แรงจูงใจศัลยกรรม...เปลี่ยนชีวิต

สังคม
8 พ.ย. 60
18:57
894
Logo Thai PBS
แรงจูงใจศัลยกรรม...เปลี่ยนชีวิต
ธุรกิจการทำศัลยกรรมเติบโตต่อเนื่อง สถานประกอบการเพิ่มขึ้น แต่จำนวนไม่น้อยยังไม่ได้มาตรฐาน-แพทย์ไม่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผู้ใช้บริการจึงเสี่ยงเสียชีวิตหลังศัลยกรรม

เมื่อพิมพ์ค้นคำว่า "ศัลยกรรม" ในเว็บไซต์กูเกิล เราพบการโฆษณาชักชวนของสถานประกอบการและคลินิกเสริมความงาม ศัลยกรรมเพื่อความงามหลายแห่ง เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมเสริมความงาม การเห็นผลหลังการใช้บริการมักถูกนำมาสร้างความน่าเชื่อถือ หรือแม้แต่การใช้พรีเซ็นเตอร์ที่มีชื่อเสียงเพื่อดึงดูดให้มีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการ

แต่ขณะเดียวกันหากเมื่อพิมพ์ค้นหาคำว่า "ร้องเรียนศัลยกรรม" ภาพของผู้ได้รับผลกระทบหลังศัลยกรรมขึ้นมาจำนวนเท่าๆ กัน หากเทียบกับป้ายโปรโมทสถานประกอบการในอินเทอร์เน็ต

ปัจจัยหลักที่ทำให้วงการธุรกิจเสริมความงาม หรือทำศัลยกรรมความงาม ผู้ประกอบการเข้านำเครื่องมือแพทย์อันดับต้นๆ ของประเทศ มองว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมของลูกค้าที่ไม่พึงพอใจในร่างกาย ทำให้ต้องพึ่งการทำศัลยกรรม เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีบุคลิกภาพดีขึ้น เกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตามวิวัฒนาการ จึงทำให้ผู้ผลิตคิดค้นพัฒนาอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อสร้างมาตรฐานและความปลอดภัย

นายวรุตม์ สุทธินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคนิคอลไบโอเมด จำกัด ผู้ประกอบการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ ยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมา เครื่องดูดไขมันมียอดขายเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน มีสถานประกอบการพยาบาล คลินิก ศัลยกรรมทางการแพทย์ ติดต่อสั่งซื้อแต่ละปีไม่น้อยกว่า 10-30 เครื่อง ซึ่งมีมากขึ้นในหลายจังหวัด แสดงให้เห็นถึงความนิยมเสริมความงามและพบว่ามีผู้นิยมทำธุรกิจนี้ในแหล่งธุรกิจสำคัญในกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านสุขุมวิท ทองหล่อ ขณะที่จังหวัดเมืองท่องเที่ยวก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีสถานประกอบการอีกมากเช่นกันที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ไม่มีเครื่องมือที่ทันสมัย เป็นสาเหตุใน 5 ปัจจัยหลักที่กรรมการสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ว่า มีความเสี่ยงที่ผู้รับบริการเสริมความงามได้รับผลกระทบจนถึงขั้นเสียชีวิตหลังศัลยกรรม

จำนวนความต้องการของผู้ที่อยากทำศัลยกรรมมีเพิ่มขึ้น สถานพยาบาลหรือคลินิกก็เพิ่มขึ้นตามเช่นกัน ทำให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ผู้ทำศัลยกรรมอาจไม่ได้รับการปฎิบัติอย่างถูกวิธี หากไม่มีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือแพทยสภา สถานพยาบาลก็จะไม่ถูกตรวจสอบ

ประมาณการรายได้ของธุรกิจเสริมความงามและศัลยกรรมเพื่อความงาม มีเงินหมุนเวียนมากถึงปีละกว่าหมื่นล้านบาท แต่กลับสวนทางกับจำนวนแพทย์เฉพาะทางที่จบมาเพียงปีละ 10-15 คน ซึ่งจะใช้เวลาการศึกษาทดลองไม่น้อยกว่า 5 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง