ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เฝ้าระวังเข้ม "ไข้หวัดนก" ระบาดในกัมพูชาเสียชีวิตแล้ว 6 คน

สังคม
17:13
150
เฝ้าระวังเข้ม "ไข้หวัดนก" ระบาดในกัมพูชาเสียชีวิตแล้ว 6 คน
กรมควบคุมโรค เตือนปีนี้ 68 "ไข้หวัดนก" ระบาด กัมพูชาเสียชีวิตแล้ว 6 คน ไทยเข้มเฝ้าระวังและป้องกัน

วันนี้ (8 ก.ค.2568) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงพบโรคไข้หวัดนกทั่วโลก สถานการณ์ยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง กัมพูชาได้รายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก H5N1 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปี 2568 ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 12 คน ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 1 ก.ค. 2568 พบมีรายงานผู้ป่วย 4 คน จากจังหวัดเสียมราฐ และมีผู้เสียชีวิต 6 คน เมื่อป่วยและมีอาการรุนแรง มักพบมีภาวะปอดอักเสบซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตค่อนข้างสูง การระบาดมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้พบผู้ป่วยในหลายจังหวัดของกัมพูชา เช่น เสียมราฐ กระแจะ กำปอต ตาแก้ว สวายเรียง และอื่นๆ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับการสัมผัสไก่ที่ป่วย หรือตาย หรือนำซากสัตว์ปีกมาประกอบอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกทั้งในคน และสัตว์ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 19 ปีแล้ว แต่ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากในประเทศไทยยังคงมีการเลี้ยงสัตว์ปีกในบริเวณบ้านในหลายพื้นที่ มีการค้าขายบริเวณชายแดน จึงยังคงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายแดนกัมพูชา ได้แก่ สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี และตราด ตามลำดับ

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดนกยังคงเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์ปีกแบบหลังบ้าน โดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ การสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ชนบทมักจะรอให้มีอาการรุนแรงก่อนจึงไปพบแพทย์ ซึ่งส่งผลให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น

นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเน้นย้ำให้ประชาชนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ได้มาตรฐาน จากร้านค้าที่เชื่อถือได้ รับประทานอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีก สุกร โค ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ การสัมผัสสัตว์ควรสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ และล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีก สุกร โค หากพบสัตว์ป่วยตายจำนวนมากบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เลี้ยง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และไม่นำซากสัตว์ไปประกอบอาหาร

พร้อมแนะนำประชาชน หากมีอาการคล้ายโรคไข้หวัดนก เช่น ไข้ ไอ หายใจลำบาก หลังสัมผัสสัตว์ปีก สุกร โค ควรรีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ให้แพทย์ทราบ และหากพบสัตว์ปีก สุกร โค ป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งปศุสัตว์หรือสัตวแพทย์ในพื้นที่  

อ่านข่าว : ศาลไต่สวนพยาน 9 ปาก คดี "ทักษิณ" ชั้น 14

TDRI วิเคราะห์ผลกระทบภาษีสหรัฐฯ 36% เปิดเกมต่อรองไทยต้องแลกอะไร?

รู้จักศัพท์ไม่เคยเห็น "นักทัศนมาตร" ผู้เชี่ยวชาญด้านสายตา