นักวิชาการชี้ "กรอบเซนได" แนวทางลดโลกร้อน-คนยังรู้น้อย สื่อระบุต้องให้ข้อมูลล่วงหน้า

ภัยพิบัติ
12 พ.ค. 59
16:36
235
Logo Thai PBS
 นักวิชาการชี้ "กรอบเซนได" แนวทางลดโลกร้อน-คนยังรู้น้อย สื่อระบุต้องให้ข้อมูลล่วงหน้า
นักวิชาการชี้ "กรอบเชนได" ต่อจากเกียวโต แต่คนยังรู้จักน้อย ขณะที่สื่อมวลชนควรให้ความรู้มากกว่าเสนอปรากฏการณ์ เพราะภาวะโลกร้อน จะทำให้น้ำลดลง และเกิดความขัดแย้งมากขึ้น

ราจิบ ชาว์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุว่า กรอบเซนได เป็นกรอบสำคัญและเป็นกรอบที่ 2 ต่อจากกรอบปฏิบัติการเกียวโต ซึ่งมีนโยบายและการบริหารจัดการความเสี่ยง มีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจนเพื่อลดความเสี่ยง มีความสามารถปรับตัว และมีความพร้อมหลังเกิดภัยพิบัติ โดยมีเป้าหมายคือลดอัตราการเสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและลดผลกระทบต่าโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดความเปลี่ยนแปลง

 

สอดคล้องกับแอนดริว แมคเอลรอย เจ้าหน้าที่สำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาติ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระบุถึงกรอบเซนได 2015 ว่า เกี่ยวข้องกับการจัดการสภาพอากาศและเป็นความพยายามที่จะลดปัญหาเกี่ยวกับภัยพิบัติ ซึ่งกรอบเซนไดเป็นวาระที่คนรับรู้น้อย แต่เป็นเครื่องมือที่สามารถจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากเรื่องของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับภาระและเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

ขณะที่การทำงานของผู้มีส่วนได้เสียอย่างกาชาดสากล ที่เป็นเครือข่ายอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ซึ่งมีสมาชิก 80 ล้านคนและมีอาสาสมัครจำนวนมากใน 5 ทวีป

 

มาร์วัน จิลานี หัวหน้าสำนักงานภูมิภาคกรุงเทพฯ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (IFRC) ระบุว่า ในฐานะที่ทำงานด้านมนุษยธรรม จึงพยายามทำการสื่อสารให้ดีขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ขณะที่สื่อมวลชนไม่ได้เป็นเพียงสื่อกลาง แต่เป็นหุ้นส่วนในการทำงาน สร้างความตระหนักรู้และสิ่งสำคัญคือการมีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่าย

 

อะนูพ คาห์จุเรีย ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ไอบีเอส ประเทศอินเดีย มองว่า ทุกฝ่ายล้วนแต่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสภาวะโลกร้อน ซึ่งสื่อในอินเดียเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการนำเสนอข่าวที่ไม่ใช่แต่เพียงการรายงานหลังเกิดเหตุเท่านั้น แต่ได้ปรับเปลี่ยนการรายงานข่าวเป็นการให้ข้อมูลล่วงหน้า โดยส่วนตัวนายคาห์จุเรีย มองว่า สื่อของอินเดียนั้นมีบทบาทเชิงรุกในการทำหน้าที่ดังกล่าว

 

อาห์เหม็ด คาราม สื่อมัลดีฟส์ แสดงความวิตกต่อปัญหาความมั่นคงทางน้ำและอาหารที่มัลดีฟส์กำลังเผชิญ ซึ่งจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการขาดแคลนน้ำของประเทศ อันนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมัลดีฟส์จำเป็นต้องพึ่งพิงน้ำจากฝนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นทำให้น้ำตามธรรมชาติถูกผสมด้วยน้ำทะเลและไม่สามารถนำมาบริโภคได้

นอกจากนี้ สื่อของมัลดีฟส์เองยังให้ความสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมากกว่าการมองปัญหาและทางแก้ในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนอีกด้วย

มัลดีฟ์เป็นประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าอาหารเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากประชาชนไม่ค่อยให้ความสนใจในการทำการเกษตรกรรมเอง

ติดตามการถ่ายทอดสดได้ที่

http://www.thaipbs.or.th/DRRMediaSummit2016/

ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง