สำรวจจุดเสี่ยง 72 กม.แม่น้ำโขงสกัดเส้นทางค้าสัตว์ป่า-ไม้พะยูงข้ามชาติ

Logo Thai PBS
สำรวจจุดเสี่ยง 72 กม.แม่น้ำโขงสกัดเส้นทางค้าสัตว์ป่า-ไม้พะยูงข้ามชาติ
กรมอุทยาน ร่วมกับกรมศุลกากร และประเทศลาว บูรณาการลาดตระเวนเชิงคุณภาพสกัดค้าสัตว์ป่า ไม้พะยูงข้ามชาติด่านชายแดนแม่น้ำโขงมุกดาหาร - ลาว เตรียมสแกนจุดเสี่ยงระยะทาง 72 กิโลเมตร ทำแผนที่จุดบอด ตัวแทนลาว เผย "ไม้ลอยน้ำ"ฝั่งไทยขนข้ามส่งออกไปเวียดนาม

วันนี้ (9 ส.ค.2560) นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองสัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ลงพื้นที่ตรวจสอบเส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่าและงาช้างระหว่างประเทศ ที่ด่านศุลกากรมุกดาหารและพื้นที่ชายแดนไทย จากการหารือเบื้องต้นร่วมกับกรมศุลกรกร ทหาร ตำรวจ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) และตัวแทนจากประเทศลาว จะมีบูรณาการแผนป้องกันลักลอบขนสัตว์ป่า ไม้พะยูง งาช้าง และสินค้าผิดกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติ

โดยจะปรับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ที่ใช้การดูแลพื้นที่ป่า มาประยุกต์ใช้ตามแนวชายแดนไทย และประเทศเพื่อนบ้านระยะทาง 72 กิโลเมตรชายแดนมุกดาหาร กับประเทศลาว ซึ่งในเดือนก.ย.นี้จะเริ่มทำแผนที่ GIS เพื่อแสกนจุดเสี่ยงที่ยังเป็นช่องทางลักลอบเป็นรายจุดๆ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เป็นพื้นที่นำร่องแรกที่จะนำมาใช้ร่วมกับระบบเอ็กซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าของด่านศุลกากรมุกดาหารนำมาใช้สกัดจับของผิดกฎหมาย เพราะภาพจะออกมาเป็น 3 มิติให้นายด่านสุ่มตรวจสิ่งของในตู้คอนเทนเนอร์ได้รวดเร็วแม่นยำขึ้น

 

 

 

กรมป่าไม้ลาวแฉเจอ "ไม้ลอยน้ำ"ล่องแม่น้ำโขง

ด้านนายสุนทร เทพปัญญา หัวหน้าฝ่ายสืบสวนสอบสวนด้านป่าไม้ สปป.ลาว บอกว่า รัฐบาลลาว ก็มีการออกมาตรการในการป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่า และไม้แปรรูป ไม้พะยูง และพบมีการลักลอบนำไม้ลอยน้ำเป็นไม้พะยูงจากไทย โดยใช้ลาวเป็นทางผ่าน กระบวนการคือว่าจ้างชาวบ้านเป็นคนลักลอบ ขนไม้มีค่าส่งไปประเทศเวียดนาม และจีนที่ยังมีความต้องการไม้พะยูงสูง ซึ่งหากขนไม้ข้ามฝั่งโขงมาได้ จะนำไปซุกไว้ตามเรือกสวนไร่นา ก่อนที่จะมอดไม้ทยอยขนออกไปตามจุดผ่านแดนไปยังประเทศปลายทาง เช่น เวียดนาม ทำให้ต้องมีการจัดทีมลาดตระเวนทางตอนเหนือและตอนใต้ของแม่น้ำโขง จนทำให้แนวโน้มการจับกุมลดลง แต่ยังคงมีอยู่ และพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศไทย นอกจากนี้รัฐบาลลาว ยังการห้ามนำเข้าไม้พะยูงและไม้ในบัญชีหวงห้ามตามอนุสัญญาไซเตส

 

 

เปิดสถิติค้าสัตว์ป่า 8 เดือน 55 คดี

นอกจากนี้ นายสมเกียรติ บอกว่า ช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ลักลอบขนพืชป่าและสัตว์ป่าผิดกฎหมายมากขึ้น เช่น หมี เสือ ตัวลิ่น(ตัวนิ่ม) งาช้าง ผ่านทางเครื่องบินและเรือบริเวณด่านเศรษฐกิจตามแนวชายแดน จนกลุ่มผู้ลักลอบปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ล่าสุดจับกุมลักลอบนำเข้านอแรด หรือ เส้นทางขนส่งภาคใต้ออกไปตามแนวชายแดนไทย-ลาว เนื่องจากเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังและลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ

 

 

พบว่า จากสถิติคดีของด่านตรวจสัตว์ป่าในปีงบประมาณ 2560 จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 เกิดคดี 55 คดี มีผู้ต้องหา 41 คน สามารถตรวจยึดของกลาง แบ่งเป็น สัตว์ป่าอื่นๆ แบบมีชีวิต 233 ตัว ซากสัตว์ 99 ซาก หางนกยูง 31 กิโลกรัม ตัวลิ่น 127 ตัว เกล็ดลิ่น 1,093 กิโลกรัม ซากลิ่น 1 ผืน งาช้างแอฟริกา 422 ท่อน งาช้าง 10 กิ่ง ซากฟันช้าง 1 กิโลกรัม นอแรดคละขนาด 21 นอ และเสือปลา 3 ตัว

นายถวัลย์ รอดจิตต์ นายด่านศุลกากรมุกดาหาร บอกว่า ขณะที่ภาพรวมการค้าตามแนวชายแดน ไทย-ลาว ปีนี้เพิ่มขึ้นล่าสุดเดือนก.ค.นี้ มีมูลค่าอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 110,000 ล้านบาท เพราะด่านมุกดาหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กำลังเติบโต

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง