หลังจากที่ไทยพีบีเอส นำเสนอข่าววิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) บางแห่ง ไม่ได้รับการจัดสรรสิทธิและพื้นที่จำหน่ายโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน 2 ปีติดต่อกัน ทำให้เสียโอกาสในการจัดการเรียนการสอนด้านโคนม ส่งผลให้อาจต้องปิดโรงงาน เนื่องจากสถาบันการศึกษาไม่สามารถดำเนินการผลิตและจำหน่ายนมโรงเรียนได้นั้น
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2568 โดยให้ลำดับความสำคัญผู้ประกอบการภาคสหกรณ์ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมอื่น ตามลำดับ

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
ประกอบกับเอกสารแนบท้ายประกาศ ได้ชี้แจงแนวทางการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน โดยต้องมีข้อมูลการซื้อขายน้ำนมโคหรือสัญญาซื้อขายประกอบการยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่ได้ยื่นสมัครในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2568
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการต้องได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน มีใบอนุญาตผลิตอาหาร มีใบรับรองระบบมาตรฐานการผลิตตามหลักเกณฑ์ GMP 420 มีใบรับรอง GMP/GAP ของแหล่งน้ำนมดิบและคุณภาพน้ำนมโค มีผลตรวจประเมินสถานที่ผลิตอาหาร และมีผลวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนที่ผ่านการตรวจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
จากการตรวจสอบคุณสมบัติของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ที่ได้ยื่นสมัครในแต่ละพื้นที่ พบว่า มีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วษท.สุโขทัย และ วษท.บุรีรัมย์ ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ครบถ้วน
โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์ฯ ในรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และรูปแบบออฟไลน์โดยจัดส่งความคิดเห็นมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งได้เปิดรับฟังความเห็นเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. ถึง 11 เม.ย.2568 เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อ (ร่าง) หลักเกณฑ์ ก่อนประกาศใช้ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2568
สำหรับประเด็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม ที่เข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน มิได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากฉบับร่างที่มีการรับฟังความคิดเห็น หาก วษท. หรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมรายอื่น ๆ มีความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯ ก็สามารถศึกษาหลักเกณฑ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการสมัครเข้าร่วมโครงการได้ รวมถึงกรมฯ จะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัดให้ศึกษา (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการต่อไปได้อีกทางหนึ่ง
“กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ยืนยันว่า กรมฯ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมอย่างเท่าเทียม และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา2568 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อผู้บริโภคต่อไป” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ภายหลังอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ออกมาชี้แจงทำให้กลุ่มวิทยาลัยเกษตรฯ ได้ยื่นเอกสารชี้แจงข้อมูลผ่านไทยพีบีเอสเพิ่มเติม โดยอ้างว่า ประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2567 และปี 2568 อาจมีเจตนาที่จะกีดกันโรงงานแปรรูปนมที่เป็นของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ไม่ให้ได้สิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนโดยระบุรายละเอียด ดังนี้
1.ปัญหาที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ปีการศึกษา 2567
เนื่องจากประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนประจำปีการศึกษา 2567
หมวด 1 ข้อ 5 คุณสมบัติของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ณ วันรับสมัคร ข้อ 5.11 ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสหกรณ์/ส่วนราชการ ต้องมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและโคนมเป็นของตนเอง โดยมีแม่โครีดไม่น้อยกว่า 200 แม่ หรือมีโคนมที่สามารถผลิตปริมาณน้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อวัน
จากหลักเกณฑ์ข้อดังกล่าวทำให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการที่เป็นส่วนราชการทั้งหมด รวมทั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการในปีการศึกษา 2567 ได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามประกาศฯ เพราะในความเป็นจริงไม่มีหน่วยงานภาครัฐใดในประเทศไทยที่มีแม่โครีดนมไม่น้อยกว่า 200 แม่ น้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อวัน
แม้กระทั่งหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ที่มีศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม หรือศูนย์วิจัยพันธุ์สัตว์ทั่วประเทศ ก็ไม่มีโคนมได้ตามประกาศ มีเพียงบางมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับของรัฐบางแห่งที่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น โรงนม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าประกาศฯ ดังกล่าวอาจมีเจตนาที่จะกีดกันโรงงานแปรรูปนมที่เป็นของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี โดยเลี่ยงใช้คำว่าส่วนราชการ

2.การเข้าร่วมโครงการฯ ในปีการศึกษา 2568
สืบเนื่องจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอทบทวน มติ ครม. วันที่ 26 มี.ค.2562 เมื่อ วันที่ 3 มี.ค.2568 ประเด็นโครงสร้างระบบบริหารโครงการนมโรงเรียนจากเดิมแบ่งกลุ่มพื้นที่ 5 เขตพื้นที่ เป็น 7 เขตพื้นที่ และเปลี่ยนแปลงหลักการโครงการจากเดิม 4 ข้อ เป็น 7 ข้อ โดยหลักการของโครงการฯ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับกลุ่มโรงงานแปรรูปนมที่เป็นของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี คือ ข้อที่ 7 ให้ความสำคัญกับภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษาที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม
จากหลักการโครงการฯ ข้อที่ 7 คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน จึงได้ร่างประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2568 (ฉบับร่าง)
ลงในเว็บไซต์ โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 29 มี.ค.-2 เม.ย.2568 และได้ประกาศหลักเกณฑ์ที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นแล้ว เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2568 ลงในเว็ปไซด์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ เวลาประมาณ 22.00 น. และประกาศรับสมัครสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการระหว่างวันที่ 12-15 พ.ค.

จากหลักของโครงการฯ ตามมติ ครม. ข้อ 7 ให้ความสำคัญกับภาคสหกรณ์โคนม รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการศึกษาที่มีการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม จึงเอามาออกประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2568
หมวด 1 ข้อ 5 คุณสมบัติของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ณ วันรับสมัครข้อ 5.11 คือ ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เป็นสหกรณ์/ส่วนราชการ ต้องมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและโคนมเป็นของตนเอง โดยมีแม่โครีดไม่น้อยกว่า 200 แม่ หรือมีโคนมที่สามารถผลิตปริมาณน้ำนมดิบไม่น้อยกว่า 3 ตันต่อวัน ที่เคยมีในประกาศฯ ปีการศึกษา 2567 ถูกยกเลิกไป ทำให้โรงงานแปรรูปนมกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สามารถเข้าร่วมโครงการในปีการศึกษา 2568 ได้
อย่างไรก็ตามจากหลักเกณฑ์ฯ ปีการศึกษา 2568 ถึงแม้ว่าโรงงานแปรรูปนมกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจะเข้าร่วมโครงการฯ ได้ แต่ในความเป็นจริงเราสามารถเข้าร่วมโครงการแบบถูกจำกัด เพราะจากเอกสารแนบท้ายประกาศฉบับที่ 1 การกำหนดสัดส่วนการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน ตามมติคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2568 ข้อ 1 แนวทางการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงเรียน
จัดสรรสิทธินมโรงเรียนให้กับสหกรณ์ตามสัดส่วนปริมาณนมที่ยื่นเป็นลำดับแรกไม่เกินร้อยละ 58 ของสิทธิทั้งหมดในแต่ละกลุ่มพื้นที่

สิทธิที่เหลือจาก 1.1 ให้นำมาจัดสรรให้กับรัฐวิสาหกิจ (อ.ส.ค.) ตามสัดส่วนปริมาณนมที่ยื่นไม่เกินร้อยละ 30 ของสิทธิคงเหลือในแต่ละกลุ่มพื้นที่
สิทธิที่เหลือจาก 1.2 ให้นำมาจัดสรรให้สถาบันการศึกษา ตามสัดส่วนปริมาณนมที่ยื่นไม่เกินร้อยละ 5 ของสิทธิคงเหลือแต่ละกลุ่มพื้นที่
สิทธิที่เหลือจาก 1.3 ให้นำมาจัดสรรให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมอื่น
จากข้อ 1.3 ถ้าดูสิทธิของสถาบันการศึกษาจะได้รับสิทธิอยู่ลำดับที่ 3 ได้สิทธิร้อยละ 5 ดูเหมือนจะเยอะแต่ในความเป็นจริงน้อยมาก ๆ แทบจะไม่สามารถผลิตให้คุ้มค่ากับการดำเนินการ
ยกตัวอย่างการจัดสรรในกลุ่มพื้นที่ 3 ประกอบ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น
ปริมาณน้ำนมที่ต้องใช้ในกลุ่มทั้งหมด 199.017 ตัน/วัน (เป็นตัวเลขจริงของปีการศึกษา 2568)
จัดสรรสิทธิให้สหกรณ์ก่อนเป็นลำดับแรกร้อยละ 58 คิดเป็นน้ำนมที่ได้ 115.430 ตัน/วัน คงเหลือนมที่จะจัดให้ลำดับที่ 2 คือ อ.ส.ค. 83.641 ตัน/วัน

จัดสรรสิทธิให้ลำดับที่ 2 คือ อ.ส.ค. ร้อยละ 30 จากนมที่เหลือจากการจัดให้ลำดับแรก 83.641ตัน/วัน ดังนั้น อ.ส.ค. จะได้รับสิทธิ 25.076 ตัน/วัน คงเหลือนมที่จะจัดให้ลำดับ 3 คือ สถาบันการศึกษา 58.565 ตัน/วัน
จัดสรรสิทธิให้ลำดับที่ 3 คือสถาบันการศึกษา ร้อยละ 5 จากนมที่เหลือจากการจัดให้ลำดับที่ 2 58.565 ตัน/วัน ดังนั้นสถานศึกษาจะได้รับสิทธิ 2.926 ตัน/วัน คงเหลือนมจัดสรรสิทธิให้กับผู้ประกอบการอื่น 55.585 ตัน/วัน
หมายเหตุ- กลุ่มพื้นที่เขต 3 ในปีการศึกษา 2568 มีโรงงานแปรรูปนม กลุ่มสถานศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ มีคุณสมบัติครบสามารถเข้าร่วมได้เพียงโรงงานเดียว หากได้สิทธิเต็มจำนวน ร้อยละ 5 จะได้รับสิทธิจัดสรรน้ำนมเพียงแค่ 2.926 ตัน/วัน เท่านั้น โดยกำหนดวันที่จะจัดสรรพื้นที่จำหน่ายในวันที่ 21 พ.ค.2568 นี้ ณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น
- กลุ่มพื้นที่เขต 1 โรงงานแปรรูปนม กลุ่มสถานศึกษา วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย มีคุณสมบัติครบสามารถเข้าร่วมได้เพียงโรงงานเดียว (รวม 2 วิทยาลัยฯ ในสังกัด สอศ.ที่สามารถเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนได้) โดยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย ได้รับการจัดสรรโควตาเพียง 2.221 ตัน/วัน จำนวน 14,851 ถุง/วัน ในการประชุมจัดสรรพื้นที่จำหน่าย เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2568 ณ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี
- หากหลักเกณฑ์ในปีการศึกษา 2569 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจาก 2568 และมีโรงงานแปรรูปนมของสถาบันการศึกษาอื่น หรือของกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอื่น ๆ ยื่นขอเข้าร่วมโครงการด้วยก็มีนมที่เป็นส่วนของสถานศึกษาแค่ 2.926 ตัน/วัน เท่านั้นที่สถานศึกษาแต่ละที่จะต้องมาหารแบ่งกัน ซึ่งอาจจะได้โรงงานละ 1 ตัน/วัน หรือน้อยกว่านั้น อันจะส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินงานได้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตในปัจจุบันสูงขึ้นมาก หากยอดผลิตต่ำกว่า 2.5 ตัน/วัน จะไม่คุ้มค่าต่อการผลิต

3.โรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีการศึกษา 2568 ได้ มีคุณสมบัติ ดังนี้
คุณสมบัติครบตามประกาศฯ ข้อ 5 / มีความสัมพันธ์ที่ดีกับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ / ผู้บริหารเห็นความสำคัญ และเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง
4.โรงงานที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ปีการศึกษา 2568 ได้
คุณสมบัติไม่ครบตามประกาศฯ ข้อ 5 ในระหว่างปีการศึกษา 2567 ที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ทางโรงงานหยุดดำเนินการทุกกิจกรรม และไม่เตรียมพร้อมเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ ในปีต่อ ๆ ไป
โรงงานส่วนใหญ่ไม่ต่ออายุใบประกอบกิจการโรงงาน GMP ตรวจสถานที่ผลิต และไม่มีการผลิตส่งนมให้ อย. ตรวจ จากเหตุผลดังกล่าว โรงงานเหล่านี้มักรอความหวังว่า เมื่อหลักเกณฑ์โครงการฯ ปี 2568 ออกมาจะมีการยกเว้นข้อกำหนดต่าง ๆ เหล่านี้ให้กับโรงงานกลุ่มวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี เป็นการเฉพาะ ดังนั้นเมื่อมีประกาศโครงการฯ ออกมาในวันที่ 6 พ.ค.2568 และไม่มีประกาศแนบท้ายยกเว้นให้จึงไม่สามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ทัน ทำให้ขาดคุณสมบัติเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว

5.รายชื่อวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอสชีวศึกษา
ที่พร้อมต่อการเข้าร่วมโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2569
1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงราย
2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุโขทัย
3.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกำแพงเพชร
4.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์
5.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี
6.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลพบุรี
7.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น
8.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์
9.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
10.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว

6.แนวทางการช่วยแก้ปัญหาให้โรงงานแปรรูปนมของสถานศึกษาในสังกัด สอศ.เข้าร่วมโครงการฯ ปีการศึกษา 2569 ได้สำเร็จ
จัดทำความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมมือกันจัดทำเอกสารและนำเสนอต่อรัฐบาลขอเพิ่มงบประมาณจัดซื้ออาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2569 เป็นต้นไป ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมต้น (ม.1- ม.3) ซึ่งเป็นช่วงวัยรุ่นที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับสารอาหารสำคัญจากน้ำนมในการพัฒนาโครงสร้างของร่างกาย และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่มีปัญหาในปัจจุบัน

กรณีที่การจัดทำความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงไม่ทันในปีการศึกษา 2569 ควรจัดทำความร่วมมือ (MOU) ระดับกรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมการปกครอง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อดำเนินการให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับทุกฝ่าย ดังนี้
1.ลดปัญหาการร้องเรียนและลดปัญหาแรงเสียดทานให้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี
2.ช่วยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมการปกครองในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำเอกสารเพื่องบประมาณแผ่นดิน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมต้น (ม.1- ม.3) ทั่วประเทศได้ดื่มนมโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
3.ช่วยให้โรงงานแปรรูปนม ของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้รับสิทธิในการจำหน่ายอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเพิ่มในระดับที่เพียงพอตามศักยภาพการผลิตของ 10 วิทยาลัยฯ
4.ช่วยเพิ่มยอดผลิตและจำหน่ายให้แก่ อสค. และโรงงานแปรรูปนมเอกชนที่ถูกลดยอดจัดสรรลงทุกปีจนกระทั่งต้องปิดกิจการหลายแห่ง ซึ่งส่งผลลบต่อสภาพเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ ตั้งแต่โรงงานระดับ SME จนถึงโรงงานขนาดใหญ่
อ่านข่าว : “รายได้พระสงฆ์” มาจากไหน-คนไทย “ถวายเงินพระ” ด้วย “เงื่อนไข” อะไรบ้าง?
หมายจับ "ก๊กอาน" คนสนิท "ฮุนเซน" โยงแก๊งคอลเซนเตอร์-ตร.บุกค้น 19 จุด
ไทยเสนอ "ชุดไทย" เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ "ยูเนสโก" ในปี 2569