ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เน้นใช้ดาราดัง-ไม่คำนึงความสมจริง เหตุทำหนัง Live-action จากการ์ตูนญี่ปุ่นหล่นบ็อกซ์ออฟฟิศ

ศิลปะ-บันเทิง
2 มิ.ย. 59
21:09
1,757
Logo Thai PBS
เน้นใช้ดาราดัง-ไม่คำนึงความสมจริง เหตุทำหนัง Live-action จากการ์ตูนญี่ปุ่นหล่นบ็อกซ์ออฟฟิศ
ภาพยนตร์แอนิเมชันมักประสบความสำเร็จบนบ็อกซ์ออฟฟิศญี่ปุ่นเสมอ แต่หากเป็นเวอร์ชันคนแสดง หรือ Live-action ส่วนใหญ่มักไม่เป็นที่ยอมรับของแฟนการ์ตูน นั่นเพราะผู้สร้างไม่ทุ่มเททำหนังให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ผู้ชมคาดหวัง

วันนี้ (2 มิ.ย. 2559) การเดินทางค้นหาศิลานักปราชญ์ของนักเล่นแร่แปรธาตุ เพื่อชุบชีวิตแม่ผู้จากไป และคืนร่างให้กับน้องชายที่วิญญาณถูกผนึกในชุดเกราะ คือเรื่องราวการผจญภัยที่น่าติดตามของ Fullmetal Alchemist การ์ตูนดังยอดจำหน่ายกว่า 64 ล้านเล่ม ล่าสุดมีการประกาศสร้างเป็นหนัง Live-action กำหนดฉายปีหน้า (2560) ได้ ริวสุเกะ ยามาดะ ไอดอลร่างเล็กจากวง Hey! Say! JUMP มานำแสดง

ปีนี้มีการ์ตูนดังมากมายที่ประกาศสร้างเป็นหนัง Live-action ทั้ง Blade of the Immortal หรือ ฤทธิ์ดาบไร้ปราณี สุดยอดการ์ตูนซามูไรที่ได้ ทาคูยะ คิมูระ ซูเปอร์สตาร์ดังมาสวมบทตัวเอกของเรื่อง ส่วน Death Note : Light Up the New World การตีความครั้งใหม่ของการ์ตูนฮิตแห่งยุค 2000 ก็เตรียมออกฉายช่วงปลายปีนี้ (2559)

แต่ปริมาณการดัดแปลงการ์ตูนดังสู่ภาคคนแสดงกลับส่วนทางกับความสำเร็จ เห็นได้จากความล้มเหลวของ Attack on Titan การ์ตูนดังแห่งยุค ที่ฉบับคนแสดงทั้งสองภาคออกฉายเมื่อปีก่อน (2558) ถูกแฟนหนังวิจารณ์เรื่องคุณภาพงานสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน

ฮิโรยะ โอคุ นักวาดการ์ตูนเจ้าของงานไซไฟเรื่องดังอย่าง Gantz ที่เคยผลิตเป็นหนัง Live-action มาแล้วถึง 2 ภาค กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่า เหตุผลที่การ์ตูนมังงะถูกสร้างเป็นหนัง Live-action ต่อเนื่อง แม้คุณภาพจะต่างจากต้นฉบับในหนังสือการ์ตูน เพราะผู้สร้างหนังคิดเพียงว่า ต่อให้เนื้อหาและงานสร้างจะต่ำกว่ามาตรฐาน แต่หากนำดาราดังมาเล่นในหนังที่สร้างจากการ์ตูนยอดฮิตอย่างไรก็ขายได้ ส่วนความรู้สึกของแฟนการ์ตูนที่ติดตามผลงานมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องคำนึงถึงแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งให้เวอร์ชั่น Live-action ของการ์ตูนประสบความสำเร็จตามความเห็นของ ฮิโรยะ โอคุ คือการดัดแปลงที่รักษาหัวใจของต้นฉบับ ซึ่งจะทำได้ง่ายมากขึ้นหากการ์ตูนเรื่องนั้นมีจุดขายที่ความสมจริง เช่น Gantz และ I Am a Hero ที่ต่างดำเนินเรื่องโดยคนญี่ปุ่น และเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นภายในประเทศ ส่วนการ์ตูนกระแสหลักซึ่งเน้นเนื้อหาแนวแฟนตาซี นำมาดัดแปลงเป็นหนัง Live-action ให้สมจริงและมีคุณภาพได้ยากกว่า

ตัวอย่างหนังการ์ตูน Live-action ที่ประสบความสำเร็จเพราะเนื้อหาต้นฉบับมีความสมจริง ได้แก่ Rurouni Kenshin หรือ ซามูไรพเนจร ที่ถ่ายทอดชีวิตซามูไรในศตวรรษที่ 19 ได้อย่างสมจริง รวมถึงเวอร์ชั่นภาพยนตร์ของ Bakuman ซึ่งได้รับคำชมว่าถ่ายทอดชีวิตการต่อสู้ของอาชีพนักวาดการ์ตูนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ปัจจุบัน ฮอลลีวูดซึ่งกำลังขาดแคลนแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้ประกาศโครงการนำการ์ตูนญี่ปุ่นมาสร้างเป็นหนังใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ แม้บ่อยครั้งจะจบลงด้วยความผิดหวัง เช่น ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของการ์ตูนระดับตำนาน Dragonball Evolution เวอร์ชั่นฮอลลีวูด

โดยเดือนที่แล้ว เบน แรมซีย์ มือเขียนบทของเรื่อง ได้เขียนข้อความขอโทษแฟนการ์ตูนที่รับงานโดยคิดถึงแต่ค่าตอบแทน โดยไม่คำนึงถึงการผลิตงานให้มีคุณภาพ จนเป็นที่มาของการสร้างหนังที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนการ์ตูนทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง