กลาโหมเกาหลีใต้ พบเศษจรวดของเกาหลีเหนือ

ต่างประเทศ
13 ธ.ค. 55
13:43
53
Logo Thai PBS
กลาโหมเกาหลีใต้ พบเศษจรวดของเกาหลีเหนือ

กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ พบเศษจรวดที่แยกตัวจากการยิงจรวดส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือแล้ว โดยวันนี้(13 ธ.ค.)มีชาวเกาหลีใต้ออกมาประท้วงการปล่อยจรวดของเกาหลีเหนือ พร้อมเรียกร้องให้สหประชาชาติ เร่งพิจารณาบทลงโทษต่อเกาหลีเหนือ ที่ละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อปี 2552

ชาวเกาหลีใต้ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ประท้วงเผาธงชาติ และหุ่นจำลองนายคิม จอง อุน ผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่เกาหลีเหนือยิงจรวดส่งดาวเทียมเมื่อวานนี้(12 ธ.ค.)กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อลงโทษเกาหลีเหนือ

ด้านโฆษกกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ ยอมรับในวันนี้(13 ธ.ค.) ว่าโครงการของเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จ นอกจากนี้โฆษกกระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้ ยังแสดงภาพนิ่งของชิ้นส่วนที่อ้างว่าเป็นชิ้นส่วนถังพลังงานของจรวดอุนฮา 3 ที่แยกตัวและตกลงสู่ทะเลเหลือง โดยระบุว่าจุดที่พบอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของประเทศ ห่างจากจังหวัดกุนซานราว 160 กิโลเมตร

การยิงจรวดส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือ เกิดขึ้นในช่วงเพียง 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในวันที่ 19 ธันวาคม ทำให้นักวิเคราะห์มองว่า อาจส่งผลต่อการเลือกตั้ง แต่สำหรับผู้ลงคะแนนบางส่วนที่เริ่มใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า กลับมองว่าไม่น่าจะกระทบต่อการเลือกตั้งนัก เนื่องจากขณะนี้เกาหลีใต้มีปัญหาภายในที่รอการแก้ไขมากอยู่แล้ว

เมื่อวานนี้(12 ธ.ค.)คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีมติประนามการยิงจรวดดาวเทียมของเกาหลีเหนือ รวมทั้งระบุจะหารือเพื่อมีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งคาดว่าจะเป็นการขยายการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ให้รวมไปถึงเรื่องมาตรการทางการเงินของบริษัทที่ต้องสงสัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องในเกาหลีเหนือ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจีน จะเห็นด้วยหรือไม่

ความสำเร็จในการยิงจรวดส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือครั้งนี้ สร้างความกังวลแก่ชาติมหาอำนาจและชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับเกาหลีเหนือ เนื่องจากพิสูจน์ให้เห็นว่า ขณะนี้เกาหลีเหนือมีเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกลในครอบครองแล้ว และแม้ว่าขณะนี้เกาหลีเหนือจะยังไม่มีเทคโนโลยีสร้างหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพื่อติดเข้ากับขีปนาวุธได้ แต่เกาหลีเหนือก็สามารถขายเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกลให้กับประเทศอย่างอิหร่าน หรือปากีสถาน ที่มีนิวเคลียร์ในครอบครอง ซึ่งอาจเป็นการจุดชนวนการแข่งขันเพื่อครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชีย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง