ถอดบทเรียนสันติภาพ"อาเจะห์"

25 มี.ค. 56
13:50
1,438
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียนสันติภาพ"อาเจะห์"

ชื่อเมืองอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ถูกหยิบยกขึ้นกล่าวถึงบ่อยครั้งในช่วงที่รัฐบาลกำลังจะเปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในฐานะที่อาเจะห์เคยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความขัดแย้งรุนแรง ทั้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารอินโดนีเซีย และการเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธกัม (GAM) เพื่อพยายามแบ่งแยกดินแดน แต่ท้ายที่สุดความขัดแย้งที่ดำเนินมานานร่วม 30 ปี ก็จบลงได้ด้วยการเจรจาสันติภาพ ที่ต้องใช้ทั้งเวลา และความตั้งใจจริงของผู้เกี่ยวข้องหลายต่อหลายคน จึงเป็นอีกหนึ่งในบทเรียนที่น่าเรียนรู้ เพื่อสร้างสันติภาพ

                         

<"">

มัสยิดกลางในบันดา อาเจะห์ เมืองเอกของเขตปกครองตนเองอาเจะห์ เปิดรับผู้ศรัทธาที่มาประกอบศาสนกิจรวมทั้งผู้มาเยือนจากต่างถิ่น เป็นภาพที่หากย้อนกลับไปราว 20 ปีก่อน ยากที่จะได้เห็นเพราะพื้นที่มีการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างทหารกับกองกำลังอาเจะห์เสรี หรือ กัม เพื่อแบ่งแยกดินแดน

ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 2519 สืบเนื่องมาจากหลายปีก่อนหน้านั้น รัฐบาลอินโดนีเซียสมัยอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันแก่บริษัทจากประเทศสหรัฐฯ ขณะที่คนในอาเจะห์ไม่ได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม เช่นเดียวกับทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ที่คนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

<"">
<"">

ความไม่พอใจยังรวมถึงเรื่องการปกครองที่มีคนจากส่วนกลางมาควบคุมโดยบางครั้งละเลยความรู้สึกของคนในท้องถิ่น ความไม่เท่าเทียมในเรื่องการเข้าทำงานภาครัฐ ประกอบกับประวัติศาสตร์อาณาจักรอิสลามอาเจะห์ที่เคยรุ่งเรืองในยุคก่อนที่จะถูกดัชต์ครอบครอง ทำให้เกิดความรู้สึกรุนแรงด้านชาติพันธุ์

ที่สำคัญคือ ช่วงประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ มีการจำกัดและห้ามแสดงออกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นเหตุผลให้ ฮัซซัน ดิ ติโร่ ก่อตั้งกลุ่มกัมเพื่อเรียกร้องเอกราช แต่ขาดแรงหนุนจากทั้งในอาเจะห์และต่างชาติ ความเคลื่อนไหวจึงจบลงใน 1 ปี และดิ ติโร่ ต้องหนีไปสวีเดน

<"">
<"">

ช่วงปี 2532 กองกำลังกัม ได้รับความสนับสนุนจากต่างชาติ และต่อต้านกองทัพอย่างเข้มแข็ง ทำให้รัฐบาลจัดตั้งเขตหวงห้ามทางทหารในอาเจะห์ ช่วงนี้เองที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในพื้นที่จากฝีมือของทั้งทหารและกองกำลังกัม

ท่ามกลางความรุนแรง ยังคงมีความพยายามเพื่อสันติภาพ ปี 2541 หลังการโค่นล้มประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ประธานาธิบดียูซุฟ ฮาบิบี สั่งถอนทหารจากอาเจะห์ เพื่อปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ ขณะที่กองกำลังกัมเริ่มแข็งแกร่งมากขึ้น แต่ในฝั่งรัฐบาล มี พล.ท.สุสิโล่ บัมบัง ยูโดโยโน่ ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาธิการด้านพลเรือนและการเมือง ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่ออาเจะห์

ควบคู่ไปกับความพยายามของรัฐบาล ที่ส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีไปยังอาเจะห์ เพื่อเริ่มกรุยทางสู่การเจรจา สืบต่อมาจนถึงยุคของประธานาธิบดีอับดุล เลาะห์มัน วาฮิด ที่ให้นายฮัซซัน วิรายุดา ทูตประจำเจนีวา ณ ขณะนั้น สานต่อการเจรจาแต่กระบวนการทุกอย่างชะงักลงในช่วงปี 2545 -2546 เพราะในยุคนางเมกาวตี ซูกาโน่ บุตรี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี  แม้วิรายุดาและ พล.ท.ยูโดโยโน่ เจรจาจนได้ข้อตกลงหยุดยิง แต่ผู้นำกลับประกาศใช้กฎอัยการศึกในอาเจะห์ ครั้งนี้ทั้งกองทัพ กองกำลัง และพลเรือน สูญเสียหนัก และตอนนี้เอง ที่นายยูซุฟ คัลลาห์ รัฐมนตรีสวัสดิการสังคม เสนอตัวขอประสานการเจรจาอีกครั้ง เพื่อให้สันติภาพเกิดขึ้น

 
<"">

ปี 2547 อินโดนีเซียเข้าสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดี กระบวนการสันติภาพหยุดชะงักอีกครั้ง แต่วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดสึนามิซัดชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ สร้างความสูญเสียสาหัสแก่พลเมือง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ทั้งรัฐบาลและกลุ่มกัม เร่งรัดกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพ จนได้ข้อตกลงจัดตั้งเขตปกครองตนเอง แบ่งรายได้จากทรัพยากรให้ท้องที่ร้อยละ 70 รัฐบาลกลางร้อยละ 30 แต่อำนาจด้านกลาโหม ความมั่นคง การต่างประเทศ และระบบเศรษฐกิจการคลัง ยังคงอยู่กับรัฐบาลกลาง กว่า 20 ปีของความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 15,000 คน บวกกับอีก 7 ปีในการดำเนินการสู่สันติภาพ ในที่สุดความสงบจึงคืนสู่อาเจะห์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดบรรลุได้ ก็ด้วยความตั้งใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในทุกๆฝ่าย ที่มีความตั้งใจให้เกิดสันติภาพแทนความ

ขัดแย้ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง