ตะลึงทั้งโลก "โดนัลด์ ทรัมป์"ประธานาธิบดีสหรัฐ แจ้งมาตราการเก็บภาษีตอบโต้กับประเทศที่เกิดดุลการค้า ไปยัง 14 ประเทศ รวมทั้งไทยที่ถูกเรียกเก็บภาษีอัตราเดิม 36% แม้เมื่อต้นเดือนก.ค. ทีมไทยแลนด์ ที่มี "พิชัย ชุณหวชิระ" รองนายกและรมว.คลัง ไม่สามารถจบดีลได้และอยู่ระหว่างเตรียมส่งหนังสือเจรจากลับไปรอบ 2 แต่กลับไม่ทันการณ์

กระทบทุกหย่อมหญ้า ทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้า นักลงทุน เกษตรกรไทยที่ต้องแบกรับภาษีที่สูง ดังนั้นความหวังที่แสนจะริบหรี่ คือการเจรจา ครั้งที่ 2 ก่อนเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค. นี้ แน่นอนว่า ภาษี 36% ย่อมกระทบกับภาคการส่งออกไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เดิมกระทรวงพาณิชย์ มั่นใจว่า ไทยจะสามารถส่งออกทั้งปีขยายตัวที่ 10% ตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พาณิชย์เคยประกาศไว้ แต่ดูแล้วแทบไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
สรท.ชี้ สหรัฐฯ "เอาคืน" ไทย เหตุเปิดตลาดให้จีน
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวถึงสถานการณ์หลังจากที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีประเทศต่างๆโดยการส่งจดหมายแจ้งไปยังรัฐบาลนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยโดนภาษีตอบโต้ 36 % อาจเป็นเพราะสหรัฐใช้โมเดลของเวียดนามในการพิจารณา บวกกับข้อเสนอการนำเข้าสินค้าบางรายการที่ไทยยังไม่ยอมให้นำเข้า 0 % ซึ่งสหรัฐชัดเจนว่า ไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐอย่างไร ไทยก็ต้องโดนสหรัฐเก็บภาษีนำเข้าแบบนั้นเช่นกัน เป็นลักษณะของการเอาคืนไทย เพราะสหรัฐมองว่าไทยถูกเอาเปรียบมานานถึงเวลาที่ต้องเอาคืน และมองว่า ไทยเปิดตลาดให้จีนมากกว่าสหรัฐฯ

นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
นายธนากร เกษตรสุวรรณ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)
สำหรับข้อเสนอของไทยที่ส่งไปรอบ 2 ไม่ทันที่สหรัฐฯจะพิจารณาเพราะสหรัฐฯจะต้องประกาศก่อน ซึ่งก็หวังว่า ทีมเจรจาไทยจะประสานไปยังสหรัฐฯเพื่อให้ทางรัฐบาลสหรัฐฯพิจารณาข้อเสนอรอบ 2 ของไทย
ก็ไม่รู้ว่า ทีมไทยแลนด์เสนอไปมีเรื่องใดบ้าง จะเป็นการเปิดนำเข้าสินค้าเกษตรที่สหรัฐต้องการหรือไม่ หรือจะเก็บภาษีนำเข้าสหรัฐเป็น 0 % แต่คิดว่า อยู่ที่การต่อรองทางการค้า หากไทยยังต้องเก็บภาษีสินค้าบางตัวจากสหรัฐ ไทยจะเอาสินค้าตัวไหนไปแลก ซึ่งที่ผ่านมาไทยพยายามปกป้องอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร แต่สหรัฐก็พยายามที่จะนำเข้า ดังนั้นจะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
ประธานสรท.กล่าวอีกว่า หากข้อเสนอรอบ 2 ไม่เพียงพอ ทีมเจรจาก็ต้องพิจารณาข้อเสนอเพิ่มเติมไปเข้าไปอีกเพราะเรามีเวลาเจรจาอีก 3 สัปดาห์ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.ที่ภาษีจะมีผลบังคับใช้ ก็ยังมีความหวังที่สหรัฐจะพิจารณาข้อเสนอของไทยเพื่อลดอัตราภาษีของไทย

อ่วมแบกภาษี 36% ดึงนักลงทุนเข้าไทยยาก
สำหรับผลกระทบจากการเก็บภาษี 36 % ถือว่าหนักมาก และเสียหายเยอะ เนื่องจากไทยมีคู่แข่งจากชาติอาเซียน ที่สำคัญ คือ เวียดนามและมาเลเซีย ซึ่งโดนภาษีน้อยกว่าไทย สินค้าที่ส่งออกประเภทเดียวกัน ผู้นำเข้าก็จะเทคำสั่งซื้อไปยังเวียดนามและมาเลเซีย เนื่องจากภาษีนำเข้าน้อยกว่าไทย
สิ่งที่น่ากลัวตามมาคือ การลงทุน เมื่อนักลงทุนเห็นว่า ไทยโดนภาษี 36 % โอกาสที่ไทยจะดึงการลงทุนเข้าประเทศก็เป็นเรื่องยากและต้องทบทวนแผนการลงทุนในไทย โดยเฉพาะนักลงทุนสหรัฐฯ และนักลงทุนจีนก็จะชะลอการลงทุน ถือว่าผลกระทบหนักพอสมควร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ยอดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยค่อนข้างเยอะเมื่อเจอ ภาษี 36 % การส่งออกของไทย จกพอสมควร
การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ ผู้ส่งออกชะลอเพื่อรอความชัดเจนว่า สหรัฐจะพิจารณาข้อเสนอรอบ 2 ของไทยหรือไม่ จนนำไปสู่การปรับลดอัตราภาษี เพราะหากส่งไปตอนนี้กว่าจะถึงสหรัฐก็ถึงเส้นตาย 1 ส.ค .ภาษี 36 % โดนแน่นอน ซึ่งสรท.กำลังเตรียมข้อมูลเพื่อให้หารือกับทางทีมเจรจา

ประธานสรท. มองว่า หากกการเจรจาไม่สำเร็จแน่นอนว่าจะกระทบกับการส่งออกของไทยในครึ่งปีที่จะติดลบอย่างแน่นอน ซึ่งตัวเลขน่าจะมากพอสมควร ดังนั้นหวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาว่า ตัวเลขการส่งออกที่หายไปกับผลกกระทบจากการเปิดนำเข้าสินค้าสหรัฐอย่างไหนจะมีผลกระทบมากกว่า
เสนอ "พาณิชย์-คลัง"แก้ปัญหาต้นทุนการผลิต
ด้าน นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า สรท.ได้มีการหารือกันนอกรอบถึงกรณีที่สหรัฐฯ แจ้งเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในอัตรา 36% ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.68 โดย สรท.จะจัดทำบทสรุปข้อเสนอแนะดังกล่าวเสนอไปถึงกระทรวงพาณิชย์ และทีมไทยแลนด์ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน ภายใน 1-2 วันนี้

นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.
นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท.
สำหรับข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นเรื่องการดูแลปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ การดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน การดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย การจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยให้เอกชนไปทำตลาดใหม่เพิ่มเติม
ข้อมูลจากกรมศุลกากร และสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ สถิติการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯในช่วง ปี2567-2568 พบว่า ในปี2568 มี 20 สินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ มีมูลค่ารวม 54953.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 13.7% ในขณะที่ช่วง 5 เดือนของปี2568 (ม.ค.-พ.ค.)พบว่า 20 สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 27098.2ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 27.2%

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้ามาจากสหรัฐฯในปี2567 พบว่า น้ำมันดิบนำเข้ามาอันดับ 1 มีมูลค่า 3689 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาเป็น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มีมูลค่า2171.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับสาม เป็น เคมีภัณฑ์ มูลค่า1303.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับ 4 เป็นก๊าชธรรมชาติมีมูลค่า 1157 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้ง 20 สินค้าที่ไทยนำเข้ามามีมูลค่า 19528 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนช่วง 5 เดือนปี2568 ไทยนำเข้า20สินค้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 8553.2 ล้านดอลารร์สหรัฐฯ ซึ่งน้ำมันดิบยังคงเป็นการนำเข้าอันดับหนึ่ง
"กอบศักดิ์" กังวล" ไทย "เสียเปรียบ" มาเลย์ฯ-เวียดนาม
ขณะที่ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล" ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โพสเฟสบุค “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ประเมินว่า สหรัฐฯยืนยันเก็บภาษีนำเข้าไทยในอัตราเท่าเดิม 36% นั่นหมายความว่าไทยกับมาเลเซีย ภาษีต่างกัน 11% และเวียดนาม แตกต่างถึง 16% นี่คือเรื่องน่ากังวลใจ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ประเทศไทย 36%เท่ากับรอบแรกเป็นคำเตือนว่าที่เสนอมา ยังไม่พอ ไม่โดนใจยังไม่ใช่ Good Dealกรุณาทำการบ้านเพิ่มแล้วกลับมาต่อรองอีกรอบไม่เช่นนั้น ”จบที่เดิม“ ที่เคยประกาศไว้ที่ 2 เมษายนซึ่งในรอบนี้ สหรัฐอาจจะไม่ถอยเพราะตลาดได้รับรู้ตัวเลขเหล่านี้ ไปแล้วครั้งหนึ่งผู้ประกอบการสหรัฐมีเวลาปรับตัวมา 90 วันถ้าตลาดหุ้นสหรัฐลงไม่มาก ในช่วง 2-3 วันข้างหน้าลงไม่ถล่มทลายเหมือนต้นเมษายนก็ยากที่จะมีใครมาเปลี่ยนใจท่านประธานาธิบดี Trump ได้
ทั้งนี้ สำหรับไทยถ้าเวียดนาม 20% มาเลเซีย 25% เราจะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ 10-16%จะมีนัยยะอย่างยิ่งกับผู้ส่งออก ทำไมจะซื้อจากไทย ถ้าซื้อจากคู่แข่งถูกกว่ายิ่งไปกว่านั้น มีนัยยะกับคนที่คิดจะมาลงทุนจะมาสร้างโรงงานทำไมเพราะถ้าสร้างเสร็จแล้ว ต้นทุนภาษีแพงกว่าคู่แข่ง

ส่งไปก็สู้ไม่ได้ไปสร้างที่เวียดนามเลยดีกว่าไหมเราคงต้องคิดเพิ่มว่าในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าประเทศไทยจะเสนออะไรกลับไปอีกรอบเพื่อให้พ้นจากจุดนี้ เพราะจากที่เวียดนามเจรจาลดลงมาได้46% เหลือ 20%แสดงว่าต้องมีหนทาง เป็นกำลังใจให้กับทีมเจรจาครับ
สมาคมสุกร วอนรัฐทบทวนเจรจา เปิดตลาดหมู-สินค้าประมง
ขณะที่ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุถึงการที่สหรัฐอเมริกาประกาศเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องเจรจากันอีกครั้ง ยังไม่ทราบว่า รัฐบาลจะเปิดตลาดให้มีการนำเข้าเนื้อ ชิ้นส่วน และเครื่องในหมูจากสหรัฐฯ ตามที่สหรัฐฯ แสดงความต้องการมานานแล้วหรือไม่

ขอเน้นย้ำว่า หากรัฐบาลยอมให้นำเข้า จะเป็นการทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รวมถึงตลอดห่วงโซ่เนื่องจากซึ่งต้นทุนการผลิตสุกรของสหรัฐฯ ต่ำมาก เมื่อนำเข้ามาจะตีตลาดภายในประเทศจนเกษตรกรต้องล้มละลายและไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองบนโต๊ะเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะเป็นสินค้าเกษตรที่มีต้นทุนสูง กำไรต่ำ และเกี่ยวพันโดยตรงกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศ ผู้เลี้ยงสุกรไทยไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนแนวทางการเจรจา หยุดแนวคิดเปิดตลาดเนื้อหมูและสินค้าเกษตรที่เปราะบาง
นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวลสำคัญอย่างหนึ่ง คือ สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่ม Beta-agonist ในขณะที่ไทยสั่งห้ามใช้โดยเด็ดขาด แม้จะมีการอ้างว่า อยู่ในระดับปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่หากบริโภคในปริมาณมาก อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ และมือสั่น มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ว่า สารนี้สะสมในเครื่องในได้มากกว่าในเนื้อสุกร

แม้จะนำมาผลิตอาหารสัตว์ก็ยังเสี่ยงที่จะหลุดรอดออกจากระบบมาสู่ตลาดบริโภค นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเปิดประตูให้โรคระบาดสัตว์และโรคอุบัติใหม่ เช่น โรคไข้หวัดหมู ซึ่งไม่เคยพบในไทย เข้ามาสร้างความเสียหายต่อระบบปศุสัตว์ ที่ปัจจุบันมีมาตรฐานการป้องกันโรคสัตว์ในระดับสากลและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ชี้เสียเปรียบเชิงแข่งขัน-ภาษีสหรัฐฯสูงกว่าประเมิน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้แจ้งอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยในอัตราสูงถึง 36% ครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่สูงกว่าที่ภาคเอกชนประเมินไว้ และสูงกว่าหลายประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม (20%) อินโดนีเซีย (32%) และมาเลเซีย (25%)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
สะท้อนว่าไทยกำลังเสียเปรียบในเชิงการแข่งขันการตัดสินใจของสหรัฐฯ ในเบื้องต้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าหลัก เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตร ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ อัญมณี เหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งคาดว่ามูลค่าความเสียหายต่อการส่งออกไทยอาจอยู่ที่ประมาณ 8-9 แสนล้านบาท
แม้ว่าข้อเสนอแรกของไทยจะถูกส่งไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค.และมีการลงนามในเช้าวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งอาจสวนทางกับประกาศของสหรัฐฯ ที่แจ้งมา ขณะนี้ไทยได้ส่งข้อเสนอที่ 2 ไปแล้ว ซึ่งมีความแตกต่างจากข้อเสนอแรก โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนรายการสินค้าที่จะลดภาษีให้เป็น 0% ซึ่งมีจำนวนหลายพันรายการ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เราส่งข้อเสนอเพิ่มเติมไปนั้น ยังไม่มีการตอบกลับมา แต่เชื่อว่า หากสหรัฐฯ ได้พิจารณาอีกครั้งในข้อเสนอเพิ่มเติมใหม่นี้ น่าจะมีผลไปในทิศทางบวก
ประธานสอท. กล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ส.อ.ท. จึงจะมีการประชุมเร่งด่วนภายในร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ก่อน เพื่อประเมินผลกระทบเป็นรายกลุ่ม และจัดทำมาตรการรองรับที่เหมาะสม หลังจากนั้น ในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะรีบเร่งประชุมร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการตั้งรับต่อไป
อ่านข่าว:
ลุ้น "ภาษีสหรัฐฯ" ขีดเส้นตายไทย สัญญาณมรณะ "วงการค้าโลก"
ปฏิกิริยา “ภาษีทรัมป์” หลังร่อนจดหมายคงอัตราเก็บภาษีไทย 36%
TDRI วิเคราะห์ผลกระทบภาษีสหรัฐฯ 36% เปิดเกมต่อรองไทยต้องแลกอะไร?