ความหวังของ
นางวาสนา มาบุตร มารดาของผู้ถูกจำคุกคดีเผาศาลากลางจังหวัด ติดตามข่าวการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ นิรโทษกรรม อย่างใกล้ชิด ด้วยความหวังว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้ น.ส.ปัทมา มูลมิล บุตรสาว ที่ถูกศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิพากษาให้จำคุก 33 ปี 4 เดือนฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์อันเป็นสมบัติของแผ่นดินทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายกว่า 92 ล้านบาท รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกศาลพิพากษาจำคุก ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุดรธานีอุบลราชธานี ขอนแก่น และมุกดาหาร รวม 23 คนและยังอยู่ในชั้นไต่สวน 3 คน พ้นผิดทันที
นางวาสนา ยอมรับว่า หลังจากตนและบุตรสาวได้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 จนบุตรสาวถูกจำคุกมานานกว่า 2 ปี ยังไม่เห็นความจริงใจในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง จากแกนนำและนักการเมืองที่เคยให้สัญญาไว้กับคนเสื้อแดง พร้อมมองว่า หากจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในอนาคต ต้องใช้สติวิเคราะห์เหตุการณ์ให้ละเอียด เพื่อไม่ให้ตกเป็นผู้ต้องหาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหมือนในอดีต
ด้าน สกุนา ทิพย์รัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น มองว่า กฎหมายนิรโทษกรรมถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาทุกยุคทุกสมัยกว่า 20 ฉบับที่เคยประกาศใช้ทั้งในรูปพระราชบัญญัติในปัจจุบัน , พระราชกำหนด หรือ แม้แต่ในกฏหมายรัฐธรรมนูญก็เคยเขียนไว้ ซึ่งหากพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้จะทำให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาในคดีความผิดทางอาญาได้รับยกเว้นโทษ และไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่งในเรื่องความเสียหาย รวมถึงคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็จะถูกจำหน่ายออกจากระบบทันที
สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ได้บัญญัติให้การกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งน่าจะครอบคลุมถึงการกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดในคดีอาญา และบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่การกระทำนั้นมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณา ซึ่งน่าจะครอบคลุมถึง การกระทำที่เข้าข่ายกระทำผิดตามมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในช่วง 19 ก.ย.49 - 10 พ.ค.54 พ้นผิดทันทีหากมีผลบังคับใช้
แท็กที่เกี่ยวข้อง: