"ไบโอไทย"โต้พ.ร.บ.คุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชผูกขาดความหลากหลายทางชีวภาพ

สังคม
9 ต.ค. 60
11:17
1,470
Logo Thai PBS
"ไบโอไทย"โต้พ.ร.บ.คุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชผูกขาดความหลากหลายทางชีวภาพ
มูลนิธิชีววิถี ออกแถลงการณ์ตอบโต้กรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เกษตรกรรายย่อย และยังเป็นการเปิดทางให้ผูกขาดกับบรรษัทรายใหญ่

วันนี้ (9 ต.ค.2560) มูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ biothai.net ชี้แจงตอบโต้ข้อแถลงของกรมวิชาการเกษตรกรณีการออกร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับใหม่ ที่ถูกวิพาษ์วิจารณ์ว่า กำลังทำลายความหลากหลายทางชีวิภาพ และเปิดทางให้บรรษัทใหญ่ผูกขาดเมล็ดพันธุ์

โดยกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้ เป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรและนักพัฒนาสายพันธุ์ของไทย รวมถึงยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกได้

สำหรับกรณีนี้ "มูลนิธิชีววิถี" ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ขยายสิทธิผูกขาดให้กับเอกชน และละเมิดสิทธิของเกษตรกรอย่าง ร้ายแรง คือ 1. การอ้างว่าเกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืช ไปปลูกในแปลงของตนได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากมีการเพิ่มเงื่อนไข มาตรา 35 ที่ว่าการขยายพันธุ์ จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช มีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ ชนิดใดเป็นพันธุ์พืช ที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูก หรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้

ดังนั้นหากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้าน จะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 


ส่วนข้อคัดค้านข้อที่ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช ขยายการคุ้มครองจากส่วนขยายพันธุ์ ให้เพิ่มรวมไปถึง "ผลิตผล" และ"ผลิตภัณฑ์"และขยายการผูกขาดพันธุ์พืชใหม่ ไปยังสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ ยังเปิดทางให้ผู้นำพันธุ์พืชพื้นเมือง เฉพาะถิ่น พันธุ์พืชป่า พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป ไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือแบ่งปันผลประโยชน์

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา และจะปิดรับฟังความเห็น ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเสนอกฎหมายของหน่วยงาน ซึ่งจะต้องให้กระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และหาก ครม.เห็นชอบ ก็จะส่งร่างฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง