19 เม.ย.นี้ จับตาดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เฉียดโลก

Logo Thai PBS
19 เม.ย.นี้ จับตาดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เฉียดโลก
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยเวลา 19:24 น. พรุ่งนี้(19 เม.ย.) ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 โคจรเฉียดโลกใกล้ที่สุดยันไม่พุ่งชนโลกและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับมนุษย์

วันนี้(18 เม.ย.2560) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. บอกว่า วันพรุ่งนี้(19 เม.ย.)เวลา 19:24 น. ตามเวลาในประเทศไทย ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 650 เมตร จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะทาง 1.8 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 4.6 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์

ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ถูกค้นพบในเดือนพ.ค.2557 โดยนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวแคทาลินา สกาย เซอร์เวย์ เมืองทูซอน รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา จากการตรวจสอบวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ พบว่าครั้งนี้เป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 400 ปี และจะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างน้อยในรอบ 500 ปี และเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ามันมีขนาดใหญ่กว่ากรณีอุกกาบาตตกที่เมืองเชลยาบินสก์ ประเทศรัสเซีย ประมาณ 60 เท่า นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจึงเฝ้าจับตา และติดตามการโคจรของมันอย่างใกล้ชิด

จากการคำนวณอย่างละเอียดทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อมั่นว่า ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะโคจรเฉียดโลกไป เช่นเดียวกับกับดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น ๆ ที่โคจรเฉียดโลก โดยไม่เกิดผลกระทบใด ๆ ต่อโลกและมนุษย์ แต่สำหรับนักดาราศาสตร์แล้ว การมาเยือนในระยะใกล้ของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เช่นนี้ นับเป็นโอกาสดียิ่งที่จะสังเกตการณ์โดยใช้เรดาร์เพื่อศึกษาขนาดและรูปร่างของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้

ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ขณะโคจรใกล้โลกที่สุด ระหว่างวันที่ 19 - 20 เมษายน 2560 จะมีความสว่างมาก คาดว่าความสว่างปรากฏประมาณแมกนิจูด 10-11 ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่สามารถมองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้วขึ้นไป ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 19 เม.ย.นี้จะเริ่มสังเกตเห็นได้บริเวณกลุ่มดาวมังกร ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:00 น. เป็นต้นไป

ดร.ศรัณย์ บอกว่า ในส่วนของประเทศไทย สดร.จะใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ เฝ้าติดตามตำแหน่งการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างใกล้ชิด และถึงแม้ว่าดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 จะเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ที่โคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลก แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีโอกาสชนโลก และไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อมนุษย์อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 10 เมตร) โคจรเข้าใกล้โลกมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่น ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ดาวเคราะห์น้อย 2017 FN1 โคจรเฉียดโลกที่ระยะทางประมาณ 51,000 กิโลเมตร หรือประมาณ 0.17 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ แต่เหตุการณ์ที่มีดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 100 เมตร โคจรเข้ามาใกล้โลกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ครั้งล่าสุดเมื่อ 13 ปีก่อน ในเดือนกันยายน 2547 ดาวเคราะห์น้อย 4179 Toutatis โคจรเข้าใกล้โลกที่ระยะประมาณ 1.2 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 4 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์



ข่าวที่เกี่ยวข้อง