ธุรกิจรปภ.ไม่แฮปปี้พรบ.ใหม่ แค่จัดระเบียบแต่ไม่เท่าเทียม สร้างภาระ-เพิ่มค่าใช้จ่าย

สังคม
16 มี.ค. 59
14:57
10,282
Logo Thai PBS
ธุรกิจรปภ.ไม่แฮปปี้พรบ.ใหม่ แค่จัดระเบียบแต่ไม่เท่าเทียม สร้างภาระ-เพิ่มค่าใช้จ่าย
จวกพรบ.รปภ.ไม่เท่าเทียม-สร้างภาระ-ค่าใช้จ่ายให้บริษัทเอกชน แถมยังไม่ครอบคลุมทุกหน่วย เช่น อผศ. รปภ.อิสระ รปภ.ของหน่วยงาน ฯลฯ ล่าสุดยื่นร้องนายกฯทบทวน และเตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองแล้ว ด้านโฆษกรัฐบาลอ้าง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ภายหลังที่มีการเผยแพร่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 ผ่านทางราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านการรักษาความปลอดภัยและพนักงานรักษาความปลอดภัยแสดงความรู้สึกกังวล เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขณะที่สหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัยเตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

นายวัชรพล บุษมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ระบุถึงที่มาของ “พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย” ว่า ก่อนหน้านี้มีการยกร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัย ในปี 2534 โดยสมาคมผู้ประกอบการรักษาความปลอดภัยในขณะนั้น ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้ตกไปเนื่องจากมีการยุบสภา ส่วนอีกร่างคือร่างพระราชบัญญัติการรักษาความปลอดภัยเอกชน ในปี 2537 โดยสมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีการนำร่าง พ.ร.บ.นี้มาแก้ไขในปี 2550 โดยให้มีองค์กรวิชาชีพและธุรกิจ รปภ.เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย และหลังจากนั้นก็มีการปรับแก้เนื้อหาหลายรอบในหลายรัฐบาล กระทั่งมาถึงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้นำ พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง

 

ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คณะทำงานยกร่างได้พิจารณาร่วมกับตำรวจ โดยร่างที่สมาคมฯ รับได้ควรจะเป็นร่างที่แก้ไขในหมวดคณะกรรมการ มีสัดส่วนที่เป็นธรรมและสมาคมต้องมีส่วนร่วมด้วย แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามที่เห็นชอบร่วมกันและยังมีการเปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.จากเดิมว่า “พ.ร.บ.การรักษาความปลอดภัยเอกชน” เป็น “พ.ร.บ.ธุรกิจการรักษาความปลอดภัย” ซึ่งทางสมาคมไม่เห็นด้วยและได้ยื่นคัดค้าน แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

อีกทั้ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังบังคับใช้กับ “บริษัทรักษาความปลอดภัย” และ “พนักงานรักษาความปลอดภัย” แต่ไม่ได้บังคับใช้กับองค์การทหารผ่านศึก และบริษัท หรือสถานประกอบการที่จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเอง หรือแม้แต่พนักงานรักษาความปลอดภัยอิสระ ซึ่งหากจะสร้างมาตรฐานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายก็คงจะทำไม่ได้โดยสมบูรณ์

 

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้แรงงานในด้านการรักษาความปลอดภัยยังขาดแคลนและ พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็ไม่ปรากฎว่า ให้แรงงานต่างด้าวเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวร้อยละ 7-8 ที่ประกอบอาชีพนี้ โดยเฉพาะในงานก่อสร้างหรือหมู่บ้านที่ไม่ต้องใช้ทักษะมาก จึงมีส่วนทำให้แรงงานในระบบหายไปจากภาคธุรกิจการรักษาความปลอดภัยเช่นกัน

“แม้ก่อนหน้านี้จะยังไม่มีการจัดระดับมาตรฐานของพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่ผู้ประกอบการจะมองสภาพการจ้างงานและสถานที่เป็นหลัก เช่น สถานทูต สนามบิน ธนาคาร ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมและเข้มงวด จะต้องใช้พนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีประสบการณ์ มีทักษะและบุคลิกภาพที่ดี หรือหากเป็นบริษัท ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงงาน หมู่บ้านและคอนโดมิเนียม หรือแม้แต่ในพื้นที่ที่มีการก่อสร้าง ก็จะใช้พนักงานที่มีทักษะแตกต่างกันไปตาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของสถานที่นั้นๆ ด้วย”

ส่วนผู้ที่มาสมัครเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มีทั้งผู้ที่มาสมัครด้วยตนเองและผู้ที่ได้รับการชักชวนจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ก่อนแล้ว หรือผู้ประกอบการด้านการรักษาความปลอดภัยลงพื้นที่สรรหาคนในต่างจังหวัด รวมถึงติดป้ายรับสมัครตามสถานที่ต่างๆ และเมื่อได้คนมาแล้วก็จะนำมาฝึกอบรม ซึ่งหากมีประสบการณ์ก็จะใช้เวลาในการฝึกทักษะ 2-3 วัน แต่หากไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็จะใช้เวลาฝึกทักษะ 5-7 วันหรือมากกว่านั้น จึงจะเริ่มปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยได้

 

ด้าน นายธนพล พลเยี่ยม เลขาธิการสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย มองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริม แต่เป็นการจัดระเบียบมากกว่าและยังส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน ขณะที่พนักงานรักษาความปลอดภัยก็ต้องมีภาระเพิ่มมากขึ้น เพราะจะต้องรับการฝึกอบรมที่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย และด้วยข้อจำกัดในเรื่องของวุฒิการศึกษาของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ต้องมีวุฒิการศึกษา ไม่ต่ำกว่าชั้น ม.3 ก็จะส่งผลให้พนักงานรักษาความปลอดภัยมีจำนวนน้อยลง และจะทำให้ค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการจำกัดสิทธิ์ ซึ่งถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่พนักงานรักษาความปลอดภัยส่วนใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจบการศึกษาในระดับชั้น ป.4 หรือ ป.6 ส่วนคนที่จบชั้น ม.3 ที่อยู่ในสายงานรักษาความปลอดภัยมีแค่ร้อยละ 30 เท่านั้น โดยหลังจากนี้สหพันธ์ฯ จะเดินหน้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป

ด้านพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 อย่างนายอาบีดิน ปิ อายุ 32 ปี ชาว จ.นราธิวาส ที่ประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย เล่าว่า ยึดอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยมาแล้ว 4 ปี ก่อนหน้านี้เคยรับจ้างกรีดยางและเมื่อราคายางตกต่ำทำให้มีรายได้ไม่พอใช้จ่าย จึงตัดสินใจพาครอบครัวเข้ามาในกรุงเทพฯ และประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย แต่เมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัยฉบับนี้ ทำให้รู้สึกกังวลเพราะต้องตกงานแน่นอนหากกำหนดวุฒิการศึกษาชั้น ม.3 ในการรับเข้าทำงาน

 

นายศราวุธ ประทานทรัพย์ อายุ 49 ปี อาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย ระบุว่า หากกำหนดวุฒิการศึกษาของพนักงานรักษาความปลอดภัย เขาจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทันที เนื่องจาเขาจบการศึกษาเพียงระดับชั้น ป.6 และยังเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งขณะนี้มีรายได้จากการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยวันละ 450 บาท

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังกลุ่มสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ว่า เหตุผลที่ประกาศใช้กฎหมายนี้ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจ รปภ.จำนวนมาก แต่มีมาตรฐานต่างกัน และธุรกิจให้บริการ รปภ.มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน ทั้งในด้านความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน รวมทั้งส่งผลต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานของบริษัท และเสริมสร้างศักยภาพของพนักงาน รปภ.ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม โดยที่ไม่รวม รปภ.ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก

“ไม่มีเจตนาสร้างความลำบากแก่ผู้ประกอบการหรือรปภ. แต่อยากขอความร่วมมือจากบริษัทต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจ มีรายได้ เพิ่มการลงทุนอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในระยะยาว โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทให้ถูกต้อง ยื่นขอรับใบอนุญาต และปฏิบัติตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้นๆ"

ส่วนที่จะต้องมีสัญชาติไทย จบ ม.3 เพื่อให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในระดับที่เหมาะสม รู้เท่าทันเหตุการณ์ จะได้ปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องได้รับใบอนุญาต และมีหนังสือรับรองการฝึกอบรมหลักสูตร รปภ.ตามกฎหมาย โดยยื่นเรื่องที่ บช.น.หรือ บภ.จว. และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ไม่วิกลจริต ไม่เคยถูกจำคุกในคดีร้ายแรง เป็นต้น

 

ข้อมูลประกอบ

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2558 มีเนื้อหาทั้งสิ้น 76 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ คือ
1.ให้มีคณะกรรมการกํากับธุรกิจรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้อํานวยการสํานักงานกิจการยุติธรรม ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย และผู้อํานวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจํานวน 6 คน ในจํานวนนี้จะต้องเป็นผู้แทนจากองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ให้ผู้บัญชาการตํารวจนครบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ และข้าราชการตํารวจยศพันตํารวจตรีขึ้นไปในกองบัญชาการตํารวจนครบาล ซึ่งผู้บัญชาการตํารวจนครบาลแต่งตั้งจํานวนไม่เกิน 2 คนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
2.ผู้ประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยต้องเป็นบริษัทและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัยจากนายทะเบียน
3.บริษัท รักษาความปลอดภัยต้องใช้คํานําหน้าชื่อว่า “บริษัทรักษาความปลอดภัย” และคําว่า “จํากัด” หรือ “จํากัด (มหาชน)” ต่อท้าย แล้วแต่กรณี
4.ให้บริษัทรักษาความปลอดภัยจัดทําบัญชีรายชื่อพนักงานรักษาความปลอดภัย รับอนุญาต ยื่นต่อนายทะเบียนภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย
5.ผู้ใดประสงค์จะทําหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตจากนายทะเบียน
6.ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาตต้องมีคุณสมบัติ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ํากว่า 18 ปีบริบูรณ์ สําเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ ได้รับหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัย จากสถานฝึกอบรมที่นายทะเบียนกลางรับรองตามวรรคสอง

อัตราค่าธรรมเนียม

1.ใบอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ฉบับละ 50,000 บาท
2.ใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ฉบับละ 1,000 บาท
3.ใบแทนในอนุญาตประกอบธุรกิจรักษาความปลอดภัย ฉบับละ 3,000 บาท
4.ใบแทนใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต ฉบับละ 100 บาท
5.การต่อใบอนุญาต ครั้งละเท่ากับค่าธรรมเนียมสำหรับในอนุญาตแต่ละฉบับ

รายละเอียดฉบับเต็ม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/104/24.PDF

ดวงกมล เจนจบ
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง