ก.พลังงานคาดเหตุเรือโดยสารระเบิดเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด ยืนยันใช้ก๊าซ LNG ภาคขนส่งปลอดภัย

อาชญากรรม
5 มี.ค. 59
14:55
684
Logo Thai PBS
ก.พลังงานคาดเหตุเรือโดยสารระเบิดเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด ยืนยันใช้ก๊าซ LNG ภาคขนส่งปลอดภัย
กรมธุรกิจพลังงานยืนยันการใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลงในภาคขนส่งสามารถทำได้และมีความปลอดภัย ขณะที่รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าการดัดแปลงเครื่องยนต์เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันทำให้การเผาไหม้ไม่ดี หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

ภายหลังเกิดเหตุการณ์เครื่องยนต์ของเรือโดยสารในคลองแสนแสบระเบิดที่ท่าเรือวัดเทพลีลา เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (5 มี.ค.2559) จนทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และพบว่าเรือที่เกิดเหตุใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างน้ำมันดีเซลกับก๊าซ LNG ในสัดส่วน 50:50 เพื่อลดต้นทุนค่าน้ำมัน ซึ่งในจำนวนเรือโดยสารที่ให้บริการในคลองแสนแสบทั้งหมด 70 ลำ มีเรือที่ใช้น้ำมันดีเซลร่วมกับก๊าซ LNG ประมาณ 30 ลำ

กรมธุรกิจพลังงานยืนยันการใช้ก๊าซ LNG เป็นเชื้อเพลงภาคขนส่งสามารถทำได้และมีความปลอดภัย

นายถวัลย์ ธนกิจเจริญพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การใช้ก๊าซ LNGในภาคขนส่งนั้นมีการใช้ในหลายประเทศและมีความปลอดภัย แต่ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบัน ปตท.เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายในรูปแบบของการส่งจ่ายผ่านท่อให้กับโรงไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ของการนำเข้าทั้งหมด

โครงการจำหน่ายก๊าซ LNG ในภาคขนส่งให้กับบริษัทครอบครัวขนส่ง ถือเป็นโครงการนำร่องที่ริเริ่มใช้กับภาคขนส่ง ซึ่งตามระเบียบจะต้องถูกควบคุมโดยกรมเจ้าท่าในแง่มาตรฐานการติดตั้ง รวมถึงอุปกรณ์ในการเก็บก๊าซดังกล่าว ซึ่งหากได้มาตรฐานและระบบเครื่องยนต์ถูกต้องก็จะไม่มีปัญหาด้านความปลอดภัย ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน ยืนยันว่า การควบคุมการจำหน่ายก๊าซ LNG ในปัจจุบันทำได้โดยการควบคุมที่ผู้จำหน่ายที่ได้รับอนุญาตคือ บริษัท ปตท.และในส่วนของการจำหน่ายให้ภาคอุตสาหกรรม กรมฯจะตรวจความปลอดภัยของสถานประกอบการด้วยเช่นกัน

 

กระทรวงพลังงานคาดเรือโดยสารระเบิดเกิดจากอุปกรณ์ชำรุด ไม่น่าเกิดจากการติดตั้งก๊าซ LNG

นายทวารัฐ สูตะบุตร โฆษกกระทรวงพลังงาน ประเมินเหตุการณ์เรือระเบิดในคลองแสนแสบ โดยยืนยันว่าจากภาพถังก๊าซยังอยู่ในสภาพดี ดังนั้นการที่เรือขนส่งผู้โดยสารระเบิด สาเหตุไม่น่าจะเกิดจากการติดตั้งก๊าซ LNG แต่อาจเกิดจากอุปกรณ์ต่างๆที่ติดตั้งในเรือ ซึ่งอาจมีบางส่วนชำรุดจนทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องตรวจสอบอย่างละเอียด

พร้อมกันนี้ยังย้ำว่าก๊าซ LNG หรือที่ประชาชนรู้จักกันทั่วไปคือก๊าซ NGV เป็นก๊าซที่ไม่ติดไฟและไม่สามารถระเบิด โดยอาจเกิดการติดไฟได้ แต่จะไม่เกิดไฟลุกลามในลักษณะของเพลิงไหม้ เนื่องจากก๊าซสามารถระเหยได้อย่างรวดเร็วในอากาศ ทั้งนี้การงดเดินเรือติดก๊าซชั่วคราว เป็นแนวทางที่ถูกต้องเพื่อตรวจสอบรายละเอียดที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามการติดตั้งก๊าซ LNG ในเรือขนส่งผู้โดยสารเป็นความร่วมมือของภาคเอกชนและบริษัท ปตท.ซึ่งดำเนินการมานานแล้วและที่ผ่านมายังไม่เคยมีเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น 

 

วท.ชี้ดัดแปลงเครื่องยนต์ลดปริมาณใช้น้ำมันทำให้การเผาไหม้ไม่ดี-เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

นายวรวรงค์ รักเรืองเดช รองโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวถึงกรณีเหตุระเบิดของเรือโดยสารที่ท่าเรือวัดเทพลีลา ว่า เรือโดยสารดังกล่าวติดตั้งเชื้อเพลิง 2 ระบบคือดีเซลและก๊าซ LNG ซึ่งจากการสันนิษฐานของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจากการระเบิดของถังก๊าซเชื้อเพลงบริเวณท้ายเรือ โดยมีผู้สังเกตว่ามีควันและกลิ่นก๊าซท้ายเรือบริเวณที่ตั้งถังก๊าซ ในขณะที่เจ้าของเรือให้ข้อมูลว่าเหตุเกิดจากบริเวณห้องเครื่องยนต์

นายวรวรงค์ กล่าวอีกว่า โดยปกติก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เป็นก๊าซที่มีสัดส่วนของก๊าซมีเทนมากถึงร้อยละ 80-90 ซึ่งเป็นก๊าซที่ไวไฟกว่าก๊าซ LPG หรือก๊าซหุงต้ม สามารถติดไฟได้ก็ต่อเมื่อมีปริมาณก๊าซรั่วไหลในอากาศมากถึงร้อยละ 5-15 ของปริมาตรของอากาศ ซึ่งหากมีประกายไฟในบริเวณที่เกิดเหตุก็อาจจะทำให้เกิดการติดไฟที่ลุกลาม สังเกตเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ได้

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งของการระเบิดอาจมาจากการที่ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติเหลวเกิดปัญหา ทำให้ไม่สามารถรองรับความดันของก๊าซธรรมชาติได้ ซึ่งโดยปกติการดัดแปลงเครื่องยนต์เชื้อเพลิง 2 ระบบ เครื่องยนต์ดีเซลมีหลักการทำงานที่เริ่มต้นด้วยการฉีดอากาศเข้าไปในกระบอกสูบของเครื่องยนต์ แล้วลูกสูบจะอัดอากาศให้มีปริมาตรลดลง ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสูงขึ้น จากนั้นจะฉีดละอองน้ำมันดีเซลที่เป็นฝอยเล็กๆเข้าไป เมื่อละอองน้ำมันสัมผัสกับอากาศที่ร้อนสูงมากกว่า 500 องศาฯ จะติดไฟและก่อให้เกิดการลุกลาม ส่วนเครื่องยนต์ที่ดัดแปลงจะใช้ก๊าซผสมกับอากาศ ซึ่งจะทำให้ลดประมาณการใช้น้ำมันดีเซลลง แต่จะทำให้เกิดการเผาไหม้ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าและทำให้เครื่องยนต์สึกหรอได้เร็วขึ้น หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้มีการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง