Silver Linings Playbook คว้ารางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต

Logo Thai PBS
Silver Linings Playbook คว้ารางวัลสูงสุดในเทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต

แม้อยู่ในช่วงเดือนกันยายน แต่กระแสหนังที่คาดว่า มีลุ้นในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ เริ่มเห็นภาพชัดเจนจากผลงานหลายเรื่องที่ประสบความสำเร็จในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต เวทีที่ใช้วัดโอกาสในการเข้าชิงเกียรติยศสูงสุดวงการหนังกล่องฮอลลีวูดช่วงต้นปีหน้า

หลังออกจากสถานบำบัดทางจิตเป็นเวลา 8 เดือน แพ็ต พบว่าเขาได้สูญเสียทุกอย่าง ทั้งบ้าน งาน และ คนรัก จนต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ กระทั่งมีความหวังที่จะกลับไปคืนดีกับภรรยาเก่า โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ทิฟฟานี หญิงปริศนา ซึ่งเรียกร้องบางสิ่งเป็นการตอบแทน เรื่องราวกลับพลิกผันเมื่อคนแปลกหน้าทั้งสองเกิดความผูกพันที่ไม่คาดคิด สร้างความขบขัน แฝงไปด้วยแง่มุมในชีวิตของ Silver Linings Playbook ผลงานของผู้กำกับ เดวิด โอ รัสเซล คว้ารางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโตในสาขา People's Choice Award

แม้ชื่อเสียงจะไม่โด่งดังเท่า 3 เทศกาลชื่อดังของยุโรป แต่ 37 ปีที่ผ่านมา เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต ได้ชื่อว่า เป็นเวทีที่ผู้สร้างหนังลุ้นรางวัลปลายปีส่งผลงานมาหยั่งเสียงวิจารณ์ไม่แพ้เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หรือ ซันแดนซ์ ซึ่งหลายเรื่องที่สร้างชื่อกับเวทีนี้มักก้าวไปประสบความสำเร็จบนเวทีออสการ์ ทั้ง American Beauty, Slumdog Millionaire และ The King’s Speech

ในสาย Midnight Madness ที่เน้นหนังบู๊ รางวัลตกเป็นของ Seven Psychopaths เรื่องราวตลกร้ายของนักเขียนหนุ่มที่กำลังหมดมุกในการเขียนบทหนังฆาตกรต่อเนื่องให้จบ จนเขาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ชักชวนเข้าสู่แก๊งขโมยสุนัขเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แต่ต้องเจออุปสรรคเมื่อสุนัขพันธุ์ชิสุที่ขโมยมากลับเป็นของนักเลงดังที่พร้อมจะฆ่าทุกคนที่พรากสัตว์เลี้ยงของเขาไป
ส่วนสารคดียอดเยี่ยมเป็นของ Artifact ที่ตีแผ่ด้านมืดวงการเพลง ครั้งที่ค่ายเพลง Virgin Records ฟ้องวง 30 Seconds to Mars เป็นเงิน 30 ล้านดอลลาร์ ที่ไม่ออกอัลบั้มให้ครบ 5 ชุดในเวลา 9 ปีตามสัญญา แต่วงเป็นฝ่ายชนะคดีเมื่อกฏหมายในรัฐแคลิฟอร์เนียไม่อนุญาตให้มีการเซ็นสัญญาผูกพันเป็นเวลาเกิน 7 ปี

มีผลงานหลายเรื่องที่สร้างกระแสการเข้าชิงออสการ์จากคำวิจารณ์ในโตรอนโต ทั้ง Argo หนังคว้ารางวัลอันดับ 2 ของเทศกาล ผลงานย้อนรอยเหตุการณ์ปิดล้อมสถานทูตสหรัฐฯ ในอิหร่าน ช่วงปีแห่งการการปฏิวัติอิสลาม เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ 6 รายที่ซ่อนตัวอยู่ในบ้านของทูตแคนาดา ทางซีไอเอได้วางแผนตบตาด้วยการสร้างโปรเจ็กต์หนังหลอก ๆ ในเตหะราน เพื่อพาตัวเจ้าหน้าที่ทั้ง 6 คนกลับสหรัฐฯในฐานะทีมงานของกองถ่าย ที่ได้รับคำยกย่องในฝีมือการกำกับครั้งแรกของ เบน อัฟเฟรค

รวมถึง The Master หนังย้อนรอยการก่อตั้งลัทธิไซแอนดธโลจี้ ที่สร้างกระแสตัวเต็งสาขาการแสดงโดย ฟิลลิป ซีมัวร์ ฮอปแมน และ วาคีน ฟินิกซ์ ที่ล่าสุดสร้างสถิติเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้เฉลี่ยต่อโรงสูงที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยรายได้กว่า 700,000 ดอลลาร์จาก 5 โรงฉาย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง