"แฟลชม็อบ" อีกเครื่องมือแสดงพลังทางความคิด

Logo Thai PBS
"แฟลชม็อบ" อีกเครื่องมือแสดงพลังทางความคิด

ไม่เพียงเป็นกิจกรรมที่กำลังได้รับความนิยมโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น แฟลชม็อบยังถูกใช้ประชาสัมพันธ์ในโอกาสต่างๆ จุดเด่นอยู่ที่สามารถเรียกความสนใจจากคนรอบข้างได้ทันที จึงทำให้การรวมพลเฉพาะกิจรูปแบบนี้เป็นอีกเครื่องมือแสดงพลังทางความคิด รวมถึงทางการเมือง

ทันทีที่ Live While We're Young เพลงของวง One Direction ดังขึ้นนักเต้นทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นนับพันก็ก้าวจากฝูงชนออกมาเต้นร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง แสดงพลังของแฟนเพลงด้วยการทำแฟลชม็อบ เรียกความสนใจจากผู้ที่ผ่านไปมาได้ไม่น้อย

<"">
<"">

 

รูปแบบการแสดงออกที่กำลังเป็นที่นิยมนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน 2003 เมื่อ Bill Wasik บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีของสหรัฐฯ นัดผู้คนผ่านสังคมออนไลน์มาร่วมปรบมือนาน 15 วินาทีเพื่อทดลองพลังทางสังคมของสื่อใหม่ ก่อนจะกลายเป็นกิจกรรมแสดงออกร่วมกัน และ สื่อประชาสัมพันธ์ที่ได้ผลเกินคาด

ไม่เพียงถูกใช้เป็นกลยุทธทางการตลาด หากหลายครั้งแฟลชม็อบยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง เช่น แฟลชม็อบปิดปากที่ ลัตเวีย แสดงความไม่พอใจที่รัฐตัดงบประมาณสื่อวิทยุ หรือ กลุ่มคนในชุดกันหนาวที่มาปรากฏตัวย่านสยามแสควร์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแช่แข็งการเมืองประเทศไทย

<"">
<"">

 

"พอมันเป็นการแสดงอย่างหนึ่ง มันเป็นการที่ทำให้ความคิดหรือว่าความรู้สึก ไอเดียต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรม แล้วคนสามารถที่จะเห็นและสัมผัสในชั่วขณะหนึ่งได้ มันมีผลกระทบอย่างแรงและง่ายขึ้น ความรุนแรงของอารมณ์ หรือความรุนแรงของความเป็นเนื้อหาทางการเมือง บางทีมันก็ถูกเคลือบด้วยน้ำตาลมาแล้ว" จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ

<"">
<"">

 

"ทำให้แฟนคลับได้รู้จักกัน ได้มามีตติ้งกัน ทำเพื่อหนุ่มๆของเราเพื่อให้เขาาเห็นว่ามีแฟนคลับในประเทศไทยแล้วเราก็รักเขาตลอด" ภัญญา สอนโยธา ผู้ร่วมทำแฟลชม็อบ

"ศิลปินของเราเป็นนักร้อง ออกแนวเพลงป็อปๆ ถ้าจะให้ไปวาดรูปก็คงไม่ใช่ เราก็เลยเต้นมาแสดงพลัง เปิดเพลงให้ทุกคนได้ฟัง ให้ได้รู้จักหนุ่มๆของพวกเราผ่านทางเพลงซึ่งเป็นสื่อกลางในการรับรู้" นิรุชา ละอองพันธ์ ผู้ร่วมทำแฟลชม็อบ

แฟลชม็อบ แตกต่างจากม็อบ หรือการชุมนุมทั่วไป ตรงระยะเวลาในการรวมตัวเพื่อแสดงออกที่ไม่ยืดเยื้อ เป็นการลงแรง ที่แทบไม่ต้องลงทุนเพราะอาศัยพร้อมเพรียง ซึ่งความสำเร็จไม่ได้อยู่เพียงเสียงตอบรับจากผู้ชมที่รับสารอย่างใกล้ชิด แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเท่านั้น แต่พลังจากภาพการรวมตัวที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์หลังจากนั้น ยังทำให้ประเด็นที่ต้องการนำเสนอถูกบอกต่อแบบปากต่อปาก จึงไม่แปลกที่แฟลชม็อบจะถูกนำมาปรับใช้ในหลายโอกาส โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง