ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลาออก vs ขับออก กระทบสถานะ สส.? หลัง "กฤษฎิ์" ขอ ปชน.ขับพ้นพรรค

การเมือง
14 พ.ค. 68
14:16
2,113
Logo Thai PBS
ลาออก vs ขับออก กระทบสถานะ สส.? หลัง "กฤษฎิ์" ขอ ปชน.ขับพ้นพรรค
อ่านให้ฟัง
05:15อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กลายเป็นกระแสร้อนแรง เมื่อ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.เขต 6 ชลบุรี พรรคประชาชน แถลงประกาศยุติบทบาทกับพรรคประชาชน และยื่นหนังสือให้พรรคประชาชนขับออกไปเมื่อ 11 เม.ย.2568 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาแต่อย่างใด

อ่านข่าว : "กฤษฎิ์" แถลงแยกทางพรรคประชาชน ซบ "กล้าธรรม"

ซึ่งให้เหตุผลที่ต้องการยุติบทบาท และต้องการให้พรรคขับออกโดยจะขอย้ายไปอยู่พรรคกล้าธรรมเนื่องจาก พรรคประชาชนมุ่งเน้นสร้างพรรค เน้นกระแส แต่ไม่สร้างบุคคล ทำให้การทำงานพื้นที่ไม่ได้ รวมถึงพูดจาไม่ดีในสถานะทางเพศ และมักมีการปล่อยข่าวว่าเป็นงูเห่า ทุกการเปลี่ยนแปลงของพรรค และเชื่อมั่นว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม จะช่วยส่งเสริมให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้

โดย สส.กฤษฎิ์ ยืนยันว่า ไม่ลาออก เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณการเลือกตั้ง ขอทำหน้าที่ต่อตามที่สัญญากับประชาชนในพื้นที่

ฟากฝั่งของพรรคประชาชนที่ออกมาตอบโต้ ว่าเหตุผลฟังไม่ขึ้น และหนังสือแจ้งขอยุติบทบาทด้วยการออกจากการเป็นสมาชิกพรรค บ่งชี้ว่า ไม่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคประชาชนอีกต่อไปหนังสือฉบับนี้ได้แสดงเจตจำนงเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าต้องการลาออกจากสมาชิกพรรคและต้องการให้ลาออกเพื่อจะได้มีการจัดเลือกตั้งขึ้นใหม่ในเขตนั้น

อ่านข่าว : "ดองงูเห่า" พรรคส้มเปิดปฏิบัติการสกัด "สส.กฤษฎิ์" ย้ายพรรค

การลาออก และการขับออกให้พ้นจากพรรคการเมือง มีความแตกต่างกันอย่างไร และจะส่งผลกระทบตัวสถานะของ สส. อย่างไร 

การลาออก

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 101 บัญญัติไว้ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง มี 13 กรณี โดยใน (3) ระบุว่าความเป็น สส.จะสิ้นสุดลงเมื่อลาออกจากความเป็น สส. และ (8) ความเป็น สส.จะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อลาออกจากพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิก ซึ่งหมายความว่า สส.ที่ลาออกลาออกจากพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ จะไปสังกัดอีกพรรคการเมืองหนึ่งไม่ได้

การขับออกจากพรรค

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 101 ยังระบุถึง สส.ย้ายจากพรรคหนึ่งไปอีกพรรคหนึ่งได้ โดยไม่สิ้นสุดสถานภาพความเป็น สส. ในกรณี

มาตรา 101 (9) การพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมืองนั้นด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมืองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น ในกรณีเช่นนี้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นมิได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายใน 30 นับแต่วันที่พรรคการเมืองมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่พ้น 30 ดังกล่าว

และมาตรา 101 (10) ความเป็น สส.จะไม่สิ้นสุดลงในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมือง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นเป็นสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น

"ลาออก" กับ "ขับออก" จึงส่งผลต่อสถานะของ สส.โดยตรง การยื่นใบลาออกต่อนายทะเบียนสมาชิกพรรค เท่ากับว่า บุคคลนั้นต้องพ้นสภาพสิ้นสุดความเป็น สส.ทันที 

ส่วนการถูกขับออกจากพรรค หมายความว่า บุคคลนั้นยังคงความเป็น สส.ต่อไป แต่มีเงื่อนไขว่าต้องหาพรรคสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน หรือถ้าเป็นกรณีถูกยุบพรรค สส.ต้องหาพรรคใหม่ให้ได้ภายใน 60 วัน

จึงไม่แปลกนักที่ สส.หลายคนที่ต้องการจะย้ายพรรคการเมือง โดยการให้พรรคการเมืองสังกัดเดิมขับให้พ้นพรรค เพราะการลาออกจะเกิดความสุ่มเสี่ยงสอบตกในการเลือกตั้งใหม่ 

อ่านข่าว : 

"เทพไท" เปิดเบื้องหลัง "สส.ขายตัว" ชี้ รธน.ปี 60 ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ

"ไผ่" จ่อร้องจริยธรรม สส.ปูด "ดูดประชาชน" ไป "กล้าธรรม"

อีสปในสภา! "งูเห่า" ฉายา สส. ย้าย "ภักดิ์" สะท้อนการเมืองไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง