กรมสรรพากรเล็งเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์-เน็ตไอดอล

เศรษฐกิจ
8 ต.ค. 59
20:11
750
Logo Thai PBS
กรมสรรพากรเล็งเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์-เน็ตไอดอล
กรมสรรพากรเตรียมสรุปผลแนวทางการจัดเก็บภาษีธุรกิจบนออนไลน์ ขณะที่ผู้รับงานโฆษณาสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียบางรายขอให้ผ่อนผันสำหรับผู้รับจ้างรายเล็กที่หวังใช้เป็นช่องทางหารายได้เสริม

วันนี้(8 ต.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ธุรกิจออนไลน์ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีได้แก่กลุ่มที่มีการซื้อขายออนไลน์ในไทยเช่น นำเข้าสินค้าแล้วขายผ่านเฟซบุ๊ค ซึ่งได้ประสานงานกับกรมศุลกากรแล้ว หากพบว่ายอดขายเกิน 1,800,000 บาทต่อปี ก็ต้องเสียภาษี โดยเตรียมนำเสนอผลการศึกษาแนวทางจัดเก็บให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณา เร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม แม้วิธีการจ่ายเงินและการกำหนดค่าจ้างที่ไม่ชัดเจนแต่กรมฯ สามารถตรวจสอบจากรายได้ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของบริษัทผู้ว่าจ้าง ซึ่งสามารถประเมินภาษีจากเน็ตไอดอล และบล็อกเกอร์เป็นรายบุคคลได้ เหมือนการรับงานโฆษณาของเหล่าดารานักแสดงและใช้หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นกัน

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า นับจากนี้ธุรกิจออนไลน์ ต้องเข้าระบบเสียภาษีอย่างถูกต้องไม่ใช่ขุมทรัพย์ในอากาศเหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่การดำเนินการของสรรพากรก็ต้องระวังไม่ให้กระทบธุรกิจ และช่องทางสร้างโอกาสเติบโตของธุรกิจใหม่ตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

ขณะที่ ผู้ที่รับงานโฆษณาสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เล่าว่าเคยรับงานโฆษณาโพสต์สินค้าผ่านโซเชียลมีเดียได้ค่าจ้างต่อ 1 โพสต์ หลักพันบาท อัตราค่าจ้างดังกล่าวจะแตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักร้อย ถึงหลักแสน ต่อการโพสต์สินค้า เพียง 1 ครั้ง ตามระดับความมีชื่อเสียงซึ่งวัดจากจำนวนผู้ติดตามในช่องทางต่าง ๆ และหากมีชื่อเสียงในโซเชียลมีเดียแม้ไม่ใช่ดารานักแสดงแต่มีจำนวนผู้ติดตามมาก หรือที่เรียกว่า "เน็ตไอดอล" ก็จะมีผู้ว่าจ้างให้โพสต์สินค้าหลากหลายชนิด บางคนสามารถยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้แตะหลักล้านต่อเดือน

สอดคล้องกับผู้ที่รับงานโฆษณาสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียอีกคนหนึ่ง เล่าว่าค่าจ้างโฆษณาสินค้าในโซเชียลมีเดีย แม้จะวัดตามระดับความมีชื่อเสียงแต่ไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน เพราะเป็นข้อตกลงระหว่างเน็ตไอดอล กับผู้ว่าจ้างขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ตกลงกัน เช่นถ่ายรูปคู่กับสินค้า รีวิวสินค้า แบบภาพนิ่ง หรือ วิดิโอสาธิตด้วย ไปจนถึงการโฆษณาแอบแฝง ดังนั้นหากกรมสรรพากรจะเก็บภาษีจากรายได้ค่าโฆษณาดังกล่าวก็ควรมีแนวทางเรียกเก็บที่ชัดเจน พร้อมกำหนดกรอบรายได้ค่อนข้างสูง เพื่อไม่ให้กระทบนักศึกษาที่รับงานโฆษณาประเภทนี้เป็นรายได้เสริม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง