นายกฯยังไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง

การเมือง
5 มิ.ย. 56
04:23
74
Logo Thai PBS
นายกฯยังไม่อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง

สำหรับการคืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้กับนายถวิล เปลี่ยนสี ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง นายกรัฐมนตรียังไม่ตัดสินใจว่าจะยื่นอุทธรณ์ โดยได้มอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และได้มอบหมายให้นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหารือ และตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน ก่อนพิจารณาอุทธรณ์

ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่พิจารณาเปลี่ยนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. โดยรอคำสั่งให้ศาลปกครองชี้แนวทางให้ชัดเจนก็พร้อมปฏิบัติตาม โดยเตรียมมอบหมายงานให้กองทัพร่วมรับผิดชอบ และจะลงตรวจพื้นที่ด้วยตัวเองในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังได้มอบหมาย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองผู้บัญชาการทหารบก มาทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์แก้ปัญหาชายแดนใต้ ร่วมทำงานบูรณาการกับ 6 หน่วยงาน และให้กองทัพเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม มีกำหนดการจะลงพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 15 มิถุนายน และจะค้างคืนในพื้นที่ด้วย

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวย้ำที่จะทำหน้าที่โดยไม่หวั่นไหวต่อการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี แม้จะถูกเปรียบเทียบว่ามีหน้าที่เสมือนเสมียนรัฐบาล และมั่นใจว่า หากมีการเปลี่ยนตัว เลขาธิการ สมช.ในฐานะหัวหน้าคณะตัวแทน ผู้พูดคุยเพื่อสันติภาพในภาคใต้ ก็ไม่กระทบต่อการพูดคุยหรือเจรจา เพราะรัฐบาลถือเป็นนโยบายที่ต้องเดินหน้า

สำหรับการพูดคุยเพื่อสันติภาพในภาคใต้ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้จะเป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทน สมช.กับกลุ่มบีอาร์เอ็น เป็นครั้งที่ 3 โดยเป้าหมายหลักอยู่ที่การลดความรุนแรง ด้วยการค้นหากลุ่มผู้ก่อเหตุอย่างจริงจัง หลังจาก 2 ครั้งก่อน คือ ครั้งแรกตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นตอบรับที่จะสื่อสารลดความรุนแรงให้ ส่วนครั้งที่ 2 คือการกล่าวย้ำที่จะสื่อสารกับทุกกลุ่ม

สำหรับกรอบการพูดคุยครั้งที่ 3 กระทรวงกลาโหมเสนอกรอบไว้ 6 ข้อ คือต้องพบปะบีอาร์เอ็นต่อไป, ยังคงต้องประสานผ่านรัฐบาลมาเลเซีย, แต่ละครั้งที่พบกันต้องพัฒนาความสัมพันธ์, ต้องตรวจสอบว่าแต่ละคนมีบทบาทอย่างไรในกลุ่ม, ต้องสร้างกระแสให้พื้นที่เห็นด้วย และยุทธวิธีต้องเข้มแข็ง

ส่วนกรอบข้อเสนอของ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอรวม 5 ข้อ คือการตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์, ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้าพบเร่งรัดขอคืนความเป็นธรรมได้, เร่งยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน, การพูดคุยเกิดขึ้นทุกกลุ่มยึดกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ รวมถึงเป้าหมายต้องลดความรุนแรงไร้แอบแฝง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง