ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดหลักฐานสำคัญ ผลวิจัย "นิติวิทยาศาสตร์ฯ" จับต้นทางมลพิษจากเหมืองแร่ในแม่น้ำกก

เปิดหลักฐานสำคัญ ผลวิจัย "นิติวิทยาศาสตร์ฯ" จับต้นทางมลพิษจากเหมืองแร่ในแม่น้ำกก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การใช้เทคนิคทางนิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทำให้ประเมินได้ว่า การปนเปื้อนของสารเคมี มาจากเหมืองแร่ ในประเทศเมียนมา หรือไม่ และเป็นเหมืองแร่ชนิดใด เพื่อนำมาตอบคำถามประชาชน และเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการเจรจาต่าง ๆ

ที่สำคัญผลการวิจัยดังกล่าว นำมาใช้เพื่อประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา และความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ และต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนวางมาตรการต่อไปว่า อะไรเป็นปัญหาเร่งด่วน

การพิสูจน์สมมุติฐาน สิ่งแรกคือ การปนเปื้อนสารพิษกึ่งโลหะ และโลหะในแม่น้ำกก เกิดจากการทิ้ง หรือการชะละลาย จากการทำเหมืองแร่หายาก หรือเหมืองทองในเมียนมาจริงหรือไม่?

ประเด็นที่สองการปนเปื้อน น่าจะมาจากตะกอนขนาดเล็ก ที่แขวนลอยในน้ำ ไม่น่าจะเป็นตัวละลายน้ำมา ?

ประเด็นที่สามการปนเปื้อนสารอันตรายในแม่น้ำกก ทำให้ปลาแค้อ่อนแอ จนทำให้เกิดรอยโรคต่าง ๆ ทั้งจากไวรัส ปรสิต หรือแบคทีเรียอย่างผิดปกติ อย่างที่ประชาชนไม่เคยสังเกตมาก่อนหรือไม่ ?

ประเด็นที่สี่ การปนเปื้อนในแม่น้ำกกอยู่ในขั้นเริ่มต้น ยังไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพถึงระดับไหน ?

ทั้งหมดคือโจทย์ หรือ สมมุติฐานงานวิจัย รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยภารกิจระบบฐานข้อมูลและดิจิทัล สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)และคณะ ชื่อ “โครงการวิจัยนิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น จากการปนเปื้อนโลหะและกึ่งโลหะในแม่น้ำกก จ.เชียงราย”

ผลการศึกษาวิจัยเบื้องต้นชี้ ชัดเป็นครั้งแรกว่า สารพิษมาจากเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา พบการปนเปื้อนสารหนู สัมพันธ์กับตัวชี้วัดการทำเหมืองแร่ หายากมีประมาณ 69.7 % ในขณะที่สัมพันธ์การทำเหมืองทองมีส่วนร่วม 30.3 %

อ่านข่าว : เปิดงานวิจัย-ผลตรวจนิติวิทยาศาสตร์ พบปนเปื้อนสารหนู-โลหะหนักในแม่น้ำกก มาจากแร่หายาก

คำถามต่อมามีการเก็บตัวอย่างอย่างไร ? และเก็บอะไรบ้างเพื่อหาความสัมพันธ์ว่ามาจากเหมืองในเมียนมา และเป็นเหมืองชนิดใด ?

รศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า เคมีวิเคราะห์นิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้อิงตามค่าตามกฎหมายอย่างเดียว เช่น กรณีการเก็บ “น้ำผิวดิน” มีการเก็บธาตุกัมมันตภาพรังสี และแร่หายาก ซึ่งเป็นสองตัวที่จะพบในเหมืองแร่หายาก และมีการกรองและไม่กรองเพื่อเทียบกัน

นิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างภาพจากเมืองทองในเมียนมา อาจจะมีเงินและทองแดง มากกว่าชนิดอื่นและมีตะกั่วมาด้วย เหมืองแร่หายากมีแร่เหล่านี้ด้วยหรือไม่ คำตอบคือมี แต่ลักษณะที่โดดเด่น แต่หายากจะเป็นพวกตระกูล ธาตุกัมมันตภาพรังสี เช่น แร่ทอเรียม (Thorium) ดิสโพรเซียม Dysprosium ยูเรเนียม (Uranium ซึ่งไม่ได้น่ากังวลเรื่องธาตุกัมมันตภาพรังสี แต่เป็นร่องรอยได้ โดยเมื่อเทียบกับแม่น้ำกก และแหล่งน้ำอื่น ๆ จะเห็นได้ว่าแม่น้ำกกมีแร่ธาตุเหล่านี้สูง

รศ.ดร.ธนพล กล่าวว่า ถึงกระบวนการทำเหมืองแร่หายาก โดยตัวอย่างการทำเหมืองแร่หายากในประเทศเมียนมา มีจุดเก็บตัวอย่าง 5 จุด การทำเหมืองแร่หายากในเมียนมา ใช้เทคนิคการเจาะภูเขาและฉีดสาร เรียก In-Sutu Leaching Techniqe โดยฉีดสารแอมโมเนียมซัลเฟต หรือ แอมโมเนียมไนเตรท เข้าไปละลายของแร่ หิน และดิน

โดยชะเอาแร่ออกมา ก่อนนำมาเข้าบ่อและตกตะกอนเคมี และน้ำปล่อยลงท้ายเหมืองทั้งหมด ต้นน้ำจุดที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำจะเป็นกรด ต่างจากเหมืองทอง

ผลมีการเก็บตัวอย่างน้ำในเมียนมา 5 จุด ได้ลายนิ้วมือจากแหล่งแร่พบว่า จุดที่ปล่อยสารเหล่านี้จะสูงบริเวณต้นน้ำ และปลายน้ำจะลดลง คำถามสำคัญถ้าได้ 12 เหมืองบริเวณต้นแม่น้ำกกจะสามารถแยกได้ชัดเจนมากขึ้น

คำถามที่สำคัญต่อมาคือ เหมืองแร่ 12 เหมืองบริเวณต้นน้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา มีเหมืองแร่หายากกี่แห่ง และเหมืองทองกี่แห่ง ที่ปล่อยสร้างพิษลงสู่แม่น้ำกก และไหลเข้าสู่ จ.เชียงราย ที่ผ่านมา มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ มีการเปิดเผยข้อมูลเหมืองแร่หายาก บริเวณต้นแม่น้ำกก ในรัฐฉาน มีการทำเหมืองแร่ จำนวน 2 แห่ง ที่เริ่มทำในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

อ่านข่าว : มูลนิธิไทใหญ่จี้เปิดเผยข้อมูลเหมืองแรร์เอิร์ธ ใกล้ชายแดนไทยเร่งด่วน

ขณะที่ไทยพีเอสได้เปิดเผยการทำเหมืองทอง ในพื้นที่ต้นแม่น้ำกก มากกว่า 2-3 จุดบริเวณต้นน้ำ และเผยถึงกระบวนการทำเหมืองแร่ทองคำ

อ่านข่าว : เจาะเหมืองแร่ “ต้นแม่น้ำกก-น้ำสาย” มลพิษข้ามพรมแดน

เปิดต้นทางมลพิษ! ขั้นตอนการทำเหมืองทุนจีน ทิ้งสารปนเปื้อนแม่กก-แม่สาย-น้ำโขง

กลับมาดูรายละเอียดของเหมืองแร่ 12 บริเวณต้นแม่น้ำกก ข้อมูลนี้ จีสด้าได้นำเสนอ “การติดตามเหมืองแร่หรือการเปิดหน้าดิน พื้นที่ชายแดนของประเทศไทยและเมียนมา ด้วยเทคโนโลยีจากดาวเทียม” กับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2568

ข้อมูลจากดาวเทียม ตั้งแต่ปี 2560-2568 พบกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ทั้งหมด 61 จุด หรือคิดเป็น 4,435 ไร่ บริเวณต้นแม่น้ำสาย และแม่น้ำกก ในเขตรัฐฉานใต้ ประเทศเมียนมา

ข้อมูลจากจีสด้า เปิดเผยบริเวณต้นแม่น้ำกก พบกิจกรรมการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวน 12 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 450 ไร่ โดยเหมืองแร่เริ่มพบในปี 2023 และปี 2024-2025 พบเติบโตเพิ่มขึ้นชัดเจน 5-6 เหมือง สามารถบ่งชี้ได้ว่าเป็นกิจกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการท้าเหมืองแร่ 5 จุด คิดเป็นพื้นที่ 119.82 ไร่ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่

คำถามเหมืองแร่เหมืองไหนที่ปล่อยสารพิษ หรือเหมืองแร่ 12 แห่งเหมืองไหนเป็นเหมืองแร่หายาก หรือ เหมืองทองยังไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่มีใคร หรือนักวิจัยเข้าไปในพื้นที่บริเวณนี้ได้เพราะเป็นพื้นที่กลุ่มกองกำลังว้า

คำถามสำคัญถ้าได้ตัวอย่างน้ำใกล้ 12 เหมืองแร่บริเวณต้นแม่น้ำกกจะสามารถแยกได้ชัดเจนมากขึ้น

เหมือนที่ รศ.ดร.ธนพล อย่างน้อยก็มีความชัดเจนที่สุดเท่าที่มีมาว่า เหมืองแร่เป็นสาเหตุของสารพิษในแม่กก ครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลเจรจากับเมียนมา เพื่อร่วมมือหาทางออกแก้ปัญหาสารพิษในต้นแม่น้ำกกต่อไป

รายงาน : โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ