น้ำท่วม "เคนยา" ระลอกล่าสุดตายอีกอย่างน้อย 45 คน

ต่างประเทศ
30 เม.ย. 67
08:07
294
Logo Thai PBS
น้ำท่วม "เคนยา" ระลอกล่าสุดตายอีกอย่างน้อย 45 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เคนยา" เผชิญน้ำท่วมหนักอีกระลอก มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 คน หลังจากน้ำท่วมต่อเนื่องจากฝนตกหนักกว่าปกตินานร่วมเดือน

เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2567 สำนักข่าวต่างประเทศ เผยแพร่ภาพจากโดรนที่เผยให้เห็นความเสียหายเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมือง Mai Mahiu ทางตอนกลางของเคนยา ห่างจากกรุงไนโรบี ประมาณ 30 กิโลเมตร มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 45 คน

ตลอดเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากฝนตกหนักและน้ำท่วมมากกว่า 140 คนแล้ว ขณะที่ประชาชนมากกว่า 185,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย นับตั้งแต่ก่อนเกิดน้ำท่วมระลอกล่าสุด

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ ระบุว่า น้ำท่วมและดินถล่มเมื่อวันที่ 29 เม.ย. ส่วนหนึ่งเกิดจากเขื่อนแตก ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมชุมชน แต่หน่วยงานชลประทานระบุว่าเกิดจากอุโมงค์ระบายน้ำใต้ทางรถไฟอุดตัน เพราะเศษซากวัสดุต่างๆ

ก่อนหน้านี้ กรุงไนโรบี เผชิญน้ำท่วมมาแล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ หลังฝนตกหนักต่อเนื่องและทำให้เคนยาเผชิญน้ำท่วมเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. เจ้าหน้าที่เตือนว่าเขื่อนกักเก็บน้ำสำหรับผลิตไฟฟ้ารองรับน้ำเต็มแล้ว และอาจนำมาซึ่งการล้นทะลักลงสู่ท้ายเขื่อนได้

เคนยา มีฝนตกหนักตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. แต่ฝนยิ่งตกมากขึ้นช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้น้ำท่วมรุนแรงมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากผลของปรากฏการณ์เอลนีโญร่วมด้วย โดยเมื่อช่วงฤดูฝนปลายปี 2023 แอฟริกาตะวันออกเกิดน้ำท่วมมากเป็นประวัติการณ์จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน

ขณะที่อีกปัจจัยหนึ่งคือปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ไดโพลในมหาสมุทรอินเดีย / ไดโพล - 2 ขั้ว ลักษณะคล้ายกับปรากฏการณ์เอลนีโญ / ลานีญา

อุณหภูมิผิวทะเลทางฝั่งตะวันตกและตะวันออกของมหาสมุทรจะแตกต่างกัน เปลี่ยนแปลงไปมาเป็นช่วงไม่แน่นอน แบ่งเป็นระยะที่เป็นบวก คือฝั่งตะวันตกอุ่นกว่าปกติ ส่วนฝั่งตะวันออกเย็นกว่าปกติ ทำให้ประเทศในแอฟริกาตะวันออกฝนตกหนักน้ำท่วม ส่วนประเทศทางตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ทั้งไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ฝนน้อยลงและแล้งมากขึ้น

อ่านข่าวอื่นๆ

อินเดีย-ฟิลิปปินส์สั่งหยุดเรียน "ร้อนจัด" กระทบการใช้ชีวิต

อวสานจุดเช็กอินสุดฮิต "ฟูจิ" จ่อตั้งแผงกั้นสูง 2.5 เมตรคุมท่องเที่ยว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง