไทย คู่วิวาทะ "ศิธา"

เลือกตั้ง2566 : รู้จัก "ศิริกัญญา" ตัวเต็งหญิงคนแรก นั่ง รมว.คลัง

เลือกตั้ง2566 : “ศิธา ทิวารี” เป็นใคร? 

เลือกตั้ง2566 : คลิปจดหมายกัมปนาท-อุ๊งอิ๊ง ยันเพื่อไทยไม่ตั้งรัฐบาลแข่งก้าวไกล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง