องค์กรผู้บริโภคโวย กทค.แอบทำ "มติลับ" พรีเพด

Logo Thai PBS
องค์กรผู้บริโภคโวย กทค.แอบทำ "มติลับ" พรีเพด

ลดวันใช้งานแถมให้สิทธิบริษัทไม่ต้องคืนเงินสดหากยกเลิกสัญญา

 นางสาวบุญยืน ศิริธรรม  ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้เปิดเผยถึงการกำหนดระยะเวลาโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า  หรือพรีเพดว่า ขณะนี้เกิดความสับสนสำหรับผู้บริโภคเป็นอย่างมากเนื่องจากมีการออกมาให้ข่าวผ่านสาธารณะของกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) บางท่านว่า บอร์ดกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)  ได้มีมติให้มีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าแล้ว คือ เติมเงินแต่ละครั้งสามารถใช้บริการได้ 30 วัน  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงเหตุใดมติดังกล่าวจึงไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะให้เป็นที่ชัดแจ้งกว่าที่เป็นอยู่นี้

 
 “ถ้ายังจำได้เมื่อประมาณ 1 ปีที่แล้ว 8 ก.พ. 2555  กทค. ได้จัดให้มีการประชุมร่วม ๓ ฝ่าย ระหว่าง กทค. ตัวแทนผู้ให้บริการ และตัวแทนผู้บริโภค เพื่อหาข้อยุติและแนวทางแก้ไขปัญหานี้ และจากนั้น ทรูมูฟ ได้เสนอให้มีการกำหนดวันใช้งาน 60 วัน  แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับการอนุมัติจากบอร์ด กทค. พอมาปีนี้ เดือนกุมภาพันธ์เช่นกัน เมื่อบริษัทเดียวกันนี้เสนอมาที่ 30 วันต่อการเติมเงินหนึ่งครั้ง  กทค. กลับรีบมีมติอนุมัติ โดยไม่มีการเชิญตัวแทนผู้บริโภคเพื่อหารือด้วยเลย แปลกหรือไม่ ครั้งนี้ บริษัทเสนอ กทค.ก็รีบสนอง แล้วบอกว่าเป็นปีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคแต่เรื่องที่มีผลกระทบกับผู้บริโภคจำนวนกว่า 70 ล้านเลขหมายกลับไม่ให้มีการประชุมร่วม 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติร่วมกันเหมือนเช่นที่ผ่านมา และหากมีมติจริง ขอให้ กทค.ชี้แจงเหตุผล และการอนุญาติให้ผู้ประกอบการบังคับให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการตามเวลาที่ผู้ประกอบการกำหนด. มันคุ้มครองผู้บริโภคตรงไหน ”ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว
 
นางสาวบุญยืน กล่าวว่า ยังมีประเด็นที่เห็นว่ามติ กทค.ครั้งนี้ถอยหลังลงคลองคือ กรณีที่ระบุว่า หากผู้บริโภคเลิกใช้บริการพรีเพด หรือเมื่อเลิกสัญญากันแล้ว กทค.ได้มีมติให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้บริการโอนเงินค่าบริการที่ชำระล่วงหน้าไว้ไปยังเลขหมายอื่นที่อยู่ในโครงข่ายเดียวกันด้วยก็ได้ ซึ่งหมายความว่า หากสัญญาเลิกกันอย่างไรเสียเงินที่อยู่ในระบบก็ยังเป็นของบริษัท และบริษัทไม่จำเป็นต้องคืนเป็นเงินสดให้กับผู้บริโภค ทั้งที่เป็นเงินที่ผู้บริโภคชำระค่าบริการล่วงหน้าให้กับบริษัทและเป็นการขัดต่อ ประกาศ กทช.  เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๓๔ ซึ่งระบุว่า เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ โดยการคืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ อาจคืนด้วยเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการ หรือตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้
 
 
“พิจารณากันอย่างไรถึงมีมติที่ถอยหลังเช่นนี้ ทั้งที่ประกาศที่มีอยู่ก็ก้าวหน้าและคุ้มครองผู้บริโภคไว้อย่างดี ถ้าเช่นนี้เท่ากับท่านมีมติที่ขัดต่อประกาศของตัวเองอีกทั้ง ยังเป็นมติที่ทำให้ผู้บริโภคเสียหายกว่าเดิม เพราะเดิมเมื่อสัญญาเลิกกันผู้บริโภคพรีเพดสามารถไปขอเงินในระบบคืนจากผู้ให้บริการได้” นางสาวบุญยืนกล่าว
 
ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวต่อไปว่า หลักการสำคัญของการแก้ไขปัญหาการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพด คือ การไม่เร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องเร่งเติมเงินเข้าสู่ระบบ หรือไม่เร่งรัดผู้บริโภคเพื่อใช้บริการมากเกินไป ซึ่งหากผู้บริโภคยังคงมีเงินเหลืออยู่ในระบบและยังมีการใช้งานอยู่ต้องสามารถใช้บริการได้ ถึงแม้บริษัทจะมีสิทธิขออนุมัติจาก กรรมการกิจการโทรคมนาคมเพื่อกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ แต่การกำหนดวันในการใช้งานก็สมควรอยู่ในหลักการที่ไม่เร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องใช้บริการ
 
“ อีกประการที่อยากฝาก กทค. และสำนักงาน กสทช. คือ ให้เร่งรัดการดำเนินงานนำมติของ กสทช.และ กทค. เผยแพร่ให้สาธารณะรับทราบบ้าง ไม่ทราบว่า ท่านได้เคยเข้าเว็บไซต์ขององค์กรท่านเองหรือไม่ ตอนนี้ก็เดือนกุมภาพันธ์เข้าไปแล้ว แต่มติ กทค. ที่เผยแพร่ผ่ายเว็บไซต์ยังเป็นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วอยู่เลย ศักยภาพตกต่ำลงอย่างมาก หากเทียบกับตอนเป็น กทช. ที่จะลงมติเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทันที ดังนั้นหากมีมติแล้วก็กล้าๆเผยแพร่กันหน่อยให้ประชาชนเค้ารู้บ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเค้าในการใช้บริการโทรคมนาคม” นางสาวบุญยืนกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง