เผยตัวผู้บริจาคกระสุนเถื่อนให้นักกีฬายิงปืนซีเกมส์

การเมือง
14 พ.ค. 58
15:26
758
Logo Thai PBS
เผยตัวผู้บริจาคกระสุนเถื่อนให้นักกีฬายิงปืนซีเกมส์

เมื่อวานนี้ (13พ.ค.2558) ไทยพีบีเอสเปิดประเด็นการทุจริตซื้อกระสุนปืนเถื่อนในแวดวงกีฬายิงปืน เป็นความร่วมมือระหว่างนายทุนกับสมาคมยิงปืนแต่ละจังหวัด สั่งซื้อกระสุนมากเกินความจำเป็นนำไปขายต่อทำกำไร เมื่อตรวจสอบราคาของกระสุนหน้าโรงงาน พบว่าขบวนการนี้ขายกระสุนต่อในราคาสูงกว่า 2-3 เท่า และมีวิธีเลี่ยงภาษีทำกำไรได้มากขึ้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังล้วนมีสายสัมพันธ์กับอดีตนักกีฬาทีมชาติ

ปัญหาของสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทย ถูกจุดประเด็นครั้งแรกโดยนายจักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม การออกมาร้องเรียนของจักรกฤษณ์มีทั้งกรณีถูกอมเบี้ยเลี้ยง อมกระสุน อมปืน และอมเงินรางวัลนักกีฬา หน่วยงานของรัฐยังไม่มีการตรวจสอบ ขณะที่ผู้บริหารของการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมในกระบวนการทำผิดด้วย จึงทำให้การหาผลประโยชน์จากการซื้อขายกระสุนปืนขยายวงกว้างขึ้น
 
การบริจาคกระสุนปืนที่ยังไม่มีคำอธิบายทำให้ผู้ว่าการ กกท. ผู้อำนวยการ 2 คนใน กกท. พ.ต.ท.วิรัตน์ การดี, นายสมเกียรติ ทรัพย์สวนแตง, นายบุญกล้า สว่างแสง รวมถึงนายโอภาส เรืองปัญญาวุฒิ อดีตนักยิงปืนทีมชาติเป็นผู้ถูกกล่าวหากรณีฝ่าฝืนมาตรา 7 ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน มี และใช้เครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต นายอธิปรัฐ กาญจนสุวรรณ อดีตนายกสมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทยอ้างว่าขั้นตอนการได้กระสุนปืนบริจาคครั้งนี้มาจากการประสานงานของนายสมเกียรติ ทรัพย์สวนแตง ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุพรรณบุรี
 
เมื่อย้อนกลับไปตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่าง กกท. นักกีฬา และพ่อค้านอกระบบจะเห็นเครือข่ายการทำธุรกิจฟอกกระสุนเถื่อนชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งการซื้อกระสุนเกินจำนวน 94,500 นัดผ่านสมาคมส่งเสริมกีฬายิงปืน จ.อุบลราชธานี ไม่มีความสอดคล้องกับแผนการฝึกซ้อมของนักกีฬาชุดซีเกมส์ที่เมียนมา เมื่อปี 2556 ผู้ที่รับมอบอำนาจในการขายครั้งนี้ คือ ร.ต.อ.วราวุธ มัจฉาชีพ พี่ชายของ เทวฤทธิ์ มัจฉาชีพ นักกีฬาทีมชาติชุดซีเกมส์
 
ปีเดียวกัน สมาคมส่งเสริมกีฬายิงปืน จ.อุบลราชธานี โดยนายธนันท์ชัย อธิมาศชัยรัชต์ เป็นนายกสมาคมยังขายกระสุนปืนจำนวน 89,015 นัด พร้อมเป้ายิง เป็นเงินทั้งหมด 513,319.50 บาท ให้กับสถานีตำรวจภูธร จ.เชียงใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อดำเนินการเก็บตัวร่วมการแข่งขันกีฬากองทัพไทยครั้งที่ 46 โดยมีหลักฐานการชำระเงินในวันที่ 29 กรกฎาคม 2556 ซึ่งการซื้อขายทั้ง 2 ครั้งไม่ปรากฏใบอนุญาต ป.3 ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาวุธปืน
 
สิ่งที่น่าสังเกตของสมาคมส่งเสริมกีฬายิงปืน จ.อุบลราชธานี ต้องย้อนไปดูการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมปี 2550 โดยมีรายชื่อของพี่น้องตระกูลมัจฉาชีพ 2 คนเป็นคณะกรรมการ โดยทั้งคู่เป็นพี่ชายของเทวฤทธิ์ มัจฉาชีพ กรรมการหลายคนต่างเคยเป็นอดีตนักกีฬาทีมชาติ และผู้ปกครองนักกีฬา แม้บางคนจะไม่มีรายชื่อในกรรมการชุดปัจจุบันที่มีนายธนัญชัย อธิมาศชัยรัตน์ เป็นนายก แต่ยังอยู่เบื้องหลังการดำเนินการของสมาคม นอกจากนั้น สมาคมส่งเสริมกีฬายิงปืน จ.อุบลราชธานี ยังมีเครือข่ายเชื่อมโยงไปถึงการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมกีฬายิงปืนอินเนอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมี ร.ต.อ.วราวุธ มัจฉาชีพ เป็นนายกสมาคม
 
กระสุนขนาด .22 หากซื้อจากโรงงาน ราคาทุนประมาณ 4-8บาท แต่ที่ผ่านมามีการทำเบิกถึง 15-16 บาทกระสุน .177 ราคาตลับละ 175 บาท สามารถขายได้ถึง 500 บาท ส่วนกระสุน .32 ชนวนกลางราคาหน้าโรงงาน 9-12 บาท แต่ขายได้ถึง 20 บาท หากเลี่ยงภาษีได้ก็ทำกำไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และหากซื้อตามขั้นตอนที่ถูกต้องนอกจากต้องมีใบอนุญาตแล้ว กรณีนำเข้าจากต่างประเทศต้องจ่ายภาษีถึงร้อยละ 30 และแวตอีกร้อยละ 7 การเลี่ยงภาษีจึงเป็นวิธีการหนึ่งในการซื้อกระสุนเถื่อนในช่วงปี 2553-2555 
 
นายอธิปรัฐ กล่าวว่า สมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทยต้องรับภาระภาษีสะสมมากถึง 2 ล้านบาท ซึ่งหากคิดในอัตราร้อยละ 30 เท่ากับมีการซื้อขายกระสุนเถื่อนจำนวนเกือบ 7 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้มีอีกหลายรายการที่สมาคมยิงปืนแห่งประเทศไทยเป็นหนี้แผ่นดินจากการเลี่ยงภาษี
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง