ตู้บริจาคที่ตั้งตามจุดต่าง ๆ กว่า 185 ตู้ ในวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและปปท.นำไปตรวจสอบแล้ว บางส่วนพบว่า"อดีตเจ้าคุณแย้ม" พระธรรมวชิรานุวัตร หรือ "ทิดแย้ม อินทร์กรุงเก่า" วัย 69 ปี ได้เบิกออกจากบัญชีผิดวัตถุประสงค์และเบิกเกินจริง ทำให้พนักงานสอบสวน เตรียมพิจารณาเอาผิดคนสนิทเพิ่มเติม หลังพบข้อมูลมีการหิ้วเงินสด จากเงินทำบุญและค่าเช่าที่จัดงานวัดไปไว้ในกุฏิ โดยไม่ผ่านบัญชีการเงินของวัด
ในเวลาเพียงไม่ถึงสัปดาห์ วันนี้( 20 พ.ค.2568) เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปราม และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.)และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.)และสำนักงานคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ภายในวัดอย่างต่อเนื่อง
โดยใช้อำนาจกฎหมายตามมาตรา 65 ให้อำนาจ ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สามารถเรียกเอกสาร พยานหลักฐาน หรือเชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำ ได้ และ มีอำนาจในการเข้าตรวจสอบสถานที่ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนหรือการกระทำทุจริต เนื่องจากพบข้อมูลวมีการเปิดบัญชีธนาคาร กว่า 49 บัญชีจากฝ่ายจัดเก็บรายได้ และการเงินของวัด ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบที่มาของรายได้ และรายจ่ายทั้งหมด เพื่อหาช่องโหว่ในการยักยอกเงิน

เปิดรายได้วัดไร่ขิง"ขั้นต่ำ 5 หมื่น พีคสุด 1 ล้านบาท"
จากการตรวจสอบพบที่มาของรายได้วัดไร่ขิง เบื้องต้นพบว่า มีหลายช่องทาง ในแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาลหลายร้อยล้านบาท รายได้หลัก ๆ ที่วัดมีไร่ขิงได้รับ แบ่งเป็น
- รายได้จากตู้บริจาคเงินทำบุญต่าง ๆ มีจำนวน 185 ตู้ภายในวัด มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 50,000 บาทต่อวัน สูงสุดอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อวันในช่วงที่วัดจัดงานกิจกรรม
- รายได้จากการประมูลร้านค้างานประจำปี กว่า 10 ถึง 15 ล้านบาทต่อครั้ง
- รายได้จากแผงร้านค้าในพื้นที่ของวัด ที่ถูกจัดเป็นตลาด รายวัน จำนวนหลักแสนบาทต่อสัปดาห์
- รายได้จากงานทำบุญทอดผ้าป่า และทอดกฐินซึ่งส่วนใหญ่แล้วยอดทำบุญพบว่ามีจำนวนมากหลักแสนถึงหลักล้านบาทครั้ง
- รายได้จากการเช่าบูชาวัตถุมงคลของวัด
- และรายได้อื่น ๆ
พิรุธจัดทำบัญชีเงินวัด เจ้าหน้าที่วัดชี้แจงไม่ได้
จากข้อมูลการสอบสวน เจ้าหน้าที่พบความผิดปกติของบัญชีหลายประเภท และไม่เป็นระบบที่แน่ชัด โดยถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยเฉพาะเงินทำบุญทอดผ้าป่า และทอดกฐิน และเงินจากการประมูลเช่าที่จัดงานประจำปีของวัด และการเช่าแผงร้านค้า ที่พบว่ามีบุคคลใกล้ชิดนำเงินจากรายได้ส่วนหนึ่ง ขนเจ้าไปยังกุฎิของอดีตเจ้าอาวาส โดยไม่ผ่านบัญชีการเงินของวัด
ส่วนเงินจากตู้บริจาคที่มีมากถึง 185 ตู้ภายในวัด มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 50,000 บาท สูงสุดอยู่ที่วันละ 1 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงที่วัดจัดกิจกรรม หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

โดยเงินในจำนวนนี้ไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้อย่างเป็นระบบ ผู้เกี่ยวข้องยังไม่สามารถชี้แจงได้ครบถ้วน และถูกจัดเก็บไว้บัญชีใดบ้าง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบ ถึงเงินเข้าออกบัญชีอย่างละเอียด เนื่องจากพบความผิดปกติจากเงินในจำนวนนี้ว่าถูกอดีตเจ้าอาวาสยักยอกไป
"จ่ายค่าน้ำ-ไฟ" เกินจริง ใช้ผิดวัตถุประสงค์
สำหรับพฤติกรรมที่พบความผิดปกติ ข้อมูลจากการสอบสวน ระบุว่า มีการเบิกเงินออกจากบัญชีวัด และนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เชื่อมโยงจากบัญชีวัดอีกบัญชีหนึ่งไปยังอีกบัญชีหนึ่ง รวมถึงพบการเบิกค่าใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟของวัดที่เบิกเกินค่าใช้จ่ายเกินจริง
โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 800,000 บาทต่อเดือน แต่ถูกเบิกออกจากบัญชีมากกว่า 1 ล้านบาท จำนวนหลายครั้ง โดยนายแย้ม อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เป็นผู้ใช้อำนาจในการเบิกค่าใช้จ่ายในขณะนั้น
การตรวจสอบยังมีพยานบุคคลให้การกับพนักงานสอบสวนถึงพฤติกรรมของนายแย้ม มีพฤติกรรมเบิกเงินในช่วงเวลากลางคืนจนถึงกลางดึก เป็นจำนวนหลักแสนถึงหลักล้านบาท
สอดคล้องกับหลักฐานของตำรวจที่พบเส้นทางการเงินโอนไปให้นางสาวอรัญญาวรรณ และนายเอกพจน์ ในช่วงเวลากลางคืน หลายครั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงทั้งหมด
ขยายผลเอาผิด "ผู้ร่วมสนับสนุน" ร่วมยักยอกทรัพย์
แม้การขยายผลเอาผิดผู้ร่วมกระทำผิดคนอื่น ๆ ยังไม่ระบุชัดเจนว่า บุคคลใกล้ชิดนายแย้ม โดยเฉพาะ นางสาวเตยและสามี เข้าไปมีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนายแย้ม ยักยอกเงินวัด แต่แนวทางสืบสวนพบว่า หมอเตยและสามี มีอิทธิพลต่อการบริหารจัดการวัดเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเป็นคนที่ทำหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าที่ของร้านค้างานวัด-งานประจำ ปีต่าง ๆ ของวัดไร่ขิง และยังพบว่า รถยนต์ของวัด มีชื่อของสามีหมอเตย เป็นผู้ครอบครองจำนวนหลายคัน

และเป็นบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นคนที่นำเงินสดที่ได้จากการเก็บค่าเช่าที่ร้านค้างานประจำปีของวัด ส่งมอบให้กับนายแย้มภายในกุฏิ โดยไม่ได้ถูกนำเข้าสู่ระบบบัญชีธนาคารการเงินของวัด ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน
สอบย้อนหลัง "เส้นเงิน" ยักยอกสู่พนันออนไลน์
นอกเหนือจาก 11 เส้นเงิน และ 7 บัญชีที่ใช้แจ้งข้อกล่าวหายักยอกเงินไว้ไปแล้ว ยังพบหลายบัญชีการเงินของวัด ถูกโอนไปยังบัญชีส่วนตัวของนายแย้ม อดีตเจ้าอาวาสในขณะนั้นเพิ่มเติมอีก 1 บัญชี แต่ส่วนนี้ยังไม่ได้ถูกนำไปแจ้งข้อกล่าวหา
สำหรับเส้นทางการเงินจากการยักยอกเงินวัดไร่ขิง ไปสู่เส้นทางการเงินและการพนัน พบว่ามีตัวเชื่อม 2 บุคคล คือนายเอกพจน์ และนางสาวอรัญญา วรรณ ซึ่งจากหลักฐานเจ้าหน้าที่ยืนยันได้ว่านางสาวอรัญญาวรรณเพียงเท่านั้น ยังไม่พบบัญชีของนายแย้ม อดีตเจ้าอาวาส โอนโดยตรงไปยังเครือข่ายของเว็บการพนัน

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช. สอท. กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลปี 2567 ที่เครือข่ายเว็บการพนันถูกจับ ยังไม่พบเส้นเงินโยงไปถึงใครเพิ่มเติม นอกจากนางสาวอรัญญาวรรณ และนายเอกพจน์ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวกับคดียักยอกเงินวัดไร่ขิงและเว็บการพนัน
ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินย้อนหลังไปถึงปี 2563 ซึ่งมีข้อมูลว่ามีการเปิดเว็บการพนันขึ้น และตรวจสอบย้อนหลังจนถึงอดีตเจ้าอาวาสเข้ามารับตำแหน่ง ว่ามีพฤติกรรมยักยอกเงินเพิ่มเติมหรือไม่
ส่วนเส้นทางการเงินจากนายแย้ม ไปพัวพันกับเว็บการพนันอย่างไร พนักงานสอบสวนตั้งไว้ 3 ประเด็น คือ
- เป็นการกู้ยืมเงินกันระหว่างอดีตเจ้าอาวาส กับนางสาวอรัญญาวรรณ ตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้างหรือไม่
- เป็นการเข้าร่วมเล่นการพนัน
- เป็นการนำเงินไปให้ นางสาวอรัญญาวรรณ ร่วมลงทุนกับเว็บการพนันหรือไม่
โดยทุกประเด็นตำรวจต้องสอบสวนและหาพยานหลักฐานให้แน่ชัด จากข้อมูลที่ได้รับของตำรวจสอบสวนกลาง และโทรศัพท์มือถือของนางสาวอรัญญาวรรณ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการสืบสวนคดี แต่ขณะนี้ ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า นายแย้ม อดีตเจ้าอาวาส เข้ามารับผลประโยชน์จากเว็บการพนัน
สำหรับคำให้การของนางสาวอรัญญาวรรณ ยังอ้างว่าเป็นเพียงแค่ผู้เล่นการพนันกับเว็บการพนันดังกล่าว แต่ตำรวจมีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนัน และคดีฟอกเงิน เนื่องจากพบมีเงินเข้ามาจากบัญชีของบุคคล ก่อนนำไปเล่นการพนัน

“การยักยอกเงินวัดไร่ขิง และโยกย้ายไปยังบัญชีบุคคลอื่น ปิดอำพรางซ่อนเร้น หรือส่งไปให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ ก็เข้าข่ายความผิดมูลฐานการฟอกเงินอยู่แล้ว ส่วนความผิดในการฟอกเงินเกี่ยวกับเครือข่ายเว็บการพนัน ต้องสืบสวนหาความเชื่อมโยงให้ได้ก่อนว่านายแย้ม เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากเครือข่ายเว็บการพนันหรือไม่” พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าว
ส่วนนายมเหศักดิ์ ที่เป็นผู้ต้องหาคนสำคัญและเป็นผู้รับผลประโยชน์สูงสุดของเครือข่ายเว็บการพนัน ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามจับกุม จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการเข้าออกประเทศโดยถูกกฎหมาย ซึ่งคาดว่าหลบหนีออกนอกประเทศไปในช่องทางธรรมชาติ และเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการตัวเพื่อมาสอบสวนและหาความเชื่อมโยงว่า ผลประโยชน์ที่ได้รับจากเครือข่ายเว็บการพนัน ส่งต่อไปถึงบุคคลใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ทางตำรวจ สอท.จัดเร่งดำเนินการสืบสวนหาพยานหลักฐานหาความเชื่อมโยงให้ทุกมิติต่อไป
คัมคุณ ยมนาค ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส : รายงาน
อ่านข่าว