สื่อบันเทิงสหรัฐฯทบทวน-ปรับปรุงเนื้อหา หลังเหตุรุนแรง

Logo Thai PBS
สื่อบันเทิงสหรัฐฯทบทวน-ปรับปรุงเนื้อหา หลังเหตุรุนแรง

แทบทุกครั้งที่มีเหตุรุนแรงที่ก่อโดยเยาวชน ดังเช่นเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนไม่น้อยคือสื่อ หลังโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดจากเยาวชน สื่อบันเทิงในสหรัฐฯส่วนหนึ่งมีการทบทวนเนื้อหาปรับปรุงการนำเสนอ แต่ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

ภาพความโกลาหลที่บันทึกไว้โดยหนึ่งในผู้เข้าชมรอบมิดไนท์ภาพยนตร์เรื่อง dark knight rises แสดงนาทีชีวิตของแฟนหนังที่พยายามเอาชีวิตรอดจากเหตุกราดยิงในโรงภาพยนตร์ ที่เมืองออโรร่า รัฐโคโลราโด โดย เจมส์ โฮล์มส์ ที่ปฎิบัติการภายใต้ชุดกันกระสุนและหน้ากากกันแก๊สพิษ จนมีผู้เสียชีวิต 12 ราย โดยผู้ต้องหาวัย 25 ปีซึ่งถูกจับได้ที่บริเวณที่จอดรถของโรงหนังถูกดำเนินคดีความผิดข้อหาฆาตกรรมรวมทั้งสิ้นกว่า 152 กระทง

เหตุระทึกขวัญในโรงหนังทำให้สมาคมผู้ประกอบการโรงฉายภาพยนตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงหนังทั่วประเทศ โดย AMC Theatres เครือข่ายโรงภาพยนตร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในอเมริกาประกาศห้ามผู้ชมแต่งชุดแฟนซีหรือพกพาอาวุธปลอมเข้ามาในโรงภาพยนตร์ ขณะที่ความกังวลในความปลอดภัยทำให้ความนิยมในการชมหนังรอบมิดไนท์ต้องซบเซา หลายค่ายจึงหันมาเปิดตัวหนังใหม่ให้เร็วขึ้นเป็นรอบ 4 ทุ่ม ทั้ง Taken 2, Paranormal Activity 4 และ Breaking Dawn Part 2 ซึ่งล้วนประสบความสำเร็จทางรายได้ และส่งผลดีต่อผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายย่อย ที่สามารถดึงดูดแฟนหนังมากขึ้นและมีพนักงานดูแลลูกค้าได้อย่างทั่วถึง

แม้เหตุที่เกิดขึ้นจะทำให้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนในสหรัฐฯ เริ่มเป็นที่ถกเถียง แต่ผลสำรวจกลับพบว่าจำนวนการซื้อปืนในหลายรัฐเพิ่มขึ้น โดยในโคโลราโดมีผู้ซื้อปืนเพิ่มถึงร้อยละ 43 เหตุสลดจากอาวุธปืนกลับมาหลอกหลอนชาวอเมริกันอีกครั้งช่วงปลายปี เมื่อ อดัม แลนซ่า เด็กหนุ่มวัย 20 ปีบุกเข้าไปกราดยิงเด็กประถมในโรงเรียน Sandy Hook Elementary School รัฐคอนเนคติกัต ก่อนปลิดชีพตนเอง

สิ่งเชื่อมโยงทั้งสองเหตุการณ์คือตัวผู้ก่อเหตุต่างเป็นเด็กหนุ่มที่มีประวัติการศึกษาดี แต่มีปัญหาทางจิต และทั้งคู่ต่างหมกมุ่นอยู่ในโลกส่วนตัว โดยเจมส์ โฮล์มส์ เป็นผู้คลั่งไคลในการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่โดยเฉพาะแบทแมน ซึ่งของสะสมของวีรบุรุษรัตติกาลถูกประดับไว้เต็มห้องนอน ขณะที่ อดัม แลนซ่า เป็นเด็กหนุ่มที่หลงใหลในเกมยิงปืนที่จำลองเหตุการในสงครามอย่างสมจริง

ด้วยเหตุนี้สื่อจึงถูกมองว่าอาจมีส่วนต่อความก้าวร้าวของเยาวชน โดยเฉพาะในวงการเกมที่ดูมีความรุนแรงและความสมจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เห็นชัดในงาน Electronic Entertainment Expo งานแสดงเกมที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด กลับเต็มไปด้วยเกมใหม่ที่แข่งกันขายฉากรุนแรง จน วอร์เรน สเป็คเตอร์ ผู้ออกแบบเกมชั้นนำออกมาเตือนว่าวงการเกมควรยุติการส่งเสริมความรุนแรงเกินกว่าเหตุอย่างที่เป็นอยู่

ในวงการภาพยนตร์มีการเลื่อนฉายภาพยนตร์เนื้อหารุนแรงจากอาวุธปืนถึง 2 เรื่อง โดย คริสโตเฟอร์ ดอดด์ ประธานของสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ของอเมริกา กล่าวว่าสมาคมเตรียมร่วมมือกับรัฐบาลในลดความรุนแรงในภาพยนตร์ที่ผลิตออกมาในทุกวันนี้ หลังมีการเปิดเผยว่าฮอลลีวูดใช้ความรุนแรงเป็นจุดขายมากขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่สื่อของสหรัฐฯ ทั้งภาพยนตร์หรือเกมถูกนำไปเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่สถิติคดีอาชญากรรมด้วยอาวุธปืนในสหรัฐฯ กลับสูงกว่าในหลายประเทศ จึงมีคนจากหลากหลายวงการออกมากระตุ้นให้ทางการสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่มีความเข้มงวดต่อการครอบครองอาวุธปืนให้มากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุสลดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง