แกะรอยเส้นทางค้า"ตัวลิ่น"ชายแดนไทย-มาเลเซีย

สิ่งแวดล้อม
23 ส.ค. 60
17:29
1,237
Logo Thai PBS
แกะรอยเส้นทางค้า"ตัวลิ่น"ชายแดนไทย-มาเลเซีย
แนวโน้มตลาดบริโภคตัวลิ่นยังมีสูง พบช่วง 3 ปีตัวลิ่นจากป่าธรรมชาติถูกจับจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย สังเวยชีวิตกว่า 500 ตัวใช้ด่านภาคใต้ของไทยขนส่งขึ้นสายอีสาน ไปยังเวียดนาม จีน "กรมอุทยาน" ล้อมคอกตั้งจุดสกัดร่วมด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา หลังพบใช้ทางรถยนต์ขนตัวลิ่น เต่า ไม่เว้นแม้แต่ลูกลิงอุรังอุตัง

วันนี้(23 ส.ค.2560)นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(ไซเตส) พร้อมด้วย นายปรัชญ์ คงทองหัวหน้าด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์(ไซเตส) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตาม และตรวจสอบการการปฏิบัติหน้าของเจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์ เพื่อติดตามเส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่าและงาช้างระหว่างประเทศ บริเวณด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา

นายสมเกียรติ บอกว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ลักลอบขนพืชป่า และสัตว์ป่าผิดกฎหมายข้ามแนวชายแดน จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้ามาประเทศไทยมากขึ้นเพื่อใช้เป็นเส้นทางผ่านไปยังประเทศปลายทาง คือ จีน โดยผ่านมามีผู้กระทำผิดลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าเข้ามาบริเวณริมกำแพงไทย-มาเลเซีย ป้อม 2 และช่องทางตรวจค้นผู้โดยสารขาเข้าด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จ.สงขลา ระหว่างปี 2558-2560 ส่วนใหญ่เป็นการลักลอบตัวลิ่นมากสุดกว่า 531 ตัว ซากลิ่น เกล็ดลิ่น ซากเสือต่างๆ เช่น เสือโคร่ง เสือดำ เสือลายเมฆ เต่าสวยงามเช่น เต่าเสือดาว เต่าดาวอินเดีย เต่าแฮมมิลตัน เกือบ 40 ตัว ปะการังแข็ง แร็คคูน ลิงอุรังอุตังสุมาตรา 2 ตัว

 

 

แกะรอยเส้นทางเสี่ยง 11 จุดชายแดนไทย-มาเลเซีย

สมเกียรติ บอกอีกว่า ขณะนี้พบการปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนย้ายจากทางเรือมาเป็นทางบกมากขึ้น โดยฉพาะตัวลิ่นชนิดชวาและจีน จากอินโดนิเซีย มาเลเซีย ถูกจับคราวละมากๆครั้งละ 10-20 ตัวรวมให้ได้มากถึง 100-200 ตัว จึงจะขนมาพักในฝั่งไทย เพื่อเคลื่อนย้ายลิ่นมีชีวิตข้ามแดนจากภาคใต้ ขึ้นไปทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากหลุดลอดออกไปปลายทางคือจีน เวียดนาม ที่ยังเป็นกลุ่มบริโภครายใหญ่ ที่มีความต้องการ และมูลค่าตลาดสูง โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้จะเป็นฤดูของการลักลอบส่งตัวลิ่น จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดการเฝ้าระวังและลาดตระเวน ซึ่งตัวลิ่น 2 ชนิดกฎหมายไทยจัดอยู่ในสัตว์ป่าคุ้มครอง


ด้านนายปรัชญ์ บอกว่า จากการตรวจสอบพบว่าแนวชายแดนไทย- มาเลเซีย มีจุดเสี่ยงล่อแหลมที่เป็นแนวรั้วธรรมชาติ รวม 11 จุดระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตรติดกับแนวเขตรัฐปะริด ของมาเลเซีย ในเขตพื้นที่อ.สะเดา จ.สงขลา จากการลาดตระเวนร่วมกับทหาร ที่พบหลักฐาน และเป็นร่องรอยว่ามีการลักลอบคือรอยเท้าคนที่ติดคราบดินเลนเหยียบย่ำบนพื้น การตัดรั้วเหล็ก ออกเป็นช่องๆ เคยจับพวกลักลอบขนใบกระท่อม ส่วนสัตว์ป่าเคยจับได้คาด่านปาดังเบซาร์ 2 ครั้งคือตัวลิ่น และลูกลิงอุรังอุตัง 2 ตัว เมื่อ 21 มิ.ย.นี้โดยมีสายข่าวแจ้งเข้ามาว่าจะแอบขนลิง 2 ตัวมาทางด่านปาดังเบซาร์ ผู้รับจ้างขนเป็นชาวมาเลเซียเสียค่าปรับและคดีอยู่ในชั้นศาล ขณะนี้ลิง 2 ตัวอยู่ที่สถานีวิจัยโตนงาช้าง สุขภาพจิตดีขึ้น จากวันแรกที่พวกมันมีความหวาดกลัว และไม่กล้ากินอาหาร

 

 

ส่วนตัวลิ่น  ปรัชญ์ บอกว่า พวกมันส่วนใหญ่มีความบอบช้ำมากจากการแออัดในการลักลอบขนมาคราวละหลายร้อยตัว ใส่ถุงปุ๋ย กรง เดินทางจากมาเลเซียหลายชั่วโมง แต่ที่น่าสลดคือการให้พวกมันกินแป้งและยาชูกำลังเพื่อเพื่มน้ำหนักมากๆ เพื่อให้ขายได้ราคาสูงกว่าจะส่งถึง ปลายทาง เมื่อถูกจับได้ยึดได้ แม้พวกมันจะมีชีวิตในวันที่เป็นอิสระไม่ถูกฆ่าเป็นอาหาร แต่เมื่อนำไปฟื้นฟู และปล่อยทุกตัวไม่มีชีวิตรอด เหตุเพราะร่างกายถูกอัดแป้งจนไม่สามารถขับถ่าย กินอาหาร บวกกับความบอบช้ำ

ทหาร-ศุลกากรเอ็กซเรย์สกัดค้าสัตว์ป่า

 ขณะที่วันนี้ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับด่านศุลกากร ชุดเฝ้าตรวจชายแดนไทยมาเลเซีย (4303) และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมตั้งจุดตรวจบริเวณด่านศุลกากรปาดังเบซาร์ จ.สงขลา โดยขอตรวจรถที่เดินทางจากมาเลเซีย เพื่อดูว่ามีการลักลอบนำของผิดกฎหมาย สัตว์ป่าผ่านเข้ามาหรือไม่ เนื่องจากเฉลี่ยจะมีรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุกทั้งเข้าและออกกว่าปีละ 35,000 คัน ซึ่งการตรวจจะทำร่วมกันกับการเอ็กซเรย์กระเป๋า สัมภาระของนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านมาอย่างละเอียด โดยถือเป็นด่านนำร่องที่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านสัตว์ป่า ปราบปรามขบวนการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย และพืชป่า สัตว์ป่าตามบัญชีไซเตส

 

 

ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจแนวรั้วชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ต.ปาดัง เราพบว่าแนวกำแพงคอนกรีต มีความสูงเพียง5 เมตร ด้านบนขึงรั้วลวดหนาม บางจุดมีสภาพไม่สมบูรณ์ รั้วเหล็กที่บอกว่าด้านหลังคือแนวเขตรัฐปะริด ของมาเลเซีย หากมองเข้าไปมีถนนลาดยางที่ใช้ในการลาดตระเวน ขณะที่ฝั่งไทยถูกล้อมรอบด้วยสวนยางพาราขนาดใหญ่ ซึ่งรวมทั้งมีทหารเข้าร่วมลาดตระเวนแนวชายแดนไทย- มาเลเซีย ที่บ้านเขารูปช้าง ต.ปาดัง จ.สงขลา เดือนละ 2-3 ครั้ง เพื่อดูแลความปลอดภัย

 

 

 ตัวลิ่น"ครองแชมป์ลักลอบค้ามากสุด

ข้อมูลจากสถิติคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าของด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา
ตั้งแต่ปี 2547 – 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 7 คดี เป็นคดีการนำเข้าทั้งหมด ดังนี้
20 ก.ค.47 ตรวจยึดจับกุม ลิ่น 158 ตัว
18 เม.ย.50 ตรวจยึดจับกุมลิ่น 39 ตัว
10 มิ.ย.51 ตรวจยึดจับกุมซากเสือโคร่ง 1 ตัว เสือลายเมฆ 1 ตัว ซากเสือดำ 1 ตัว ซากเสือดำ (เฉพาะหัว) 1 ชิ้น
24 ก.พ.54 ตรวจยึดจับกุมลิ่น 126 ตัว
3 ก.ย.59 ตรวจยึดจับกุมลิ่น 208 ตัว ซากลิ่น 2 ตัว เกล็ดลิ่น 2.1 กก.
7 มิ.ย.60 ตรวจยึดจับกุมเต่าเสือดาว 2 ตัว และปะการังแข็ง 59 ถุง
21 มิ.ย.60 ตรวจยึดจับกุมเต่าดาวอินเดีย 12 ตัว แรคคูน 6 ตัว ลิงอุรังอุตัง 2 ตัว เต่าแฮมมิลตัน 39 ตัว

ขณะที่องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) ระบุว่าลิ่น เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกลักลอบค้ามากที่สุดในโลก ในขณะที่คนจำนวนมากไม่รู้จักสัตว์ชนิดนี้ มีการประมาณการว่ามีตัวลิ่นมากถึง 100 ล้านตัวถูกฆ่าในช่วง 10ปีหรือ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยธรรมชาติของตัวลิ่น เมื่อรู้ว่ากำลังมีภัยคุกคาม มันจะม้วนตัวเป็นลูกกลมๆ ทันทีโดยไม่วิ่งหนี ทำให้มันเป็นสัตว์ที่ถูกล่า ได้อย่างง่ายดาย

ในประเทศจีน และเวียดนาม เนื้อของลิ่นถูกนำไปประกอบอาหาร และเกล็ดของมันนำไปเป็นส่วนประกอบ ในยาแผนโบราณโดยยังมีคนจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เกล็ดของมันสามารถรักษาโรคที่เกี่ยวกับข้อ อาการทาง ผิวหนัง หรือแม้กระทั่งโรงมะเร็ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เกล็ดของตัวลิ่นมีเคราตินเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งพบได้ในเส้นผมและเล็บของมนุษย์เช่นกัน และไม่ได้มีสรรพคุณทางยาใดๆ

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง