ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิกฤติ.."กระเป๋านักเรียนไทย" เด็กแบกหนักเกินค่าความปลอดภัยสองเท่า

สังคม
13 ก.พ. 56
06:21
2,114
Logo Thai PBS
วิกฤติ.."กระเป๋านักเรียนไทย" เด็กแบกหนักเกินค่าความปลอดภัยสองเท่า

‘เด็กไทย’อึดเรียนแค่ชั้นประถมแบกกระเป๋าหนัก 6 กก.ไปโรงเรียน หวั่นลืมหนังสือมาเรียน ‘ผู้ปกครอง’โวยครูไม่วางแผนการสอน เด็กจำต้องนำทุกอย่างใส่กระเป๋า วอนโรงเรียนทำตู้เก็บหนังสือ ‘ตัวแทนครู’อ้างเด็กไม่จัดตารางสอนเอง ‘แพทย์’เตือนแบกของหนักอนาคตเสี่ยงโรคกระดูก

 ปัจจุบันระบบการศึกษาของประเทศไทยกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่เด็กนักเรียนไทยโดยเฉพาะในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ยังคงประสบปัญหากับการแบกกระเป๋านักเรียนหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการเดินทาง และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในเรื่องของการเกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง

ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ “หอข่าว” มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ลงพื้นที่สำรวจน้ำหนักกระเป๋านักเรียนจากสถานศึกษาในจังหวัดกรุงเทพมหานครที่เปิดสอนหลักสูตรในระดับประถมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่โรงเรียนพร้อมพรรณวิทยา ตั้งอยู่ถนนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ตั้งอยู่ถนนดินแดง เขตดินแดง โรงเรียนแม่พระประจักษ์ ตั้งอยู่ถนนวุฒากาศ 47 เขตจอมทอง และโรงเรียนจารุวัฒนานุกูล  ตั้งอยู่ถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน

โดยสุ่มจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง 120  คน โรงเรียนละ 30 คน แยกเป็นระดับชั้นละ 5 คน พบว่า ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักกระเป๋าอยู่ที่ 6 กิโลกรัม จากค่าเฉลี่ยของน้ำหนักตัวเด็กประมาณ 30 กิโลกรัม ซึ่งมาตรฐานของน้ำหนักกระเป๋าจากศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กโรงพยาบาลรามาธิบดี กำหนดไว้ไม่ควรหนักเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวเด็ก ซึ่งหมายความว่าน้ำหนักกระเป๋าที่เด็กสามารถถือได้ต้องไม่เกิน 3 กิโลกรัม

 
‘นักเรียน’ชี้ไม่จัดตารางเหตุกลัวลืมหนังสือเรียน
              
เด็กชายบิว  (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนแม่พระประจักษ์ ซึ่งมีน้ำหนักตัว 24 กิโลกรัม แบกกระเป๋าหนัก 7 กิโลกรัมได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่กระเป๋าหนักว่าตนไม่จัดตารางสอนเพราะกลัวลืมหนังสือเรียน หรือหยิบมาไม่ตรงกับครูสอน เช่น หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์มี 2เล่ม กลัวเวลาคุณครูเรียกจะหยิบเล่มที่เรียนมาไม่ตรงจึงนำมาโรงเรียนหมดทุกเล่ม โดยในกระเป๋ามีประมาณ 10 เล่ม
 
เด็กหญิงเอ (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแม่พระประจักษ์ น้ำหนักตัว  27 กิโลกรัมแบกกระเป๋าหนัก  5 กิโลกรัมกล่าวว่า จัดตารางสอนเองทุกวันแต่ยังเอาหนังสือ มาเรียนไม่น้อยกว่า 7 เล่ม โดยจะมีวิชาหลักที่ต้องเรียนทุกวันคือคณิตศาสตร์กับภาษาไทยซึ่งวิชาคณิตศาสตร์มีวันละ2 เล่มเป็นของโรงเรียนกับของกระทรวงศึกษาธิการอย่างละเล่ม
 
ด้านเด็กชายภู (นามสมมุติ) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีน้ำหนักตัว 32กิโลกรัมแบกกระเป๋านักเรียนหนัก 7 กิโลกรัมกล่าวว่า วิชาหลักที่ต้องเอาหนังสือเรียนไปทุกวันมีอยู่ 4 วิชา วิชาหนึ่งมีจำนวน 2 เล่ม สมุดอีก 1 เล่ม ต้องเอาไปโรงเรียนทุกวัน แต่บางวันไม่มีการบ้านก็แอบใส่ไว้ใต้โต๊ะเรียน โรงเรียนมีตู้ให้เก็บหนังสือแต่ว่าไม่เปิดให้ใช้ โดยส่วนตัวอยากให้โรงเรียนอนุญาตให้เก็บหนังสือเรียนไว้ใต้โต๊ะ หรือเปิดตู้เก็บของให้นักเรียนใช้จะได้ไม่ต้องแบกกระเป๋าหนัก
 
ผู้ปกครองโวยครูไม่วางแผนการสอน
 
นายเกื้อกูล คำปันศักดิ์ ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีกล่าวว่า ลูกชายของตน ต้องแบกกระเป๋าไปโรงเรียนหนักอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งทางโรงเรียนเองมีตู้ให้เก็บหนังสือแต่ไม่ยอมเปิดให้เด็กใช้  
 
นางณฐา หาญหฤทัยวรรณ ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดประยุรวงศาวาสกล่าวว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้โรงเรียนหาตู้เก็บหนังสือหรือตู้ล็อกเกอร์ของเด็กแต่ละห้อง ให้เด็กเก็บหนังสือไว้โรงเรียนบ้าง วันไหนมีการบ้านก็เอากลับมาทำ สะพายกระเป๋าหนักนอกจากเสียสุขภาพ เวลาขึ้นรถลงรถก็ลำบากเพราะกระเป๋าจะถ่วงไปข้างหลัง ยิ่งโดยสารรถประจำทางยิ่งอันตราย เพราะคนเยอะกระเป๋าใบใหญ่คนรอบข้างก็รำคาญ  
 
“อยากถามว่าได้เรียนครบทุกเล่มไหม ที่ขนไปได้เรียนครบทุกวิชาหรือเปล่า ถ้าขนไปแล้วได้เรียนก็โอเค แต่ถามเด็กทราบว่าบางทีไม่ได้เรียนบางทีมีแจกชีท แล้วชีทเยอะมากเทอมหนึ่ง 2-3 กิโลกรัมหนังสือเรียนเยอะชีทก็เยอะเลยไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้เขาเรียนด้วยชีทหรือเรียนด้วยหนังสือกันแน่” นางณฐากล่าว
นางณิตานัสธ์ พุ่มแพรพันธ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมผู้ปกครองและครูและผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์กล่าวว่า กระเป๋านักเรียนไทยหนักจริงอาจเพราะหนึ่งวิชามีหลายเล่ม อย่างวิชาภาษาไทยมี 4 เล่ม เป็นหนังสือภาษาพาทีหนังสือวรรณคดีลำนำ สองเล่มนี้มีความหนามาก และมีหนังสือแบบฝึกหัดกับสมุดอีก ซึ่งวิชาภาษาไทยเป็นวิชาหลัก ต้องแบกมาโรงเรียนแทบทุกวัน
 
ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมผู้ปกครองและครูกล่าวอีกว่า ปัญหาที่แท้จริงคงไม่ได้อยู่ที่ไม่จัดตารางสอน แต่อยู่ที่ครูประจำวิชาไม่วางแผนการเรียนการสอนให้ดี ไม่ระบุว่าวันไหนเรียนหนังสือเล่มใดทำให้เด็กต้องแบกหนังสือทุกเล่มของวิชานั้น หากไม่นำมาหมดทุกเล่มหรือเอามาไม่ตรงที่ครูสอน เด็กก็ถูกทำโทษ
 
“ตารางสอนบอกวิชาโดยรวมอย่างวันจันทร์เรียนภาษาไทยแต่ในตารางสอนไม่ได้ระบุว่าเรียนเล่มไหน เป็นหน้าที่ของครูต้องเตรียมการสอนตั้งแต่คาบแรก บอกเด็กเลยว่าวันจันทร์จะเรียนภาษาพาที วันอังคารเรียนวรรณคดีลำนำ เพื่อเด็กไม่ต้องแบกหนังสือเรียนมาหมด มันหนัก อันตรายทั้งสุขภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย” นางณิตานัสธ์กล่าว
 
ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมผู้ปกครองและครูกล่าวเพิ่มเติมว่าเด็กที่ผู้ปกครองไม่ได้มารับมาส่งนั้นเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุอย่างมาก โดยเฉพาะเวลาขึ้นรถโดยสารประจำทาง กระเป๋านักเรียนที่มีน้ำหนักมากกับรถโดยสารประจำทางที่ชอบออกตัวเร็ว มีโอกาสทำให้เด็กตกลงมาได้ ยิ่งช่วงเวลามาเรียนและเลิกเรียนจะตรงกับเวลาทำงานและเลิกงานของหลายสถานที่ทำให้รถโดยสารแออัดมาก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้มีเฉพาะการโดยสารรถประจำทางเท่านั้น เพราะเด็กเดินทางมาโรงเรียนจากหลายเส้นทางทั้งขึ้นรถ ลงเรือแม้แต่เดินก็เกิดอันตรายได้ โดยส่วนตัวเคยเห็นที่สะดุดบันไดสะพานลอยอยู่บ่อยๆเพราะเด็กชอบโน้มตัวไปด้านหน้าเพื่อต้านน้ำหนักกระเป๋า
 
ครูอ้างนร.ไม่จัดตารางสอน               
 
นางศิริวรรณ  ยังรอต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนแม่พระประจักษ์กล่าวว่า กรณีที่กระเป๋านักเรียนหนักเพราะหนังสือเรียนในวิชาหลักที่ต้องเอามาทุกวันมีประมาณ 5 วิชาคือคณิตศาสตร์ สังคมศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ทางโรงเรียนสั่งซื้อหนังสือที่มีขนาดและความหนาไม่มาก แต่แบ่งเป็นเล่มเนื้อหากับเล่มแบบฝึกหัดซึ่งคุณครูประจำวิชาจะตกลงกับนักเรียนว่าวันนี้เรียนเล่มไหนถ้ากระเป๋าหนัก คงเป็นเพราะมีอุปกรณ์การเรียนการสอนเพิ่มเติม อย่างเช่นวิชาศิลปะที่ต้องเตรียมอุปกรณ์มา ซึ่งวันนั้นก็อาจจะทำให้กระเป๋านักเรียนหนักขึ้น และเด็กบางคนชอบนำสัมภาระมาจากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา กระติกน้ำ ของเล่นอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการเรียน จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเป๋านักเรียนมีน้ำหนักมาก               
 
นางศิริวรรณกล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการตู้เก็บหนังสือทางโรงเรียนยังไม่มีการกำหนดการให้เก็บหนังสือไว้ใต้โต๊ะ หรือมีตู้เก็บหนังสือให้  หากโรงเรียนมีตู้ให้เก็บหนังสือแล้ว นักเรียนมักจะทิ้งหนังสือไว้ที่โรงเรียนจนหมด ไม่ยอมเอากลับไปทำการบ้านหรือทบทวนบทเรียน อย่างไรก็ตามหลังเลิกเรียนของทุกวัน ทางโรงเรียนจัดให้มีการเรียนเสริมในตอนเย็นช่วงนั้นจะให้นักเรียนทำการบ้านจนเสร็จและสามารถส่งไว้หน้าห้องได้เลย แต่ส่วนมากนักเรียนมักทำไม่เสร็จและต้องแบกกลับบ้านเป็นประจำ               
 
นางฐิติพร พิณพาทย์ ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแม่พระประจักษ์กล่าวถึงสาเหตุที่เด็กกระเป๋าเรียนหนักว่า สาเหตุหลักคือไม่ยอมจัดตารางสอนคงเพราะกลัวลืมหนังสือมาเรียน อีกกลุ่มจะเป็นเด็กที่หิ้วของนอกเหนือจากตำราเรียน อย่างของเล่น ตุ๊กตา หนังสือการ์ตูนมาเล่นกับเพื่อน และอีกสาเหตุคือไม่ยอมส่งการบ้าน ตอนนี้นอกจากหนังสือที่ทางโรงเรียนจัดให้ซื้อแล้วยังมีหนังสือยืมเรียนของรัฐบาลในโครงการเรียนฟรี ทำให้นักเรียนมีหนังสือเรียนของ 5 วิชาหลักเพิ่มขึ้น ใน 1 วิชาหลักมีประมาณ  3 เล่ม โดยปกติหนังสือที่ยืมเรียนทางโรงเรียนไม่ให้เอากลับบ้าน เว้นแต่ว่าจะมีการบ้านแล้วนักเรียนไม่ยอมทำให้เสร็จในช่วงเรียนเสริมตอนเย็น
 
นางฐิติพรได้ความเห็นอีกว่า หากถามถึงการแก้ปัญหา จะแก้ที่สื่อการเรียนการสอนอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะสำหรับเด็กประถมฯ หนังสือเป็นสิ่งสำคัญจะลดหนังสือแล้วให้เป็นการจดตามคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนหนึ่งคือผู้ปกครองต้องช่วยกันดูแลบุตรหลานในเรื่องของการจัดกระเป๋าสอนให้เขามีระเบียบมีความรับผิดชอบ รร.พร้อมพรรณวิทยาจัดโครงการกระเป๋าเบา
 
นางวิไลวรรณ หงษ์ยุพา ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยากล่าวว่า ทางโรงเรียนและประธานกรรมการโรงเรียน ได้ตระหนักถึงปัญหากระเป๋านักเรียนหนัก จึงออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้ ชื่อโครงการกระเป๋าเบา โดยทางโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเก็บหนังสือไว้ในลิ้นชักได้เพราะเด็กต้องใช้หนังสือเรียนทุกวัน ถ้าวิชาไหนที่ไม่ต้องนำกลับไปทบทวนบทเรียนหรือทำการบ้าน ทางโรงเรียนเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องให้เด็กขนไปขนมา
 
ผู้อำนวยการโรงเรียนพร้อมพรรณวิทยากล่าวอีกว่า โรงเรียนมีการกำหนดวันเลยว่าวันไหนจะให้นักเรียนนำวิชาไหนกลับบ้านเพื่อทบทวน อย่างวันจันทร์ให้นำวิชาภาษาไทยกลับไปอ่าน คุณครูประจำชั้นจะตรวจกระเป๋าเด็กก่อนออกจากห้องว่าในกระเป๋ามีหนังสือภาษาไทยไหม หรือแบกหนังสืออื่นเกินความจำเป็นกลับบ้านหรือไม่ ในหนึ่งสัปดาห์จะแบ่งให้ตรง 5 วิชาหลัก ส่วนนักเรียนจะนำกลับบ้านทุกวันจะเป็นสมุดจดศัพท์ กับสมุดจดการบ้าน
 
แพทย์ห่วงส่งผลถึงกระดูกในอนาคต
 
นายระพินทร์ พิมลศานติ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อและอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ กายภาพบำบัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลให้สัมภาษณ์ว่า การแบกกระเป๋าหนักเกินไปส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยลักษณะของกระเป๋าที่ใช้จะส่งผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป เช่น กระเป๋าสะพายหลังจะทำให้ส่วนของกล้ามเนื้อทราปิเซียส (Trapezius) หรือกล้ามเนื้อบ่าทำงานหนักเพราะต้องรับน้ำหนักจากการเกร็งและการกดทับของกระเป๋าในส่วนของกระดูกจะเป็นกระดูกสะบักหลังกับไหปลาร้า แต่กระดูกอาจไม่ส่งผลโดยตรงมากนักเนื่องจากกระดูกบริเวณนี้มีกล้ามเนื้อบ่าขนาดใหญ่คลุมอยู่ แต่กรณีในเด็กอายุ 5-10 ปี กล้ามเนื้อของเด็กมีความหยืดหยุ่นค่อนข้างดี แต่จะส่งผลถึงในอนาคตมากกว่า 
 
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์กล่าวว่า  หากเป็นกระเป๋าถือจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อแขนไหล่และกล้ามเนื้อบ่าจนถึงคอ เนื่องจากเวลาถือกระเป๋าถือคนส่วนมากจะถือข้างที่ถนัด ทำให้กล้ามเนื้อแขนข้างที่ใช้เป็นหลักทำงานหนักมากกว่า นอกจากนั้นการถือของหนักจะเหมือนตัวถูกดึงไปข้างหนึ่ง คอของเด็กจะเอียงต้านไปทิศตรงข้าม ทำให้ส่งผลกระทบถึงคอเกิดอาการเมื่อยล้า จึงเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อมากกว่า ปวดจากตัวกระดูกและข้อโดยตรง ยกเว้นแต่ว่าจะถูกกระตุก กระชาก แต่อาจเป็นเรื่องของกล้ามเนื้ออักเสบชนิดเรื้อรัง หรือทางแพทย์แผนไทยเรียกว่าอาการเส้นจม
นายระพินทร์ กล่าวว่า การแบกกระเป๋าหนักๆ จนเป็นความเคยชิน จะส่งผลต่ออนาคตและมีโอกาสเป็นโรคกระดูกเร็วขึ้นเนื่องจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง การยกของหนักหรือท่าทางในชีวิตประจำวันอย่างนั่งผิดท่านอนผิดท่าการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ ผู้ปกครองต้องควบคุมเวลาในการใช้งานคอมพิวเตอร์รวมถึงการนอนอ่านหนังสือบนเตียงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้ แนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมงเพื่อคลายกล้ามเนื้อที่เกร็ง ซึ่งจะช่วยชะลอความเสี่ยงของการเป็นโรคกระดูก
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กระเป๋าหนักส่งผลให้เด็กไม่สูง หรือไม่ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์บอกว่า ผลกระทบที่ว่าจะทำให้เด็กไม่สูงนั้น ทางการแพทย์ยังตอบไม่ได้แน่ชัด ยังไม่มีเหตุและผลรองรับ แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าอาจส่งผลเล็กน้อย เด็กที่สะพายของหนักอาจสูงน้อยกว่าปกติ “ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตท่าทางเวลาลูกหิ้วกระเป๋า ถ้าตัวเด็กเอียงไม่ว่าซ้ายขวาหน้าหลังถือเป็นเรื่องไม่ดี เพราะไม่เกิดความสมดุลทางร่างกายไม่ว่าจะหิ้วกระเป๋าในรูปแบบไหน ท่าทางที่ถูกต้องควรตั้งตรง ท่าที่ถูกต้องมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะปวดเมื่อยหรือมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อในอนาคต” นายระพินทร์กล่าว
 
ด้านนายแพทย์พรเทพ ม้ามณี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลกรุงเทพ บอกถึงการป้องกันการสะพายกระเป๋าหนักในกรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า แนะนำให้จัดเรียงของในกระเป๋าให้มีความสมดุลโดยให้ของที่หนักที่สุดอยู่ติดแผ่นหลังมากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการถ่วงน้ำหนักของกระเป๋าการปรับสายกระเป๋าก็มีส่วนช่วยเช่นกัน ปรับให้กระเป๋าแนบกับลำตัวมากที่สุด แต่อย่าแน่นจนสายกระเป๋ารัดจนเกินไปไม่เช่นนั้นก็เกิดอาการกดทับได้ และที่สำคัญไม่ควรสะพายแบบข้างเดียว
 
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลกรุงเทพแนะอีกว่าในกรณีกระเป๋าถือแนะนำว่าให้ถือในลักษณะสลับมือกันถือ เพื่อไม่เป็นการใช้งานข้างใดข้างหนึ่งหนักเกินไป รวมไปถึงท่ากายบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ 
 
‘กระทรวงศึกษา’เลี่ยงให้ข้อมูล ผู้สื่อข่าว “หอข่าว” ได้ติดต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อถามถึงนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องกระเป๋านักเรียนหนักซึ่งมีเจ้าหน้าที่พนักงานบอกให้ผู้สื่อข่าวยื่นเอกสารขอสัมภาษณ์ไปยังหน้าห้องท่านเลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
 
สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้การติดต่อรวดเร็วยิ่งขึ้นแต่เมื่อผู้สื่อข่าวยื่นเอกสารไปเจ้าหน้าที่ได้โยนเรื่องไปยังกองอำนวยการกลุ่มสารนิเทศเพื่อทำแบบบันทึกและส่งกลับมายังท่านเลขาธิการสพฐ.อีกครั้ง จนวันที่ 10 มกราคม 2556 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมายังผู้สื่อข่าวเพื่อขอข้อมูลน้ำหนักกระเป๋า แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง