เตรียมยึดคืนที่ดินสวนปาล์มกระบี่ ให้คนงาน-ลูกจ้างถือสปก.แทนเกือบหมื่นไร่

ภูมิภาค
9 ก.ค. 59
13:51
1,440
Logo Thai PBS
เตรียมยึดคืนที่ดินสวนปาล์มกระบี่ ให้คนงาน-ลูกจ้างถือสปก.แทนเกือบหมื่นไร่
คณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ เตรียมยึดคืนพื้นที่ สปก.ที่ถือครองโดยบริษัทเอกชนเกือบ 10,000 ไร่ หลังพบว่า มีการถือครองโดยใช้นอมินี เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะในอ.เมือง เขาพนม และเหนือคลอง

วันนี้ (9 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า สวนปาล์มน้ำมันของบริษัทเอกชนที่ถือครองเพียงรายเดียวบนเนื้อที่กว่า 9,900 ไร่ ในต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ ต.ห้วยยูง อ.เหนือคลอง และต.พรุเตียว อ.เขาพนม อยู่ระหว่างการเข้าตรวจสอบ ของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีม.44 เพื่อยึดคืนพื้นที่ หลังจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ได้เข้ายึดคืนสวนปาล์มน้ำมัน จำนวน 109 แปลง รวม 4,998 ไร่ ของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด ต.กระบี่น้อย อ.เมืองกระบี่ เนื่องจากพบว่า บริษัทเอกชนให้คนงาน และลูกจ้างเป็นผู้ถือครองแทน จึงเข้าข่ายการถือครองแบบนอมินี ซึ่งผิดเงื่อนไขในการปฏิรูปที่ดิน

นายบัณฑูร บุญนรากร ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ ระบุว่า จะเร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบการถือครอบครองพื้นที่ ส.ป.ก.เกินรายละ 500 ไร่ เนื่องจากพบว่า มีการครอบครองโดยผิดเงื่อนไข โดยเฉพาะการครอบครองโดยกลุ่มบุคคล ที่ไม่ใช่เกษตรกร ซึ่งหลังการตรวจสอบเสร็จสิ้น จะนำเสนอต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดิน และคสช. ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน และจัดสรรให้กับคนจน

 

นอกจากนี้สวนยางพารา ในต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน และ ต.คุ้งตะเภา ต.ป่าเซ่า อ.เมืองอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่เกษตรที่ชาวบ้านในจ.อุตรดิตถ์ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าวว่า เป็นพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มีการขายเปลี่ยนมือให้แก่นายทุน และน่าจะเข้าข่าย ที่ดิน สปก.ที่จะต้องถูกตรวจสอบ ตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44

ชาวบ้านบอกว่า สาเหตุที่ชาวบ้านนำที่ดิน ส.ป.ก.ไปขายให้แก่นายทุน เนื่องจากประสบปัญหาความยากจน และหนี้สิน ซึ่งราคาซื้อขายเป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย แต่ต้องทำหนังสือสัญญาเงินกู้ไว้ เพื่อป้องกันการทวงคืน โดยหากขายที่ ส.ป.ก.ในราคารวม 5 แสนบาท ก็จำทำสัญญาเงินกู้ไว้ที่ 1 ล้านบาท

 

สอดคล้องกับชาวไร่ ในต.ป่าเซ่า อ.เมืองอุตรดิตถ์ ยืนยันว่า มีการซื้อขาย ส.ป.ก. จริง โดยส่วนใหญ่นายทุนจะกว้านซื้อจากชาวบ้านเป็นแปลงใหญ่ เพื่อปลูกยางพารา ทำไร่ข้าวโพด และ ไร่อ้อย รวมทั้ง สร้างลานมันรับซื้อผลผลิตด้วย

ขณะที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากส่วนกลาง เพื่อกำหนดเป้าหมาย ก่อนจะติดประกาศ ให้ผู้ครอบครองนำหลักฐาน มาชี้แจงภายใน 15 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง