2 คนไทยร่วมทีมช่วยชีวิตคนงานเหมืองในชิลี
สำหรับปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานเหมืองชิลีในครั้งนี้มีการประเมินจากสื่อว่าใช้เงินประมาณ 300 ล้านบาท โดยที่ประธานาธิบดีชิลียังไม่ได้ระบุตัวเลขออกมาแต่ยืนยันว่าชีวิตคนสำคัญกว่า และประกาศหาผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกมาร่วมทีมช่วยเหลือคนงานเหมืองที่ติดอยู่ใต้อุโมงค์ในครั้งนี้ ซึ่งก็มีคนไทยที่มีความสามารถและชำนาญ 2 คนรวมอยู่ด้วย
2 คนไทยที่ไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือชีวิตของคนงานเหมืองนี้ มีชื่อว่า นายวชิรพงศ์ นาสารีย์ อายุ 30 ปี และนายสมพงษ์ พงกันยา อายุ 32 ปี ช่างเทคนิคชาวไทยของบริษัท เม็ตตาโลจิก อินสเป็คชั่น เซอวิสเซส จำกัด
ทั้ง 2 คนได้เดินทางออกจากไทยไปยังชิลีเมื่อวันที่ 28 ก.ย. เพื่อไปเข้าร่วมทีมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือคนงานเหมืองซาน โฮเซ่ ในประเทศชิลี ที่ติดอยู่ในอุโมงค์จำนวน 33 คน ซึ่งการเดินทางไปของช่างเทคนิคไทยเกิดขึ้นหลังจากชิลีตัดสินใจใช้แนวทางช่วยเหลือคนงานเหมืองด้วยการขุดอุโมงค์ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 28 นิ้ว ลงไปยังตำแหน่งที่คนงานเหมืองติดอยู่ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยเหลือได้ แต่เนื่องจากความไม่แข็งแรงของเหมืองและพื้นที่โดยรอบที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยง รวมถึงความเป็นไปได้ที่อุโมงค์จะถล่มซ้ำ ทำให้ทางชิลีตัดสินใจใช้วิธีติดตั้งปลอกท่อเหล็กเสริมแรง ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 24 นิ้ว และหนาครึ่งนิ้วที่บริเวณทางเดินของการช่วยเหลือ
ทีมปฏิบัติการที่ชิลีจึงได้ติดต่อไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัท เม็ตตาโลจิกฯ ในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี "เม็ตตาเฟส" ที่ใช้อุลตราโซนิกตรวจสอบแนวเชื่อมต่อหรือรอยต่อของท่อโลหะได้อย่างละเอียด ถูกต้อง และรวดเร็ว ที่สำคัญเทคโนโลยีนี้สามารถทำงานร่วมกับคนได้และไม่เป็นอันตราย ขณะที่การตรวจสอบแนวเชื่อมด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมคือการเอกซเรย์นั้น นอกจากจะช้าแล้วยังอาจได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสีอีกด้วย
หลังจากที่บริษัทแม่ในประเทศแคนาดาได้รับการประสานจากรัฐบาลชิลีแล้ว ก็พิจารณาเลือกหาทีมช่างเทคนิคในสาขาต่างประเทศทั้ง 8 ประเทศ ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วย ปรากฏว่า ทีมช่างเทคนิคของไทย 2 คน คือนายวชิรพงศ์ นาสารีย์ อายุ 30 ปี และนายสมพงษ์ พงกันยา ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางปฏิบัติการภารกิจกู้ภัยในครั้งนี้ เพราะมีผลงานยอดเยี่ยมและเคยไปทำงานที่ชิลีมาก่อนในช่วงต้นปี นอกจากนั้นทางทีมงานในต่างประเทศที่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันมาก่อน เกิดประทับใจในการทำงานของช่างเทคนิคไทยทั้ง 2 คนที่ขยัน สู้งานหนัก และมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน
ซึ่ง 2 คนงานไทยที่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานเหมืองในชีลีจะต้องไปตรวจสอบข้อต่อเหล็กที่ได้สร้างขึ้นมาพิเศษและได้เชื่อมมาแล้วว่ามีความแข็งแรงทนทานมากน้อยแค่ไหน มีรอยรั่วเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งการเชื่อมของรอยต่อจะมีความผิดพลาดไม่ได้เพราะถ้าผิดพลาดจะหมายถึงอันตรายและชีวิตของคนงานทั้ง 33 คน
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
-