นักวิชาการประเมินทางรอด "ทีวีดิจิตอล" ดำเนินการให้คุ้มค่าการลงทุน

เศรษฐกิจ
27 ธ.ค. 56
04:22
174
Logo Thai PBS
นักวิชาการประเมินทางรอด "ทีวีดิจิตอล" ดำเนินการให้คุ้มค่าการลงทุน

นักวิชาการยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับการอยู่รอดของทีวีดิจิตอลที่มีต้นทุนการดำเนินการ ค่าใช้จ่าย รวมถึงเงินประมูลที่มีมูลค่าสูง เบื้่องต้นทีวีดิจิตอล ประเภท SD มีราคาถูกกว่า HD เท่าตัว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเร่งสร้างรายได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดทางธุรกิจ

มีการประเมินกันว่า หากคำนวณต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่มีสิทธิ์ได้รับใบอนุญาตช่องรายการทั่วไป ประเภท SD โดยพิจารณาจากผู้เสนอราคาสูงสุดที่ประมูลได้เมื่อวานนี้ ที่ 2,355 ล้านบาท ได้ใบอนุญาต 15 ปี เฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายปีละ 157 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13 ล้านบาทต่อเดือน

 
นอกจากนี้ ยังมีค่าเช่าโครงข่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 4.6 ล้านบาทต่อเดือน และมีค่าเช่าสัญญาณดาวเทียมทั้งแบบซีแบนด์ และเคยูแบนด์ในระบบความคมชัดปกติ อีกอย่างละ 1 ล้านบาทต่อเดือน รวมเป็น 2 ล้านบาทต่อเดือน

    

 
ขณะเดียวกัน ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีอีกร้อยละ 2 ของรายได้ และจ่ายให้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. อีกร้อยละ 2 ของรายได้
 
ประเมินจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ผู้ได้ใบอนุญาตช่องทั่วไปความคมชัดปกติ มีต้นทุนอยู่ที่ 19.6 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมกับจ่ายอีก ร้อยละ 4 ของรายได้ในแต่ละปี
 
แต่หากคิดค่าใช้จ่ายในลักษณะเดียวกันกับทีวีดิจิตอลแบบความคมชัดสูง HD แล้ว จะพบว่า ต้นทุน HD จะสูงกว่า SD ถึง 2 เท่า ดังนั้น การหารายได้ของช่อง HD ต้องหารายได้ให้มากกว่า SD เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจทีวีที่จะรุนแรงขึ้น หลังมีฟรีทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจถึง 24 ช่อง
 
นายไพฑูรย์ ไกรพรศักดิ์ หัวหน้าคณะวิจัยคิดราคาประมูล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงราคาการประมูลทีวีดิจิตอล ช่อง HD ว่า ราคาสูงสุดที่ 3,530 ล้านบาท เป็นราคาที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไป มีโอกาสคุ้มทุนภายในระยะเวลา 5 ปี

    

 
ขณะที่นายนิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมทีวีดาวเทียมแห่งประเทศไทย มองว่า ราคาการประมูลใบอนุญาตช่อง HD แพงเกินไป และไม่เห็นความจำเป็น ที่ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ต้องเสียเงินจำนวนมาก เพื่อผลิตรายการออกอากาศผ่านช่อง HD เพราะเป็นการออกอากาศผ่านดาวเทียมเหมือนกัน
 
การเข้าร่วมประมูลจึงเป็นความต้องการเปิดตลาดใหม่ หรือมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับราคาหุ้นเท่านั้น ซึ่งจากผลการศึกษาที่ผ่านมา ราคาประมูลช่อง HD ที่ 1,500 ล้านบาท ก็ถือว่าแพงมากแล้ว ส่วนการประมูลช่อง SD มองว่า ราคาที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1,000 ล้านบาท เพราะถ้าราคาสูง 1,000-2,000 ล้านบาท ควรเลือกประมูลช่อง HD มากกว่า


ข่าวที่เกี่ยวข้อง